“มธ.” ผลิตนักวิทย์รุ่นใหม่ ใช้นวัตกรรมต่อยอดธุรกิจ

วิทยาศาสตร์มีประโยชน์ต่อมนุษย์ และมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ ดูได้จากสิ่งต่าง ๆ รอบตัวเราที่ล้วนเกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์แทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้า, หลอดไฟ, รถยนต์, คอมพิวเตอร์, เครื่องบิน, รถไฟ ฯลฯ ดังนั้น การพัฒนาคนรุ่นใหม่ให้มีความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่พร้อมนำไปประยุกต์ใช้ ยิ่งจะช่วยทำให้ประเทศพัฒนาเร็วขึ้น

ทั้งนี้ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) เล็งเห็นว่าการเรียนวิทยาศาสตร์นอกจากจะสอนให้นักศึกษาสามารถพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ หรือสามารถทำงานในห้องแล็บ หรือเป็นนักวิจัยแล้ว ยังต้องสอนให้นักศึกษาสามารถต่อยอดไปสู่การทำธุรกิจได้ด้วย ผลเช่นนี้ จึงทำให้ มธ.มุ่งเน้นการบ่มเพาะและผลิตนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ โดยไม่ปิดกั้นศักยภาพ ผ่านการเรียนการสอนแบบ SCI+BUSINESS

“รศ.ปกรณ์ เสริมสุข” รักษาการคณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. กล่าวว่า โลกของเราจะไม่สามารถพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว หากไม่มีต้นทางที่สามารถผลิตบุคลากรที่ตอบสนองความต้องการของโลกทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เราจึงตั้งใจตอบโจทย์ความต้องการดังกล่าวในการผลิตนักวิทย์รุ่นใหม่ที่มีความคิดนอกกรอบกล้าพัฒนานวัตกรรมที่แตกต่างสู่นวัตกรรมสุดล้ำหรือธุรกิจสตาร์ตอัพที่สามารถสร้างรายได้ในอนาคต

“ปัจจุบันเราเปิดการเรียนการสอนครบทั้งระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก รวม 43 หลักสูตร ใน 10 สาขาวิชา ล่าสุดเปิดสอนวิชา วท. 301 การประกอบการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Entrepreneurship in Science and Technology) สำหรับนักศึกษาปริญญาตรี ตั้งแต่ชั้นปีที่ 3 ขึ้นไป โดยวิชาดังกล่าวเป็นวิชาที่จะเปลี่ยนโฉมแนวคิดแบบเดิมสำหรับนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ที่ต้องการผลักดันแนวคิดของตัวเองเข้าสู่โลกธุรกิจจริง เรียนแบบนักวิทย์ คิดแบบผู้ประกอบการ”

โดยการเรียนการสอนจะมีคณาจารย์ทั้งจากภายในคณะ และวิทยากรจากภายนอกที่จะมาช่วยทั้งในเรื่องทฤษฎี และเป็นโค้ชธุรกิจ พร้อมสร้างโอกาสต่อยอดการเรียนรู้ด้วย Startup Boost Camp ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิทยาศาสตร์จากหลากหลายสาขา ผสานกับแนวคิดด้านธุรกิจ ทำให้รู้จักตลาด เข้าใจผู้บริโภครวมไปถึงการหาแหล่งเงินทุนสำหรับคนที่อยากทำธุรกิจจริง โดยวิชาดังกล่าวจะเปิดสอนในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2562

“รศ.ปกรณ์” บอกด้วยว่า ที่ผ่านมาพบว่าบัณฑิตจบใหม่ของคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. ประสบความสำเร็จได้งานทำในอัตราสูง ซึ่งสะท้อนถึงศักยภาพและมาตรฐานการเรียนรู้ที่บ่มเพาะให้บัณฑิตมีคุณลักษณะที่ตรงใจองค์กร

“เราฝึกประสบการณ์การทำงานจริงให้นักศึกษา ตลอดจนมีคอนเน็กชั่นด้านการทำงานมาต่อยอดสู่การผสมผสานทุกองค์ความรู้ในการพัฒนาธุรกิจหรือนวัตกรรม ซึ่งเอื้อประโยชน์ตอบโจทย์เทรนด์อาชีพของโลกในทุกมิติได้อย่างครอบคลุม”

“ธงชัย ลายโถ” นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ (โครงการพิเศษ) มธ. กล่าวถึงเหตุผลที่เลือกเรียนสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ (โครงการพิเศษ) มธ.ว่า ตอนเรียนอยู่ชั้นมัธยมปลายชื่นชอบ และสนใจด้านคอมพิวเตอร์ และสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ มธ. มีชื่อเสียงในด้านดังกล่าว เพราะมีนักศึกษาที่เรียนจบไปได้รับโอกาสที่ดีในหลากหลายแวดวงโลกการทำงาน

“การเรียนแบบ SCI+BUSINESS ทำให้มีโอกาสได้แก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น อีกทั้งยังได้ไปทดลองงานกับองค์กรในสายงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้ได้รับประสบการณ์การทำงานในหลากหลายมุม และยังส่งผลต่อโอกาสได้รับการเข้าทำงานจากองค์กรเหล่านั้นอีกด้วย”


มธ.มุ่งบ่มเพาะและผลิตนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ตลอดจนการพัฒนาและพร้อมวางกรอบนโยบายในการพัฒนาเยาวชนไทย สู่บุคลากรคุณภาพด้านวิทยาศาสตร์ ที่มีความกล้าคิดนอกกรอบ และผลิตนวัตกรรมอย่างสร้างสรรค์ ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี