ติวเตอร์แบบ “เอ็นคอนเส็ปท์” เก่งเฉพาะทาง-มีแรงบันดาลใจ

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

ธุรกิจกวดวิชาที่ซบเซาเพราะจำนวนนักเรียนน้อยลง ทำให้การแข่งขันรุนแรงมากขึ้น การสร้างความแตกต่างและสร้างครูผู้สอนที่เก่งและดี จึงเป็นประเด็นที่โรงเรียนสอนภาษาอังกฤษเอ็นคอนเส็ปท์ ให้ความสำคัญมาเป็นอันดับต้น ๆ

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์ “นายธานินทร์ เอื้ออภิธร” กรรมการผู้จัดการเลิร์นบาลานซ์ กรุ๊ป และผู้บริหารโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษเอ็นคอนเส็ปท์ ถึงทิศทางและกลยุทธ์ทางธุรกิจกวดวิชาของเอ็นคอนเส็ปท์ในปี 2562 นี้

“ธานินทร์” บอกว่า ในปีนี้เอ็นคอนเส็ปท์จะให้ความสำคัญใน 2 เรื่อง คือ 1) การสร้างสตาร์ติวเตอร์ และ 2) การจัดอีเวนต์สัญจรไปยังสาขาต่าง ๆ ของเอ็นคอนเส็ปท์ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ซึ่งทั้ง 2 เรื่องคือการปรับตัวเพื่อนำไปสู่การ “สอนสด” และขยายสาขาให้มากขึ้น สำหรับการสร้างติวเตอร์นั้นขณะนี้อยู่ในระหว่างเซตติวเตอร์หรืออาจารย์ผู้สอนกลุ่มใหม่ที่จะเรียกว่า “โค้ช” ซึ่งติวเตอร์กลุ่มนี้จะเน้นการสอนแบบตัวต่อตัว

รวมถึงการสอนแบบกลุ่มเฉพาะ ตามมาด้วยกลุ่มติวเตอร์ภาษาอังกฤษที่มีความเฉพาะทางมากขึ้น และต้องมีความสามารถด้านดนตรี เนื่องจากการเรียนการสอนภาษาอังกฤษจะใช้ดนตรีเข้ามาผสมผสาน หรือที่เรียกว่า artrainer และกลุ่มสายแข็งขัน ที่จะนำติวเตอร์อย่าง “หมอเต้” จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีความสามารถด้านภาษาอังกฤษ และยังเป็นลูกศิษย์ของครูแนน และกลุ่มสอบเข้าคณะแพทย์

นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มติวเตอร์ภาคอินเตอร์ที่มีครูกิฟ ที่จบการศึกษามาจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และกลุ่มติวเตอร์สำหรับคนทำงานที่จะมีครูยูริเข้ามาสอนกลุ่มโทอิก และผู้ที่ต้องการเพิ่มทักษะการทำงาน (reskill) สำหรับขั้นตอนการหาติวเตอร์เข้ามาเสริมทีมในแต่ละกลุ่มนั้นมาจาก 2 แนวคิด คือ จากการ audition กลุ่มนี้จะเน้นที่ความสามารถเป็นหลัก ปกติกลุ่มที่เข้ามาออดิชั่นก็เป็นติวเตอร์ที่เพิ่งเริ่มทำงานใหม่ ๆ ต้องลองสอนดู หรืออาจจะมาเป็นโค้ชก่อน และเลือกจากชื่อเสียงของติวเตอร์ที่มีความสำเร็จแล้วระดับหนึ่ง

โดยติวเตอร์ส่วนใหญ่จะเรียนจบจากมหาวิทยาลัยระดับท็อปเป็นฐานไว้อยู่แล้ว และในวิชาเฉพาะทางก็จะหาติวเตอร์ที่เก่งและเรียนจบมาโดยตรงด้วย เช่น ติวเตอร์วิชาคณิตศาสตร์ จะต้องเคยไปแข่งระดับโอลิมปิกมาก่อน รวมถึงหากสอนฟิสิกส์ก็ต้องเรียนจบมาทางด้านฟิสิกส์โดยตรงจากทั้งมหาวิทยาลัยในและต่างประเทศ

ทั้งนี้ การจะดึงดูดติวเตอร์ที่มีความสามารถสูง ก็ต้องดึงดูดด้วยผลตอบแทนที่ดีแล้ว ยังต้องสรรหาติวเตอร์ที่มีแรงบันดาลใจที่จะสร้างระบบการศึกษาที่ดีให้กับนักเรียน และส่วนใหญ่ต้องการให้เป็นความร่วมมือแบบระยะยาว (long partner-ship) การเจรจาต้องเป็นแบบคู่ค้า (business partner) และเป็นสัญญาระยะยาว ที่สำคัญคือจะต้องทำงานเป็นทีมได้ เพื่อให้ส่วนอื่น ๆ เข้ามาสนับสนุนการทำงานของติวเตอร์ได้ นอกจากนี้ เอ็นคอนเส็ปท์จะคุยกับติวเตอร์ที่เข้ามาร่วมงานทุกคนว่าติวเตอร์แต่ละคนต้องการพัฒนาชีวิตของตัวเองอย่างไร

