มหา’ลัยแห่เปิด”เรียนออนไลน์” เก็บหน่วยกิตล่วงหน้าดึงต่อโท

มหา’ลัยเปิดศึกชิงเด็กเข้าเรียน งัดกลยุทธ์สะดวกเรียนด้วยโมเดล “เรียนออนไลน์” รองรับไลฟ์สไตล์นักศึกษา มศว.-มช. ชูเรียนเก็บหน่วยกิตล่วงหน้า เพื่อร่นเวลาเรียนต่อ ป.โทให้เหลือแค่ 1 ปี มธบ. ขอเวลา 3 เดือนศึกษาเชิงลึกคุ้มค่าหรือไม่ จุฬาฯชี้ออนไลน์เป็นได้แค่เรียนเสริม ให้น้ำหนักเรียนในคลาสมากกว่า

นายยุคลวัชร์ ภักดีจักริวุฒิ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยครีนครินทรวิโรฒ (มศว.) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การแข่งขันในธุรกิจการศึกษาที่รุนแรง ส่งผลให้ มศว.ต้องปรับหลักสูตรและเพิ่มเครื่องมือใหม่ ๆ ที่เพิ่มความสะดวกสบายในการเรียนด้วย และขณะนี้ มศว.ได้นำรูปแบบเรียนผ่านออนไลน์เข้ามาผสมกับการเรียนในชั้นเรียนปกติ เน้นตอบสนองความต้องการของนักศึกษาเป็นหลัก และจูงใจให้เลือกเรียนที่ มศว.อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ระดับปริญญาตรีจนถึงปริญญาเอก

โดยที่เริ่มดำเนินการไปแล้ว คือ 1) นักศึกษาที่กำลังเรียนระดับปริญญาตรี และต้องการเรียนปริญญาโทต่อเนื่อง สามารถเรียนเก็บหน่วยกิตของหลักสูตร ป.โท โดยเรียนผ่านระบบออนไลน์ควบคู่ไปกับการเรียนปริญญาตรีได้ ซึ่งสาขาหรือรายวิชาที่จะเปิดในรูปแบบออนไลน์จะเน้นเฉพาะเนื้อหาเบื้องต้นที่ไม่ซับซ้อน ให้นักศึกษาทำความเข้าใจเองได้ นอกจากนี้ ยังช่วยร่นระยะเวลาในการเรียนเหลือเพียง 1 ปี และ 2) นักเรียนในระดับปริญญาโท ที่ทำงานไปพร้อมกับการเรียน เพื่อลดเวลาการเดินทางและค่าใช้จ่ายให้กับนักศึกษาอีกด้วย

ทั้งนี้ การแข่งขันสูงในแวดวงการศึกษาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ เนื่องจากอัตราการเกิดใหม่ของประชากรลดลง ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งพฤติกรรมและทัศนคติของนักศึกษาในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป คือ ที่ต้องการเรียนรู้โดยใช้เวลาไม่มาก และนำไปปรับใช้กับการประกอบวิชาชีพหรือการเป็นเจ้าของกิจการได้ทันที รวมถึงปัจจุบันเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วได้เพิ่มช่องทางการเข้าถึงความรู้ได้หลากหลายมากขึ้น เช่น ในยูทูบ หรือแม้กระทั่งการค้นคว้าในกูเกิล (Google)

สอดคล้องกับ “รศ.อุษณีย์ คำประกอบ” รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ระบุว่า ขณะนี้ได้นำรูปแบบการเรียนผ่านออนไลน์มาใช้กับหลักสูตรพยาบาลในระดับปริญญาโทอย่างจริงจังเป็นหลักสูตรแรก เนื่องจากก่อนหน้านี้มีนักศึกษาสอบถามเป็นจำนวนมาก ด้วยข้อจำกัดในการเดินทางเข้าเรียนของนักศึกษา จึงตัดสินใจนำรูปแบบออนไลน์มาใช้ในบางวิชาที่เป็นการปูพื้นฐานให้สามารถเรียนผ่านออนไลน์ที่ยังคงคุณภาพของเนื้อหาที่เข้มข้นและเข้าใจง่ายไว้ นอกจากนี้ มช.อยู่ในระหว่างจัดทำ “ธนาคารหน่วยกิต” เพื่อให้สามารถได้เรียนเก็บหน่วยกิตไว้ล่วงหน้าสำหรับการเรียนต่อเนื่องในอนาคต

ทั้งนี้ การเรียนในรูปแบบออนไลน์นั้น มช.ได้นำต้นแบบจาก Massive Open Online Course หรือ Mooc หรือการเรียนผ่านออนไลน์แบบ 100% ที่พัฒนามหาวิทยาลัยระดับโลกอย่างมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด, ฮาร์วาร์ด และสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ หรือ MIT โดยนำมาสร้างจุดแข็งเพื่อให้การบริการทางวิชาการ โดยเน้นไปที่เนื้อหาวัฒนธรรมและประเพณีของล้านนา เป็นต้น ซึ่งได้ผลตอบรับที่ค่อนข้างดี ในอนาคตอาจจะขยายไปสู่หลักสูตรอื่น ๆ เพิ่มเติมด้วย

ขณะที่ ดร.พัทธนันท์ เพชรเชิดชู รองอธิการบดีสายงานภาคีสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) กล่าวว่า มธบ.อยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมของการเรียนด้วยรูปแบบออนไลน์มาใช้ในการเรียน-การสอนแล้วจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ที่สำคัญต้องศึกษาตลาดและกลุ่มผู้บริโภคหรือนักศึกษาต้องการอะไร เพราะก่อนหน้านี้ มธบ.ศึกษาในเบื้องต้นแล้วพบว่าค่อนข้างยาก เนื่องจากพฤติกรรมการเรียนของนักศึกษาไทยอ่านหนังสือน้อย รวมถึงจากสถิติที่ผ่านมาพบว่า ในจำนวนวิชาที่ใช้การเรียนด้วยออนไลน์ 100 วิชา จะประสบความสำเร็จเพียงแค่ 10 วิชาเท่านั้น

“มีแค่ 10% เท่านั้นที่การเรียนผ่านออนไลน์ได้ผลดี ยิ่งเมื่อมีการเก็บสถิติแล้วพบว่าเรียนผ่านออนไลน์นักเรียนให้ความสนใจแค่ 7 นาทีเท่านั้น จากพฤติกรรมเหล่านี้หากเราใช้รูปแบบการเรียนผ่านออนไลน์ 100% ในหลักสูตรใดก็ตาม ลงทุนปริมาณ 2-3 แสนบาทต่อหลักสูตร หากเรียกเก็บค่าเรียนที่ 199 บาท แต่เรียนไม่ถึง 100 คนก็ไม่คุ้ม อย่าลืมว่าพฤติกรรมของเด็กไทยอ่านหนังสือน้อยมาก”

ส่วน ผศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า จุฬาฯจะมีทั้งการเรียนในห้องเรียนและเสริมด้วยออนไลน์ในบางรายวิชาเท่านั้น ยังคงให้ความสำคัญกับการเรียนในห้องเรียนมากกว่า เพราะต้องการสร้างความเก่งรอบด้านให้กับนักศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสอนให้แก้ปัญหาและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอีก 5-10 ปีข้างหน้านี้

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!