ม.เอกชนทุ่มโปรฯกวาดนักศึกษา หั่นค่าเทอม-ตั้งบริษัทปล่อยกู้

ม.เอกชนเปิดศึกชิงนักศึกษา รอเก็บตกหลัง TCAS รอบสุดท้าย โปรโมชั่นส่วนลดกว่า 50% เหมาจ่ายทั้งเทอมลดเพิ่มให้อีกม.เวสเทิร์นไอเดียเก๋ ตั้งบริษัทให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา แถมแพคเกจหอพัก ม.เกษมบัณฑิตจับมือซีพี ออลล์ ให้ทุนเรียนฟรี จบมีงานทำ นักวิชาการหวั่นแข่งราคาคุณภาพลด ชี้อนาคตจำนวนมหางลัยจะลดลง

แหล่งข่าวจากแวดวงการศึกษาเปิดเผย”ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้มหาวิทยาลัยเอกชนรายกลางและรายเล็ก กำลังเผชิญปัญหา 3 เรื่องหลัก จากอัตราการเกิดของประชากรที่ลดลงจาก 1 ล้านคน/ปี มาอยู่ที่ 700,000 คนต่อปี ส่งผลให้จำนวนนักศึกษาในระบบลดลงต่อเนื่อง บวกกับนโยบายรัฐบาลที่ให้มหาวิทยาลัยออกนอกระบบ เกิดการแข่งขันในตลาดการศึกษาสูงขึ้นตามมา

สุดท้ายคือผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว โดยเฉพาะจำนวนนักศึกษาใหม่ที่ “ลดลง” อย่างมีนัยสำคัญ เป็นตัวเร่งให้สงครามแย่งชิงนักศึกษารุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ในรูปของการลดค่าใช้จ่าย ค่าเทอม ค่าที่พัก รวมแล้วไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ของรายจ่ายปกติ ที่นักศึกษาแต่ละคนต้องจ่าย สวนทางกับรายได้และกำไรของมหาวิทยาลัยที่ลดลง

หลายมหาวิทยาลัยจึงกำหนดกลยุทธ์ดึงนักศึกษาด้วยหลากหลายวิธี อย่างการปรับลดค่าเทอมลงร้อยละ 50 ที่เคยเกิดขึ้นช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เช่น มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร ฯลฯ ซึ่งบางรายก็ประสบความสำเร็จ มีนักศึกษามาสมัครเรียนมากขึ้น แต่ยังไม่พ้น “วิกฤต” ในปีการศึกษา 2562 ที่มหาวิทยาลัยจะเริ่มเปิดการเรียนการสอนเร็ว ๆ นี้

การแข่งขันยิ่งทวีความรุนแรง เพื่อเก็บตกจำนวนนักศึกษาที่หลงเหลือจากการสอบ TCAS ด้วยการจัดโปรโมชั่นจูงใจให้เด็กเข้ามาเรียน

บางมหาวิทยาลัยลดค่าใช้จ่ายให้กับนักศึกษามากกว่า 40,000 บาท ตลอดหลักสูตร 4 ปี และไม่เพียงแค่มหาวิทยาลัยเอกชนเท่านั้นที่เผชิญปัญหาเหล่านี้ ยังมีสถาบันอุดมศึกษาในส่วนของมหาวิทยาลัยราชภัฏ และสถาบันเทคโนโลยีราชมงคลรวม 200 กว่าแห่ง ที่ตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน

มหาวิทยาลัยรัฐแข่งขันอุตลุด

การเปิดทางให้มหาวิทยาลัยออกนอกระบบ สร้างแรงกระเพื่อมให้กับวงการศึกษาอย่างมาก ในขณะที่มหาวิทยาลัยของรัฐไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากภาครัฐให้การสนับสนุน (subsidy) ทำให้เกิดคำถามในแวดวงการศึกษาว่า ในเมื่อมหาวิทยาลัยรัฐที่ออกนอกระบบแล้ว ก็ควรให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม แต่ถ้ามีนโยบายสนับสนุนก็ควรให้ครอบคลุมมหาวิทยาลัยเอกชนด้วย