“โดยพื้นฐานแคแร็กเตอร์หรืออุปนิสัยเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าเราเลือกติวเตอร์ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องเงินอาจจะทำงานร่วมกันแบบระยะยาวได้ยาก เพราะเราต้องการติวเตอร์ที่มีเป้าหมายเพื่อช่วยพัฒนาการศึกษา เพราะคนที่จะเป็นสตาร์ติวเตอร์ในแบบของเอ็นคอนเส็ปท์ต้องมีแรงบันดาลใจด้านการศึกษา คนที่จะเป็นติวเตอร์สตาร์ต้องทำงานแบบเป็นทีมได้ แต่สตาร์ที่ไม่ได้ทำงานเป็นทีมส่วนใหญ่จะเป็นสตาร์ท้องถิ่น ซึ่งเราไม่ได้เน้น ซึ่งเราไม่ได้เลือกคนกลุ่มนี้เมื่อเห็นผลประโยชน์แล้วเปลี่ยนใจ เพราะทำงานใหญ่ระยะยาวไม่ได้ แต่เราหาติวเตอร์ระยะยาวและดัง ทั้งนี้ ติวเตอร์มีลักษณะเฉพาะคือ ถ้าใครที่ร่วงไปแล้วจะไม่กลับมาดังอีก แต่ยังมีสตาร์ติวเตอร์ที่ยังดังอยู่บนฟ้า 20 ปีก็มี เช่น อาจารย์อุ๊ อาจารย์แนน เป็นที่ยืนยันว่าสตาร์ที่ต้องการเงินเยอะในระยะสั้นมันก็ร่วง ต้องหาคนที่มองระยะยาว”

นายธานินทร์ กล่าวเพิ่มเติมถึงสภาพปัจจุบันของธุรกิจกวดวิชาในขณะนี้ว่า เหตุผลที่ต้องการสร้างสตาร์ติวเตอร์ในแบบของเอ็นคอนเส็ปท์นั้น เนื่องจาก “ตลาดเปลี่ยน” อย่างฉับพลัน จากเดิมเมื่อย้อนไปช่วง 10 ปีก่อนหน้านี้ ตลาดจะยึดติวเตอร์ดังแค่คนเดียว ในขณะที่ปัจจุบันสามารถโปรโมตได้หลายคนและมีความหลากหลายมากขึ้น รวมถึงนักเรียนก็หันมายึดสถาบันการศึกษามากกว่า รวมถึงวิธีการเรียนก็เปลี่ยนตามโลกสมัยใหม่ที่โซเชียลมีเดียได้รับความนิยมอย่างมาก ส่งผลให้ความสนใจของนักเรียนสั้นมากและไม่ยึดติด

สำหรับในช่วงครึ่งปีหลังนี้ “นายธานินทร์” ระบุว่า ตลาดการศึกษาเปลี่ยนเร็ว เหตุผลหลักมาจากการใช้ระบบ TCAS ที่ทำให้ระบบการศึกษามันเปลี่ยน ทำให้เอ็นคอนเส็ปท์ต้องสร้างรูปแบบการเรียนให้สอดคล้องกับความต้องการของนักเรียนที่วางแผนไว้ คือการเปิดกวดวิชาสำหรับการเรียนเพื่อให้ได้เกรดเฉลี่ย 4.00 ซึ่งก่อนหน้านี้นักเรียนไม่ได้ให้ความสำคัญกับเกรดเฉลี่ยมากนัก แต่เมื่อต้องนำเกรดมาเป็น portfolio แล้วนั้น ทำให้นักเรียนกลับมาสนใจมากขึ้น


ดังนั้นจากเดิมที่เอ็นคอนเส็ปท์เน้นการกวดวิชาเพื่อสอบแข่งขัน ต้องมาวางกลยุทธ์ของคอร์สเพื่อการทำเกรดมากขึ้น และการให้ติวเตอร์ไปสัญจรในแต่ละสาขาวิชา สตาร์ติวเตอร์ก็จะเข้าไปใกล้ชิดกับนักเรียนมากขึ้น รวมถึงจะเพิ่มการเรียนผ่านช่องทางอื่น ๆ อย่างเช่น การสอนสดที่มีการทำไลฟ์สด ซึ่งสามารถเรียนผ่านมือถือด้วยวิธีการสตรีมมิ่งที่จะมีค่าใช้จ่าย ค่า cloud เท่านั้น ลดค่าใช้จ่ายที่สาขาได้ด้วย ซึ่งปัจจุบันเอ็นคอนเส็ปท์ใช้ cloud อยู่ที่ 3,000 เทราไบต์ต่อปี ซึ่งถือว่าใหญ่ที่สุดในกลุ่มของสถาบันกวดวิชาอีกด้วย