ชาญชัย พานทองวิริยะกุล พา “ม.ขอนแก่น” ฝ่าวิกฤตดิสรัปต์

วิกฤตจาก disruption ได้ลุกลามไปสู่แวดวงอื่น ๆ ไม่เว้นแม้แต่สถาบันอุดมศึกษา ที่วันนี้หลายสถาบันต่างยอมรับว่า “ต้องตั้งรับ ปรับตัว” ยิ่งไปกว่านั้นคือ ดิสรัปต์ไม่ได้เป็นเพียงปัจจัยเดียวที่เข้ามากระทบต่อสถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ แต่ยังมีทั้งอัตราการเกิดของประชากรที่ลดลง ประเทศกำลังเข้าสู่ยุคผู้สูงวัย และไลฟ์สไตล์ของนักเรียนในยุคที่ใบปริญญาไม่สำคัญ งานประจำก็ไม่ท้าทาย

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล” คณบดีคณะแพทยศาสตร์ รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กับกลยุทธ์ในการฝ่าวิกฤต-เสริมแกร่งให้องค์กรมั่นคง ภายหลังจากที่ทราบว่าให้นั่งบริหารในฐานะอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่นแล้วนั้น

“รศ.นพ.ชาญชัย” ระบุว่า “คน” คือทรัพยากรที่ให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก จึงได้เริ่มปรับโครงสร้างองค์กรให้ครอบคลุมสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้น จากเดิมที่มีตำแหน่งระดับรองอธิการบดีรวม 10 ฝ่าย เมื่อ มข.ปักธงว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล จึงเพิ่มตำแหน่งคือ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนามหาวิทยาลัยดิจิทัล และรองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ

นอกจากนี้เมื่อได้วิเคราะห์ถึงสถานการณ์ของธุรกิจการศึกษาในขณะนี้พบว่า มข.กำลังอยู่ท่ามกลางวิกฤต 4 ปัจจัย ที่ประกอบด้วย

1) เทคโนโลยีทางการศึกษา ที่ทำให้การศึกษาไร้ขอบเขต จากเดิมที่มหาวิทยาลัยเป็นแหล่งศึกษาหาความรู้เป็นหลัก แต่เพราะเทคโนโลยีทำให้หน้าต่างการเรียนรู้มีมากขึ้นคือ อินเทอร์เน็ต ยูทูบ กูเกิล รวมถึงมหาวิทยาลัยดิจิทัลแบบ 100% แม้แต่มหาวิทยาลัยหลักในต่างประเทศอย่างสแตนฟอร์ด สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ หรือ MIT (Massachusetts Institute of Technology) และมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้เปิดหลักสูตรเรียนผ่านออนไลน์ ซึ่งนักเรียนไทยให้ความสนใจมากเพราะไม่ต้องเดินทางไปเรียนถึงสหรัฐอเมริกา

2) การศึกษาไทยอยู่ในช่วง “over supply” เพราะผ่านยุค baby boom ที่อัตราการเกิดสูงมากที่ 2 ล้านคน/ปี ขณะนี้ปัจจุบันอัตราการเกิดอยู่ที่เพียง 800,000 คน/ปีเท่านั้น ถือว่าลดลงไปกว่าครึ่งก็ว่าได้ ทำให้ที่นั่งเรียนที่ลงทุนเผื่อไว้เกินความต้องการถึง 30,000-40,000 ที่

3) ผู้ประกอบการต้องการให้สถานศึกษาผลิตคนให้พร้อมใช้งาน และมีความรู้ความสามารถในการใช้เทคโนโลยี

และ 4) ผู้ประกอบการต้องการเด็กที่สามารถร่วมมือกับองค์กรในการผลิตนวัตกรรม มีความคิดสร้างสรรค์ สามารถวิเคราะห์และสังเคราะห์ความรู้ได้

รศ.นพ.ชาญชัย ยังบอกอีกว่า จากปัจจัยข้างต้น ทำให้ มข.ต้องปรับตัวในหลายประเด็น และในขณะนี้อยู่ระหว่างประเมินภาพรวมของแต่ละคณะวิชาว่าเป็นอย่างไร ต้องเพิ่มหลักสูตรหรือปิดสูตรที่ไม่มีผู้เรียนหรือไม่ หรือต้องพัฒนาวิชาใดให้ทันสมัยมากขึ้น แต่ในเบื้องต้นได้กำหนดเป้าหมายของการปรับองค์กรภายใต้คอนเซ็ปต์ KKU Tranformation เพื่อปรับเปลี่ยนเรื่องการศึกษา การวิจัย และการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น จากเดิมที่การสรรหาบุคลากรจะใช้ผู้ที่เรียนจบปริญญาเอกเท่านั้น แต่ขณะนี้มองความเป็นไปได้ว่า อาจจะต้องสรรหาจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่มีอายุ 40-50 เข้ามาสอนก็ได้ ตำแหน่งงานของมหาวิทยาลัยจะมีความหลากหลายมากขึ้น

