“เครือราชินี” ผุด ร.ร.ใหม่ ปั้นกุลสตรีสมสมัยต้องเก่งภาษา

ข้อจำกัดเรื่องพื้นที่สำหรับขยายโรงเรียนเครือราชินีทั้ง 2 แห่งในพื้นที่กรุงเทพฯ คือ โรงเรียนราชินีและราชินีบน ทำให้มีแนวคิดที่จะขยายโรงเรียนแห่งที่ 3 เพิ่มเติมเพื่อรองรับนักเรียนในอนาคต โดยในช่วงที่พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุทธศิริโสภา อยู่ในตำแหน่งประธานราชินีมูลนิธิได้ซื้อที่ดินในพื้นที่ตำบลคลองเขื่อน อำเภอคลองเขื่อน จังหวัดฉะเชิงเทรา จนถึงวันนี้แนวคิดดังกล่าวถูกพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง จนก่อสร้างโรงเรียนแล้วเสร็จภายใต้ชื่อ “โรงเรียนราชินีมูลนิธิ” เป็นโรงเรียนที่ใช้หลักสูตรภาษาอังกฤษ แบบประจำหญิงล้วน ที่ยังคงฐานรากเดิมคือ การสร้าง “กุลสตรีสมสมัย” ที่แตกต่างจากโรงเรียนอื่น ๆ ในพื้นที่ พร้อมกับเปิดรับนักเรียนรุ่นแรกระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 อย่างเป็นทางการไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา

ดร.เพลินพักตร์ เทศน้อย

โรงเรียนราชินีมูลนิธิเปิดบ้านให้ “ประชาชาติธุรกิจ” ได้เยี่ยมชม พร้อมทั้งสัมภาษณ์พิเศษ “ดร.เพลินพักตร์ เทศน้อย” ผู้อำนวยการโรงเรียนราชินีมูลนิธิ โดย ดร.เพลินพักตร์ได้เริ่มเล่าถึงที่มาและคอนเซ็ปต์ของโรงเรียนแห่งนี้ว่ามีแนวคิดมาตั้งแต่ปี 2536 จนกระทั่งได้มองเห็นโอกาสจากนโยบายของภาครัฐที่ต้องการพัฒนาโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC (Eastern Economic Corridor) ใน 3 จังหวัด คือ จังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา นั่นหมายถึงว่าจะมีนักลงทุนจากทั้งในและต่างประเทศเข้ามาในพื้นที่มากขึ้น พร้อมทั้งได้เห็นสัญญาณว่ามีโรงเรียนนานาชาติจากต่างประเทศเข้ามาจำนวนมาก แต่ค่าเทอมสูงมากที่ 400,000-500,000 บาท/ปี

ดังนั้น จึงคิดว่าจะสร้างโรงเรียนหลักสูตรภาษาอังกฤษที่ให้ชนชั้นกลางเข้าถึงได้ ด้วยค่าเทอมเพียง 300,000 บาท/ปี แต่อัดแน่นไปด้วยคุณภาพของหลักสูตรที่เป็นการผสมผสานกันระหว่างการใช้หลักสูตรไทยเป็นแกนกลาง และหลักสูตรจากเคมบริดจ์ เพื่อให้นักเรียนตามแบบฉบับของกุลสตรีสมสมัยที่ต้องเก่งภาษาอังกฤษ

“ดร.เพลินพักตร์” ยังเล่าถึงขั้นตอนการวางหลักสูตรที่ต้องใช้เวลากว่า 1 ปี เพราะเมื่อเป็นโรงเรียนนานาชาติที่การเรียนการสอนใช้ภาษาอังกฤษเท่านั้น จะต้องคำนึงถึงกฎระเบียบตามที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดไว้ หลังจากที่เขียนหลักสูตรแล้วเสร็จ รัฐบาลประกาศยุทธศาสตร์ชาติเพื่อเข้าสู่ความเป็นไทยแลนด์ 4.0 เพื่อสร้างโปรแกรมเมอร์และสามารถใช้เทคโนโลยีการผลิตได้ ทางโรงเรียนจึงต้องปรับหลักสูตรใหม่อีกเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายดังกล่าว ปรับวิชาที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี เช่น ในวิชาวิทยาศาสตร์จะเพิ่มเรื่องวิทยาการคำนวณ เพื่อให้นักเรียนได้มีพื้นฐานการออกแบบโปรแกรมคอมพิวเตอร์ รวมถึงปรับวิชาคณิตศาสตร์และวิชาสังคมเพื่อให้เข้ากับยุคสมัยมากขึ้นด้วย

“ยื่นหลักสูตรให้กับกระทรวงมาแต่มีการปรับใหม่เพื่อให้ทันสมัย รวมถึงก่อนหน้านี้ได้ยื่นเสนอหลักสูตรภาษาไทย แต่เมื่อนำ english program เข้ามาใช้ จึงต้องปรับรายละเอียดกันอีกรอบ ในช่วงที่ปรับหลักสูตรอยู่นั้นได้เริ่มก่อสร้างโรงเรียนไปแล้ว และเป้าหมายที่จะเริ่มรับนักเรียนคือปี 2562 ซึ่งก็ถือว่าเป็นไปตามแผนที่วางไว้ทั้งหมด”

ทั้งนี้ ดร.เพลินพักตร์ได้ชี้ให้เห็นถึงจุดแข็งของโรงเรียนราชินีแห่งใหม่นี้ว่าได้ยึดปณิธานเพื่อสืบสานต่อจากผู้ก่อตั้งคือ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในเรื่องของ “การคงความเป็นไทย” พร้อมกับการเติบโตที่สมสมัย และแม้ว่าจะเป็นโรงเรียนในเครือราชินี แต่ก็มีลักษณะที่แตกต่างกันออกไป คือ คล่องแคล่วในการใช้ภาษา แต่ยังคง DNA ของความเป็นนักเรียนของเครือราชินี คือ กิริยามารยาทที่ดี รู้กาลเทศะว่าเวลาใดควรพูด หรือไม่ควรพูด เหล่านี้ถือเป็นคุณสมบัติของนักเรียนโรงเรียนราชินีมูลนิธิ

