“สจล.” จับมือ “ไทยไฟท์” เปิด ป.โทการจัดการกีฬา

สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) จับมือ บริษัท ไทยไฟท์ จํากัด ผู้จัดเวทีแข่งขันทัวร์นาเมนต์มวยไทยชื่อดังระดับโลก ผุดหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการกีฬา สื่อและบันเทิง (Master of Business Administration in Sport, Media and Entertainment Management) ครั้งแรกของสถาบันการศึกษาไทย

“ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์” อธิการบดี (สจล.) กล่าวว่า ปัจจุบันธุรกิจที่ผสมผสานศาสตร์ด้านการจัดการกีฬา สื่อ และบันเทิงเข้าด้วยกันมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้น จากพฤติกรรมการเสพสื่อและการเข้าถึงช่องทางต่าง ๆ ในการรับชม อันเป็นผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy)

โดยหนึ่งในชนิดกีฬาที่ถูกนำมาผนวกเข้ากับธุรกิจสื่อและบันเทิง และได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายทั้งในคนไทยและชาวต่างชาติ คือ มวยไทย

ดังนั้นเพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมกลุ่มนี้ สจล.จึงร่วมกับ บริษัท ไทยไฟท์ จํากัด พัฒนาหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการกีฬา สื่อ และบันเทิง (Master of Business Administration in Sport, Media and Entertainment Management) เพื่อสร้างบัณฑิตที่มีความรู้ และความเข้าใจ ในการบริหารจัดการธุรกิจที่ผสมผสานศาสตร์ทั้งสองส่วนเข้าด้วยกัน เพื่อให้ผู้เรียนมีความเป็นเลิศทั้งในด้านการบริหารธุรกิจกีฬา และมีความเชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมการออกแบบ สามารถเลือกใช้สื่อและรูปแบบความบันเทิง เป็นเครื่องมือสนับสนุนการจัดการกีฬาให้ประสบความสำเร็จ

“ข้อมูลจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาระบุว่า ปัจจุบันมูลค่าอุตสาหกรรมกีฬาไทยอยู่ที่ประมาณ 1 แสนล้านบาทและมีแนวโน้มเติบโตเป็น 2 แสนล้านบาทในเร็ว ๆ นี้ ขณะที่มูลค่าอุตสาหกรรมสื่อและบันเทิงไทยมีแนวโน้มเติบโตสูงถึง 4.32 แสนล้านบาท ในปี 2564 ตัวเลขคาดการณ์ดังกล่าวสะท้อนถึงโอกาสในการสร้างเม็ดเงินจากธุรกิจดังกล่าว ซึ่งท้ายที่สุดจะส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ตามแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจไทย 4.0 ของรัฐบาล”

“รศ.ดร.อำนวย แสงโนรี” คณบดีคณะการบริหารและจัดการ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า นอกจากนักศึกษาจะได้เรียนรู้กับผู้เชี่ยวชาญตัวจริงแล้ว ยังมีโอกาสได้สัมผัสรูปแบบการจัดการกีฬาสู่ระดับสากลอีกด้วย สำหรับค่าเทอมของหลักสูตรนี้จะอยู่ประมาณ 40,000 บาท/เทอม โดยตลอดหลักสูตรจะใช้เวลาเรียน 2 ปี ผ่านรูปแบบการจัดแผนการเรียนการสอนทั้งหมด 39 หน่วยกิต”

ทั้งนี้ เมื่อเดือน ส.ค. ปีที่ผ่านมา ยังได้มีการลงนามความร่วมมือในการจัดตั้ง KMITL Thai Fight Academy of Sports and Media Management ในการพัฒนาหลักสูตรร่วมกัน และเป็นศูนย์กลางการประสานงานและสนับสนุนการศึกษา สำหรับนักศึกษาด้านกีฬาและสื่อบันเทิงไทยให้เป็นเลิศ

“นพพร วาทิน” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยไฟท์ จํากัด กล่าวเสริมว่า การจัดตั้งสถาบัน Thai Fight Academy มีเจตนารมณ์นำเอาการศึกษา, นวัตกรรม, วัฒนธรรม และกีฬา มาผนวกเข้าด้วยกัน ด้วยวัตถุประสงค์ต้องการผลิตบุคลากรเพื่อมาบริหารจัดการทางด้านกีฬาอย่างมีคุณภาพ รวมถึงการผลิตบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถในการสร้างแบรนด์ขององค์กรให้เป็นที่รู้จัก และเป็นที่ยอมรับต่อวงการ

“การสร้างแบรนด์ให้มีคุณค่า ถือเป็นสิ่งใหม่ของวงการศึกษา เพราะยุคไทยแลนด์ 4.0 แบรนด์ที่มีคุณภาพย่อมพาองค์กรสู่ความสำเร็จได้ และการที่ Thai Fight ประสบความสำเร็จสามารถสร้างแบรนด์เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก จนกลายเป็นแบรนด์ชาติ เนื่องจากการบริหารจัดการด้านมาร์เก็ตติ้ง และการจัดการด้านสื่ออย่างถูกวิธี”


“อีกทั้งผู้เรียนหลักสูตรนี้ยังมีโอกาสเรียนรู้แนวคิดในการสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่ง รู้จักการทำมาร์เก็ตติ้ง รู้จักการใช้สื่ออย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างมูลค่าในการหารายได้ ตลอดจนการให้รู้จัก และเข้าใจกับคำว่า Sportsmanship หรือน้ำใจนักกีฬา เพื่อจะได้เป็นบุคลากรที่มีคุณภาพต่อสังคมอย่างแท้จริงอีกด้วย”