มองมุมใหม่ ‘ผอ.ศศินทร์’ ชูหลักสูตรการพัฒนาที่ยั่งยืน

สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษาด้านการบริหารจัดการชั้นแนวหน้าของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ที่ก่อตั้งมากว่า 37 ปี โดยล่าสุด “ศ.ดร.เอียน เฟนวิค” ขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นลำดับที่ 4 ซึ่งรับไม้ต่อจาก “พารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา” ที่ครบวาระในการดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ เมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2562 ผ่านมา

ถึงแม้เขาจะเป็นชาวแคนาดา แต่ “ศ.ดร.เอียน เฟนวิค” มีความคุ้นเคยกับการศึกษาของประเทศไทยเป็นอย่างดี เพราะเขามาประเทศไทยครั้งแรกในฐานะศาสตราจารย์รับเชิญ (visiting professor)จาก Schulich School of Business มหาวิทยาลัยยอร์ก เมืองโทรอนโต ประเทศแคนาดา เมื่อปี 2531 ทั้งยังเคยร่วมงานกับมหาวิทยาลัยในประเทศไทยหลายแห่ง ในการพัฒนาหลักสูตรทางด้านผู้ประกอบการ

ในปี 2535 เขาเริ่มสอนที่ศศินทร์ โดยเป็นศาสตราจารย์รับเชิญในการสอนวิชากลยุทธ์ทางการตลาด และต่อมาเป็นอาจารย์ประจำในปี 2544 สอนวิชาการบริหารการตลาด และกลยุทธ์ทางการตลาด ทั้งยังมีบทบาทในการเป็นผู้บริหารศศินทร์ตั้งแต่ปี 2560 ได้ดำรงตำแหน่งรักษาการแทนรองผู้อำนวยการ ฝ่ายองค์กรภายนอกสัมพันธ์ จึงทำให้เขามีความเหมาะสมกับการดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ยิ่งเฉพาะในเรื่องของการชูแนวคิดการเป็นผู้ประกอบการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้กับนักศึกษา และการพัฒนาหลักสูตรที่เหมาะสมกับโลก ในศตวรรษที่ 21

“ศ.ดร.เอียน เฟนวิค” กล่าวว่า ศศินทร์ เป็นโครงการแรกของ Kellogg School of Management ของมหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์น และ Wharton School ของมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา ด้วยการเปิดหลักสูตรความร่วมมือนานาชาติ โดยประเทศไทยร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งยังเป็นหลักสูตรแรกในโลกที่เริ่มต้นด้วยการสอนโดยใช้ศาสตราจารย์รับเชิญ (visiting professor) ทั้งหมด ซึ่งต่อมาทาง Kellogg School of Management จึงนำโมเดลนี้ไปใช้ต่อในประเทศแคนาดา, เยอรมนี, ฮ่องกง และอิสราเอลด้วย

“คณะผู้ก่อตั้งศศินทร์มีวิสัยทัศน์ยาวไกล และมีความคิดสร้างสรรค์เป็นอย่างมาก ทำให้ศศินทร์เปี่ยมไปด้วยศักยภาพระดับโลกมากมาย แต่ยังคงสงบนิ่งเหมือนมังกรที่หลับอยู่ หน้าที่ของผมในการเข้ามาดำรงตำแหน่งครั้งนี้คือการปลุกมังกร ก็คือ ศศินทร์ ให้ตื่นขึ้นมาอีกครั้ง โดยตอนนี้เราโฟกัสที่ sustainability through entrepreneurial mindset (การสร้างทัศนคติการเป็นผู้ประกอบการที่จะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน)”

“ผมพยายามโฟกัสเพิ่มในเรื่องของความยั่งยืน และสร้างผู้บริหารให้มี mindset ผู้ประกอบการ เพราะเป็นเทรนด์การทำธุรกิจของโลกใหม่ ถ้าเราไม่เปลี่ยนวิธีการทำธุรกิจ ไม่ให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรบนโลก โลกของเราจะตายในที่สุด ที่ผ่านมาประเทศไทยประสบปัญหาภัยธรรมชาติ เช่น มลพิษทางอากาศ และน้ำท่วม ซึ่งการทำธุรกิจที่ไม่สนใจเรื่องสังคม และสิ่งแวดล้อมเป็นส่วนหนึ่งของภัยธรรมชาติเหล่านี้ด้วย”