นอกจากนี้ ดร.เพลินพักตร์ยังอธิบายเพิ่มเติมถึงหลักสูตรและนโยบายการเรียนการสอนที่แตกต่างจากโรงเรียนในเครือ คือ 1) การใช้กระบวนการเรียนที่นักเรียนได้ลงมือทำ (active learning) 2) นำแนวทางSTEAM (science technology engineeringand mathematics education) มาใช้ พร้อมทั้งบูรณาการวิชาที่เกี่ยวข้องเอาไว้ด้วยกัน และเพิ่มคำว่าศิลปะ หรือ art เข้าไป อีกทั้งยังสามารถนำไปใช้ร่วมกับความรู้อื่น ๆ ได้อีกหลายแขนง รวมถึงยังมีกิจกรรมอย่าง english camp ก่อนเปิดเทอม เพื่อให้เด็กได้ปรับพื้นฐานเด็กได้เรียนรู้ผ่านโปรเจ็กต์ต่าง ๆ และ3) ครูไทย ต้องเดินตาม “ความเป็นราชินี”มีกระบวนการอบรมวัฒนธรรมและความเป็นไทย การปฏิบัติตัว การดูแลลูกศิษย์ การส่งต่อความเป็นกุลสตรีให้กับนักเรียน เป็นต้น

ในช่วงเริ่มต้นปีแรกของโรงเรียนราชินีมูลนิธิ เปิดรับนักศึกษาในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 เนื่องจากตามเป้าหมายของโรงเรียนจะเริ่มรับนักศึกษามัธยมศึกษาปีที่ 2 และ 3 ในปีถัดไป ทั้งนี้ ตามแผนดำเนินการ 6 ปี (2562-2567) ภายในปี 2567 จะมีนักเรียนรวม 540 คน ห้องเรียนในปัจจุบันรวม 25 ห้องเรียน รองรับนักเรียนได้ 30 คน/ห้อง และยังสามารถขยายเพิ่มเติมเพื่อรองรับนักเรียนสูงสุด 900 คน

“ถือเป็นความท้าทาย แต่เสียงจากผู้ปกครองและนักเรียนค่อนข้างดีมาก ส่วนหนึ่งเราได้ประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางโซเชียลต่าง ๆ ได้เห็นภาพที่ครูมีความใส่ใจเด็ก ติดตามปัญหา จะมีกิจกรรม เช่น กิจกรรมนอกหลักสูตรเพื่อสร้างเด็กในศตวรรษที่ 21 และยังเน้นไปที่การสร้างทักษะด้านดิจิทัล จึงมีกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง เด็กจะลงมือทำ ซึ่งกิจกรรมนอกหลักสูตรต่าง ๆ จะมีการวางแผนครอบคลุมถึง 1 ปี”

แต่กว่าจะมาเป็นกิจกรรมให้นักเรียนได้ทำนั้น หัวใจสำคัญคือ “ครู” ดร.เพลินพักตร์ระบุว่า ครูจะต้องเป็นหัวคิดว่าจะทำกิจกรรมอะไร และร่วมหารือกับทีมว่าจะมีความเป็นไปได้หรือไม่ และเด็กจะได้ประโยชน์อย่างไรจากกิจกรรมเหล่านี้ โดยปัจจุบันโรงเรียนมีครูรวม 22 คน ทั้งครูไทยและครูต่างชาติ แต่คาดการณ์ไว้ว่าในช่วงปี 2562-2563 นี้ หากเปิดรับนักเรียนจนถึงระดับมัธยมปีที่ 3 อาจจะต้องรับครูเพิ่ม เพราะชั่วโมงสอนของครูจะเป็นตัวบังคับไว้อยู่แล้ว อยู่ที่ไม่เกินสัปดาห์ละ 20 คาบ

ทั้งนี้ สำหรับตัวชี้วัดสำคัญของโรงเรียนราชินีมูลนิธิ คือ เมื่อเด็กเรียนจบออกไป การบ่มเพาะตั้งแต่ในชั้นเรียนจะทำให้นักเรียนเป็นกุลสตรีไทย ยิ่งเมื่อได้พูดคุยกับผู้อื่นก็จะเซอร์ไพรส์ว่า สามารถใช้ภาษาได้เป็นอย่างดี กล้าแสดงออกอย่างเหมาะสม มารยาทดีไม่มีที่ติ ส่วนการกล้าแสดงออกในทางที่ถูก ครูจะกระตุ้นอบรมในแง่ของการแสดงความคิดว่าไม่มีถูกหรือผิด แต่ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมและโอกาสหรือไม่ ทุกกระเบียดนิ้วต้องเป็นราชิเนี่ยน

ดร.เพลินพักตร์ทิ้งท้ายว่า นอกจากจะเปิดรับนักเรียนไทยแล้ว ยังเปิดรับนักเรียนจากประเทศเพื่อนบ้านด้วย อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทราจะมีคู่แข่งค่อนข้างมาก เช่น โรงเรียนเซนต์หลุยส์ โรงเรียนดาราจรัส และโรงเรียนเบญจมราชรังสฤษดิ์ ก็ตาม แต่เชื่อมั่นว่า คุณภาพแบบปากต่อปากและความใส่ใจนักเรียนแบบใกล้ชิดจะทำให้โรงเรียนราชินีมูลนิธิขยับขึ้นมาเป็นโรงเรียนที่น่าจับตามองได้…