“สุดท้ายมหา’ลัยที่จะอยู่ได้ภายใต้ภาวะแบบนี้ก็คือ มหาวิทยาลัยของภาครัฐ เพราะเอกชนรายเล็กจะถูกบีบโดยระบบ คนในแวดวงนี้เขามองเกมได้ทะลุ แต่ที่กังวลคือ ภาครัฐมองขาดหรือไม่ ตอนนี้มหาวิทยาลัยเอกชนค่อนข้างลำบาก ต้องจับตาดูในช่วง 5-6 ปีจากนี้ อาจมีความเป็นไปได้ที่ภาครัฐจะกลับมาใช้รูปแบบเดิมคือ สอบแค่ครั้งเดียวแล้วจบ”

“ส่วนมหาวิทยาลัยราชภัฏก็ทำหน้าที่ผลิตครู วิทยาลัยอาชีวะก็เน้นสร้างทักษะวิชาชีพเพื่อป้อนตลาด ต้องแยกบทบาทกันให้ชัดเจน ที่เป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ก็เพราะทุกคนต่างก็มีสาขาวิชาที่เหมือนกัน แข่งกันอุตลุด”

ลดค่าเทอม/หอพักฟรี/กู้เงินเรียน

ผู้สื่อข่าวประชาชาติธุรกิจสำรวจโปรโมชั่นของมหาวิทยาลัยเอกชนพบว่ามีการจัดโปรโมชั่นตามจุดแข็งของมหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง และหันมาร่วมมือกับภาคเอกชน เช่น มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี เสริมบริการหอพักให้อยู่ฟรี ตลอดหลักสูตร 4 ปี (จำนวนจำกัด มาก่อนได้ก่อน)

นอกจากนี้ ยังมีหอพักให้เช่าเป็นรายเดือนในราคาถูก ในส่วนของการจ่ายค่าเทอมกำหนดให้ผ่อนชำระได้เดือนละ 1 ครั้ง อีกทั้งนักศึกษาสามารถแบ่งชำระให้ครบถ้วนก่อนสอบปลายภาคในเดือนนั้น ๆ ได้อีก พร้อมทั้งจัดทีมให้บริการนักศึกษาที่ต้องการกู้ยืมเงิน กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)

ด้านมหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต ที่ปัจจุบันมีนักศึกษารวมอยู่ที่ 9,000 กว่าคน จัด “โปรโมชั่นดับร้อน” โดยร่วมมือกับ บมจ.ซีพี ออลล์ จัดโครงการ CP ALLคณะบริหารธุรกิจ นักเรียนที่สมัครภายใต้โครงการนี้ ใน 3 คณะวิชา คือ คณะการตลาด คณะการจัดการ และคณะนวัตกรรมธุรกิจการค้าภายใน ชำระแค่ค่าเทอมที่ 2,000 เท่านั้น ก็สามารถเข้าเรียนได้

สำหรับนักศึกษาปริญญาตรี 4 ปี จะได้รับทุนจากซีพี ออลล์ ร้อยละ 70 ของค่าใช้จ่ายตลอดหลักสูตร ส่วนที่เหลือคือทุนการศึกษาเพิ่มจากมหาวิทยาลัยเองที่ 70,000 บาท รวมทั้งสิ้น 290,000 บาทที่นักศึกษาไม่ต้องจ่าย รวมถึงมีส่วนพิเศษเพิ่มอีก คือ มีเบี้ยเลี้ยงและสวัสดิการระหว่างเรียน ในกรณีที่ฝึกงานกับซีพี ออลล์ จะได้เบี้ยเลี้ยงฝึกงานขั้นต่ำ 300 บาทและมีที่พักให้ฟรี ส่วนบางรายที่ไม่พักในสถานที่จัดให้ จะมีการพิจารณาให้เป็นรายบุคคลไป

มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น นอกจากให้ทุนการศึกษาสำหรับนักศึกษาแรกเข้าแล้ว ยังจัดตั้งบริษัทในเครือของมหาวิทยาลัย เพื่อสนับสนุนสินเชื่อเพื่อการศึกษาตลอดหลักสูตร ในสาขาวิชา เช่น วิทยาศาสตร์สุขภาพ ในคณะทันตแพทยศาสตร์, พยาบาล, เภสัช, เทคนิคการแพทย์, สาธารณสุข, สัตวแพทย์ ฯลฯ ผ่านบริษัท เวิลด์ บริการเงินกู้เพื่อการศึกษา จำกัด อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 12 ต่อปี ซึ่งสามารถกู้ยืมได้เต็มวงเงินของอัตราค่าเทอม หรือไม่เต็มจำนวนก็ได้ โดยให้เริ่มชำระเงินกู้ภายหลังจากเรียนจบ

