4 การเงินที่นักศึกษาใหม่ควรรู้

มหาวิทยาลัยเป็นอะไรที่มากกว่าการได้รับปริญญา สำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัยใหม่ การเริ่มต้นการศึกษาในครั้งนี้เป็นช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้ทักษะชีวิตที่สำคัญๆ อย่างไรก็ตามนักศึกษาหลายคนมักมองข้ามทักษะชีวิตที่สำคัญอย่างหนึ่ง นั่นก็คือการจัดการกับการเงิน ในฐานะนักศึกษาวิทยาลัยคุณอาจคิดว่าการจัดการกับการเงินไม่สำคัญ เนื่องจากคุณยังมีงบประมาณน้อยมากในการจัดการ

แต่น่าเสียดายที่การละเลยทักษะด้านการเงินของคุณในช่วงมหาวิทยาลัย อาจมีผลกระทบในทางลบตลอดชีวิตการศึกษาของคุณ ดังนั้นแทนที่คุณจะละเลยการเงินในช่วงนี้ คุณควรทำตามวิธีในการใช้เงินที่เหมาะสมตามวิธีด้านล่างนี้จะดีกว่าค่ะ

1.เริ่มต้นการเรียกเก็บเงินของคุณโดยอัตโนมัติ

ขั้นแรกคุณต้องเปิดบัญชีธนาคารก่อน เมื่อคุณมีบัญชีธนาคารแล้ว คุณก็จะสามารถใช้บริการของธนาคารเพื่อตั้งค่าการชำระเงินอัตโนมัติ สำหรับค่าใช้จ่ายของคุณได้ เพราะการตั้งค่าการชำระเงินอัตโนมัติจะช่วยให้คุณสามารถให้ความสำคัญกับการศึกษาของคุณได้

แน่นอนข้อแม้คือคุณต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าบัญชีของคุณมีเงินเพียงพอ เพื่อให้ครอบคลุมกับค่าใช้จ่ายที่จะให้ธนาคารหักอัตโนมัติ วิธีหนึ่งที่เป็นวิธีที่ยอดเยี่ยมในการทำเช่นนี้ คือการตั้งค่าการแจ้งเตือนรายสัปดาห์เพื่อตรวจสอบการเงินของคุณ วิธีนี้จะช่วยให้คุณสร้างนิสัยในการติดตามสถานการณ์ทางการเงินของคุณ แม้ว่าคุณจะได้รับการดูแลจากธนาคารในการหักเงินโดยอัตโนมัติค่ะ

2.สร้างแผนการใช้จ่าย

การได้รับเงินจำนวนมหาศาลจากสำนักงานช่วยเหลือทางการเงินของมหาวิทยาลัย อาจเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นทีเดียว ไม่ว่าคุณจะได้รับเงินกู้ที่คุณจะต้องจ่ายคืน หรือได้รับเงินช่วยเหลือจากมหาวิทยาลัยฟรีๆ ต่างก็เป็นเรื่องที่ดึงดูดใจคุณไม่น้อยไปกว่ากัน แต่นั่นก็อาจจะเป็นวิธีที่จะทำให้คุณใช้เงินฟุ่มเฟือยก่อนจะจบภาคการศึกษาก็เป็นได้

ดังนั้นคุณควรใช้เวลาในการสร้างแผนการใช้จ่ายสำหรับเงินช่วยเหลือจากมหาวิทยาลัย และคุณควรกำหนดจำนวนเงินช่วยเหลือทางการเงินของคุณว่าจะเอาไปใช้จ่ายกับการศึกษาอะไรบ้าง เช่น ค่าเล่าเรียน ค่าตำรา ค่าห้องปฏิบัติการ และค่าครองชีพ

3.ติดตามเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาของคุณ

นักศึกษามหาวิทยาลัยหลายคนทำผิดพลาดกับเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เพราะนักศึกษาเหล่านั้นไม่ได้ติดตามว่าตัวเองกู้เงิน กยศ. ไปเท่าไรแล้ว ดังนั้นมันจึงง่ายมากที่พวกเขาจะเพิกเฉยต่อปัญหาทางการเงินจาก กยศ.

อย่างไรก็ตามการรู้ว่าคุณเป็นหนี้เร็วเท่าไรยิ่งดี เพราะมันจะทำให้คุณสามารถวางแผนทางการเงิน และยังเป็นผลดีต่อสุขภาพทางการเงินของคุณ และมันยังสามารถช่วยให้คุณมีแรงบันดาลใจในการศึกษาของคุณได้อีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น มันอาจจะช่วยให้คุณตื่นไปเรียนในห้องปฏิบัติการคาบ 08.00 น. ได้ง่ายขึ้น เพราะคุณตระหนักดีว่าคุณเสียเงินให้กับห้องปฏิบัติการนี้ไปเยอะแค่ไหน

4.สร้างกองทุนฉุกเฉิน

กองทุนฉุกเฉินสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเงินแบบไม่คาดคิดได้ การสร้างกองทุนฉุกเฉินอาจจะเป็นไปไม่ได้เมื่อคุณกำลังเป็นนักศึกษาอยู่ แต่อย่าลืมว่าเงินจำนวนเล็ก ๆ น้อย ๆ สามารถเพิ่มขึ้นจนกลายเป็นกองทุนขนาดใหญ่ได้ ทั้งนี้คุณอาจเริ่มต้นด้วยการออมเงินจาก 50 หรือ 100 บาทต่อวัน แม้ว่าเงินทุนของคุณจะเติบโตช้า แต่การออมอย่างต่อเนื่องจะช่วยให้คุณมั่นใจได้ว่าในอนาคตคุณจะมีเงินของคุณคอยช่วยเหลือคุณอย่างแน่นอน

การเป็นนักศึกษาคือการกำลังเริ่มต้นการใช้ชีวิตนะคะ ดังนั้นในวัยนี้นอกจากจะคร่ำเคร่งไปกับการเล่าเรียนแล้ว คุณยังต้องหัดเรียนรู้การใช้ชีวิตอีกด้วย โดยเฉพาะเรื่องเงิน ที่คุณจำต้องเรียนรู้เอง ซึ่งหากคุณเรียนรู้และวางแผนการใช้เงินตั้งแต่ตอนนี้ อนาคตคุณก็จะสดใสและไม่มีปัญหาเรื่องเงินมาให้หนักใจค่ะ

 

ข้อมูลจาก MoneyGuru