นอกจากเป้าหมายในการสร้างทัศนคติการเป็นผู้ประกอบการที่จะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน “ศ.ดร.เอียน เฟนวิค” กล่าวเพิ่มเติมว่าเราจะสร้างศศินทร์ให้มีนักศึกษาต่างชาติมาเรียนมากขึ้น ตอนนี้สัดส่วนนักศึกษาไทยอยู่ที่ 90% และต่างชาติ 10% ผมจึงมองว่า ศศินทร์เป็นสถาบันที่มีหลักสูตร และรูปแบบการเรียนการสอนระดับอินเตอร์เนชั่นแนลอยู่แล้ว แต่การเพิ่มนักศึกษาต่างชาติเข้ามา จะยิ่งช่วยให้สภาพแวดล้อมมีความเป็นนานาชาติเต็มรูปแบบ ผู้เรียนมีการแลกเปลี่ยนแนวคิดที่แปลกใหม่ หลากหลาย และมีความแตกต่างมากขึ้น

“สำหรับมหาบัณฑิตของเราก็จะมี smart skills หมายถึง ผู้นำที่ต้องฟังเก่ง และฟังด้วยหัวใจ เข้าใจโลก และต้องฝึกฝนคนเป็น เราจึงพยายามสร้างคนที่ไม่ได้มีเพียงแค่ความรู้ แต่ต้องสามารถทำงานแบบ agile (ให้ความสำคัญในการสื่อสารกับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย และการปรับปรุงพัฒนาอยู่ตลอด)และมีความรับผิดชอบ ซึ่งคนที่มี smart skills จะสามารถทำงานได้ทุกรูปแบบ และทำงานได้ดี ถึงแม้จะมีความเปลี่ยนแปลงในอนาคต”

“พร้อมกันนั้น เราจะเดินหน้าส่งเสริมการเรียนรู้แบบ lifelong learning และสนับสนุนให้คนใกล้วัยเกษียณมาเรียนรู้เพิ่มเติม (retraining) เพราะความรู้ที่พวกเขาได้เรียนมาจากสถาบันการศึกษาเมื่อ 10-20 ปีก่อน ไม่สามารถใช้ได้ในโลกอนาคต และสภาวะที่โลกกำลังเข้าสู่ยุคที่อัตราการเจริญเติบโตของประชากรชะลอตัว มีองค์กรหลายแห่งยังต้องการคนที่อายุใกล้เกษียณทำงานต่อไปอีก หรือบางที่อาจดึงคนที่เกษียณอายุแล้วกลับเข้ามาทำงานใหม่ด้วย เราจึงมีหลักสูตรระยะสั้นที่จะรองรับคนกลุ่มนี้”

เมื่อพูดถึงการเรียนการสอนออนไลน์ที่เหมือนจะเป็นเทรนด์ของยุคดิจิทัล “ศ.ดร.เอียน เฟนวิค” บอกว่า ที่ผ่านมาศศินทร์มีการผสมการเรียนการสอนทางออนไลน์กับออฟไลน์ แต่ยังไม่มีการเรียนออนไลน์แบบเต็มรูปแบบ เพราะเราเน้นการเรียนรู้แบบลงมือทำจริง นำปัญหาจริงที่เกิดขึ้นในภาคธุรกิจมาร่วมแก้ไข และทำงานกันเป็นทีม

“การเรียนในห้องเรียน หรือการเดินทางไปศึกษาดูงานตามสถานที่ต่าง ๆ ยังเป็นเรื่องสำคัญในหลักสูตรของเรา แต่ในอนาคตเราจะทำหลักสูตรออนไลน์เกี่ยวกับความยั่งยืนเพิ่ม เพื่อให้คนที่สนใจเข้ามาเรียนฟรี”

จึงนับว่าแนวความคิดในการสร้างคนให้เป็นผู้ประกอบการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของผู้อำนวยการคนใหม่ อาจช่วยพัฒนาผู้นำที่มีความยืดหยุ่น สามารถปรับตัวได้ตามสถานการณ์ที่กำลังเผชิญ พร้อมทั้งยังเป็นการสร้างจิตใจที่เข้มแข็ง และมีบทบาทที่สำคัญในการสร้างสรรค์สังคมต่อไปในอนาคต

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!