ม.เอกชนทุ่มโปรฯกวาดนักศึกษา หั่นค่าเทอม-ตั้งบริษัทปล่อยกู้

ด้าน รศ.ดร.พิภพ อุดร คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ในภาพรวมของธุรกิจการศึกษาการแข่งขันสูงมาก เนื่องจากนักศึกษาในระบบมีทางเลือกมากขึ้น ที่สำคัญคือการเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยอาจจะไม่ใช่ทางเลือกเดียวแล้ว รวมถึงการพัฒนาของเทคโนโลยี ทำให้นักศึกษาสามารถเข้าถึงความรู้ได้มากกว่าในชั้นเรียน เช่น การเรียนผ่านรูปแบบออนไลน์ หรือแม้แต่ในระบบอินเทอร์เน็ตก็สามารถค้นคว้าความรู้ได้

จากสถานการณ์ดังกล่าว คาดว่าในอนาคตจะเกิด 2 ปรากฏการณ์ที่น่าจับตามอง คือ

1) มหาวิทยาลัยจะลดจำนวนลง เริ่มมีการปิดตัวของศูนย์ หรือวิทยาเขตลง

2) อาจจะมีการ “ควบรวม” เกิดขึ้นได้ (ในส่วนของมหาวิทยาลัยของรัฐ)

ทั้งนี้ ปัญหาดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในแวดวงการศึกษาของไทยเท่านั้น ในต่างประเทศก็เกิดขึ้นเช่นกัน สิ่งที่ต้องจับตา คือ มาตรฐานการศึกษาภายใต้การแข่งขันกันด้วยราคาจะเป็นอย่างไร เพราะหากคุณภาพการเรียนการสอนลดลงถือเป็นเรื่องน่าห่วง

“ทุกคนทำหลักสูตรเหมือนกัน มันซ้ำซ้อน ที่สำคัญ ราคาค่าเทอมไม่ใช่ตัวแปรเดียวที่ใช้ตัดสินใจเข้าเรียน เพราะยังมีค่านิยมที่ว่า การเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยดังน่าจะคุ้มค่ากว่า และมหาวิทยาลัยดัง ๆ ของไทยส่วนใหญ่ก็เป็นของรัฐ ที่สำคัญ ค่าเรียนไม่แพง ทุกมหาวิทยาลัยมีทุน และได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ เพราะการศึกษาเป็นเรื่องที่ภาครัฐต้อง provide ให้กับสาธารณะ”

มีรายงานข่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ระบุว่า การรับสมัครคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา หรือ TCAS รอบ 4 ปีการศึกษา 2562 มีสถาบันที่เข้าร่วม 71 แห่ง จำนวนที่นั่งเปิดรับ 91,340 คน พบว่า สถาบันขอรับนักศึกษาเพิ่มขึ้นเป็น 122,523 ที่นั่ง โดยมีผู้สมัครและชำระเงิน รวม 76,408 คนในจำนวนนี้มีผู้ผ่านการคัดเลือกรอบ 3 และยืนยันสิทธิแล้ว จึงต้องตัดรายชื่อบางส่วนออกรวมแล้วผู้มีสิทธิเข้าประมวลผลรอบ 4 จำนวน 69,440 คน และผ่านการคัดเลือกและเข้าสอบสัมภาษณ์ได้ 52,315 คน ไม่ผ่านการคัดเลือกรวม 17,000 คน ซึ่งผู้สมัครเหล่านี้สามารถสมัครใหม่ใน TCAS รอบ 5 การรับตรงอิสระ ที่ยังมีที่นั่งเหลืออีกจำนวนมากได้

คลิกอ่านเพิ่มเติม… มาแล้ว! ธรรมศาสตร์+SkillLane เปิดตัว 3 หลักสูตร ป.โทออนไลน์ เริ่มเรียนได้ ส.ค.นี้