“มข.เป็นองค์กรใหญ่ที่มีบุคลากรรวม10,000 คน ส่วนนักศึกษารวม 40,000 คนเสมือนเป็นเรือขนาดใหญ่ที่เมื่อปรับปรุงองค์กรต้องใช้เวลา สิ่งที่ผมพูดทุกวันนี้ตั้งแต่รับตำแหน่งคือ ทุกคนต้องออกจาก comfort zone จะทำงานแบบเดิมไม่ได้อีกต่อไป พร้อมทั้งร่วมกันกำหนดยุทธศาสตร์ของเราให้ชัดเจน แต่ที่น่าดีใจเพราะขณะนี้หลายคณะวิชาค่อนข้างตื่นตัว อย่างเช่น คณะเศรษฐศาสตร์ที่ทำหลักสูตรนานาชาติแล้ว และคาดว่าคณะอื่น ๆ จะพัฒนาตามด้วยเช่นกัน”

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าเทคโนโลยีจะเปลี่ยนไปอย่างไร แต่สิ่งที่ รศ.นพ.ชาญชัย เชื่อมั่นคือ ศักยภาพของเด็กไทยมีความรู้ไม่ด้อยกว่าเด็กที่เรียนจบจากต่างประเทศ และประเด็นสำคัญที่ต้องให้น้ำหนักคือ โจทย์ที่ว่าจะทำอย่างไรให้การเรียนตลอด 4 ปีของนักศึกษา ต้องมาจากการเรียนที่อิงสมรรถนะมาเป็นตัวตั้ง ในขณะที่ขั้นตอนการวัดผลการเรียนก็ไม่ควรใช้วิธีเดียวคือการสอบเท่านั้น นอกจากนี้มหาวิทยาลัยจะต้องให้นักศึกษาได้มีประสบการณ์จากการออกไปสัมผัสกับผู้ประกอบการที่นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการผลิตเพื่อสร้างแรงบันดาลใจด้วย

ในฐานะที่เป็นมหาวิทยาลัยใหญ่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้น เมื่อถามถึงบทบาทของ มข.ในการร่วมพัฒนาพื้นที่อย่างไรบ้าง รศ.นพ.ชาญชัยอธิบายว่าในพื้นที่ภาคอีสานโดยเฉพาะจังหวัดขอนแก่น ถือเป็นพื้นที่สำคัญในการปลูกอ้อย และมันสำปะหลัง ที่ในอนาคตจะมีการพัฒนาโปรดักต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น นำกากน้ำตาลมาผลิตเป็นเอทานอลและผลิตเม็ดพลาสติกไบโออีกด้วย และ มข.ก็เข้ามาช่วยในแง่ของการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกัน

รศ.นพ.ชาญชัย ระบุว่า นักวิจัยของมหาวิทยาลัยขอนแก่นมีคุณภาพและเป็นที่สนใจจากผู้ประกอบการ โดยเฉพาะนักวิจัยด้านระบบโลจิสติกส์ ที่มีการติดต่อขอซื้อตัวไปร่วมงาน ดังนั้นในเมื่อการวิจัยถือเป็นจุดแข็งของมหาวิทยาลัย จึงได้ร่วมหารือกับบริษัทในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นเพื่อร่วมกันพัฒนาให้เป็นธุรกิจของ มข.ในอนาคตอีกด้วยและสุดท้าย เมื่อเร็ว ๆ นี้ ไทม์ ไฮเออร์ เอ็ดดูเคชั่น ได้จัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกประจำปี 2019 โดยในปีนี้ได้เพิ่มการจัดอันดับในแขนง ที่เรียกว่า “social impact” หรือมหาวิทยาลัยที่มีโครงการช่วยลดผลกระทบต่อสังคม ซึ่งมาจากเรื่องความยั่งยืนของสหประชาชาติในเรื่องความยั่งยืนหรือ sustainability ที่มีรวม 17 หัวข้อ

หัวข้อบังคับลำดับที่ 17 หรือในเรื่องของ partnership ในแต่ละมหาวิทยาลัยจะต้องมีความร่วมมือกับองค์กรต่าง ๆ ในการให้บริการวิชาการสังคมและ มข.เลือกที่จะดำเนินการใน 3 หัวข้อคือ การศึกษาสุขภาพและความตระหนักรู้ (healthcare & awareness) ความเหลื่อมล้ำทางด้านคุณภาพ

แม้จะมีมหาวิทยาลัยทั้งในไทยและจากทั่วโลกสมัครเข้าร่วมจัดอันดับเป็นจำนวนมากนั้นแต่ผลปรากฏว่ามข.อยู่ในอันดับ 1 ของประเทศไทยในขณะที่เมื่อเทียบกับกว่า 1,000 สถาบันการศึกษาที่เข้าร่วมเพื่อจัดอันดับจากทั่วโลก มข.อยู่ในอันดับที่ไม่เกิน 200 ด้วย ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันได้ว่าสิ่งที่ มข.ดำเนินการมาตลอดนั้น นอกจากจะทำหน้าที่สร้างคนคุณภาพแล้วยังเกิดประโยชน์ต่อสังคมอย่างแท้จริง