“สกว.” ส่งไม้ต่อให้ “สกสว.” มุ่งยกระดับคน-งานวิจัย

เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เปิดเวทีระดมสมองสำนักประสานงานพื่อเปลี่ยนผ่านสู่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) มุ่งถอดบทเรียนจากต้นทุนประสบการณ์ตลอด 27 ปีของ สกว.ให้เกิดการทำงานที่มีประสิทธิภาพ ตอบโจทย์ของประเทศ พร้อมยกระดับการสร้างคน-งานวิจัยและนวัตกรรมทั้งระบบ

“ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ” ผู้อำนวยการ สกว. กล่าวว่า ภารกิจใหม่ของ สกสว.ประกอบไปด้วยการจัดทำนโยบาย ยุทธศาสตร์และแผนด้านวิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ รวมไปจนถึงการจัดสรรเงินทุน และเป็นกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำหรับบทบาทของภาคีเครือข่ายกับภารกิจใหม่ภายใต้ความรับผิดชอบของ สกสว. จะมีงานใหญ่ที่จะต้องดำเนินการ คือ การพัฒนากลไกระบบอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ในแต่ละภาคีให้มีความสอดคล้องกัน และข้อเสนอแนะอื่น ๆ

“ขณะที่งานใหม่ของ สกสว. และสำนักประสานงาน จะต้องรับผิดชอบในส่วนของการให้ข้อเสนอต่อหน่วยงานใช้จุดแข็งที่มีขยายผลและการแก้ไขจุดอ่อนขององค์กรอย่างไร รวมทั้งระบบ กลไกการทำงานในอนาคตที่เอื้อต่อความคล่องตัว และส่วนงานเก่าจะปิดโครงการเดิมให้มีประสิทธิภาพพร้อมกับเชื่อมต่อการทำงานกับกลไกระบบใหม่ ซึ่งรายละเอียดทั้งหมดจะถูกถอดออกมาเป็นบทเรียนเพื่อส่งมอบให้องค์กรใหม่ต่อไป”

“ศ.นพ.สุทธิพันธ์” กล่าวเพิ่มเติมว่า ถึงบทบาทใหม่ว่า หลัก ๆ คือ การสนับสนุน ส่งเสริม ขับเคลื่อนระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นการดูแลเชิงระบบ โดยจัดสรรงบประมาณจากกองทุนไปสู่หน่วยงานวิจัย รวมถึงยกร่างยุทธศาสตร์ ซึ่งจะเป็นการปฏิรูประบบครั้งสำคัญผ่านประสบการณ์การบริหารจัดการทุนวิจัยของ สกว. และออกแบบการทำแผนเพื่อให้เกิดผลกระทบในระบบของประเทศ เพื่อให้สามารถก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลางในอนาคต สิ่งที่เราอยากทำในขณะนี้ คือ การบริหารงบฯวิจัยโดยจัดสรรงบประมาณไปที่มหาวิทยาลัยโดยตรง ซึ่งจะเป็นการทำงานร่วมกับหน่วยวิจัยให้เกิดผลผลิต ผลลัพธ์ และผลกระทบ รวมถึงการริเริ่มโครงการขนาดใหญ่

“จึงหวังว่าจากนี้ไปทุกฝ่ายจะร่วมกันทำงานอย่างเต็มที่ ใกล้ชิดเสมือนเป็นเพื่อนกัน ทั้งนี้ การรับงบประมาณตรงจากสำนักงบประมาณในปี 2564 ทั้งหมดจะจัดสรรมาที่กองทุนเพื่อส่งต่อไปที่มหาวิทยาลัยทุกแห่ง ซึ่งจะเป็นการลดขั้นตอนและระยะเวลาต่อไป”

และสำหรับการระดมสมองจากผู้ประสานงานและภาคีเครือข่าย สกว. สรุปบทเรียนได้ว่า จะต้องบูรณาการร่วมกับหน่วยงานและบุคลากร มีตัวเชื่อมโยงที่สอดรับกับเป้าหมายเพื่อให้ตอบโจทย์และเกิดผลกระทบที่แท้จริง โดยเฉพาะการทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นหน่วยงานให้ทุนแก่นักวิจัย โดยผู้ประสานงานส่วนใหญ่มีความวิตกกังวลในช่วงเปลี่ยนผ่านว่าจะมีกลไก กระบวนการทำงาน และเชื่อมโยงอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ ทั้งงานที่ยังทำอยู่ และงานในอนาคต

นอกจากนี้ยังต้องมีการสื่อสารสังคมถึงการเปลี่ยนแปลง การเตรียมความพร้อมในการรับมือกับผู้ใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและผู้เกี่ยวข้อง รวมถึงข้อกังวลเกี่ยวกับระบบสนับสนุนแก่มหาวิทยาลัยที่เป็นประเด็นสำคัญ โดยเฉพาะการถอดบทเรียนเพื่อยกระดับการสร้างคน สร้างงานวิจัยและนวัตกรรมทั้งระบบ