ยักษ์ธุรกิจการศึกษาจีนบุกไทยปิดดีลซื้อ “มหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด”

มหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ดธุรกิจการศึกษาไทยระส่ำ ทุนจีนไล่ซื้อ “มหาวิทยาลัยเอกชน” ล่าสุด “China YuHua” ยักษ์ธุรกิจการศึกษาจีนเขย่าวงการซื้อ “มหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด” ส่งทีมบริหารจากจีนเข้าดูแล วางแผนสร้างเครือข่ายรองรับเด็กจีนมาเรียนต่อ วงในหวั่นปัญหาธุรกิจการศึกษาไทยในกำมือจีน

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่าปัจจุบันธุรกิจการศึกษาในประเทศไทยถือว่ากำลังอยู่ในภาวะวิกฤต โดยเฉพาะในส่วนของมหาวิทยาลัยเอกชน เนื่องจากจำนวนนักศึกษาที่ลดลงอย่างมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทำให้มหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาหลายแห่งประสบปัญหาขาดทุน ขาดสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจจนต้องตัดสินใจขายกิจการ และที่น่าจับตาก็คือผู้ซื้อรายใหญ่ที่เข้ามาคือกลุ่มทุนจีนเป็นหลัก

ทั้งนี้จากช่วงปี 2561 ที่ผ่านมา ก็มีกลุ่มทุนจีนเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ “มหาวิทยาลัยเกริก” คือ นายหวัง ฉางหมิง กับ บริษัท หมิงจัง อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็ดดูเคชั่น จำกัด และในปี 2562 พบว่ามีกลุ่มทุนได้เข้ามาไล่ซื้อมหาวิทยาลัยเอกชนในประเทศไทยอีกหลายแห่ง

ทุนจีนซื้อ “แสตมฟอร์ด”

แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการมหาวิทยาลัยเอกชน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้มีกลุ่มทุนจีนใหม่คือ บริษัท ไชน่า หยู่ฮว๋า เอ็ดดูเคชั่น อินเวสเมนท์ ลิมิเต็ด (China YuHua Education Invesment Limited) เป็นนักลงทุนจากมลฑลชานตง ประเทศจีน เข้ามากว้านซื้อมหาวิทยาลัยในประเทศไทย และที่มีการเจรจาตกลงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว คือ มหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด โดยได้เข้าถือหุ้นใหญ่ประมาณ 49%

ทั้งนี้มหาวิทยาลัยนานานชาติแสตมฟอร์ด บริหารงานโดยบริษัท ฟาร์อีสต์ แสตมฟอร์ด อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ได้มีการจดทะเบียนผู้ถือหุ้นใหม่โดย บริษัท ไทย เอ็ดดูเคชั่น โฮลดิ้งส์ จำกัด สัดส่วนราว 92.3%  และบริษัท ไชน่า หยู่ฮว๋า เอ็ดดูเคชั่น อินเวสเมนท์ ซึ่งจดทะเบียนที่เกาะบริติชเวอร์จิ้น ถือหุ้น 7.67% นอกจากนี้ทางไชน่า หยู่ฮว๋าฯ ได้เข้าถือผ่านทางบริษัท ไทย เอ็ดดูเคชั่นฯในสัดส่วน 44.3%

โดยกรรมการบริษัท 4 คน คือ นายกวางยู ลี, นางสาวหัว ลี, นางสาวหงจิน ชิง, และนางสาวเยี่ยนตัน เหริน ทั้งนี้ กรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพัน คือ นายกวางยู ลี ซึ่งเป็นประานของ China YuHua และนางสาวหัว ลี ซีอีโอของ China YuHua

สำหรับมหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ดในประเทศไทย ประกอบด้วย วิทยาเขตพระรามเก้า, ศูนย์การศึกษาอโศกแคมปัส และวิทยาเขตหัวหิน มีนักศึกษาราว 5,000-6,000 คน ซึ่งเดิมเป็นของเครือลอรีเอท (Laureate International Universities) เครือข่ายมหาวิทยาลัยนานาชาติที่ใหญ่ที่สุดในโลก

จีนส่งทีมบริหารคุมเบ็ดเสร็จ

แหล่งข่าวกล่าวว่าเนื่องจากสถานการณ์การแข่งขันรุนแรงของธุรกิจการศึกษาในประเทศไทย ประกอบกับผลการดำเนินงานมหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ดในประเทศไทย ประสบภาวะขาดทุนต่อเนื่อง ทำให้เครือลอรีเอท ตัดสินใจขายมหาวิทยานานาชาติแสตมฟอร์ดในประเทศไทย

“หลังจากกลุ่มไชน่า หยู่ฮว๋าฯ เข้ามาบริหารงานใน แสตมฟอร์ด เมื่อช่วงต้นปี 2562 ก็ได้มีการปรับโครงสร้างการบริหารจัดการภายในและยุบหน่วยธุรกิจต่างๆ รวมทั้งลดพนักงานด้านธุรกิจเพื่อลดค่าใช้จ่าย อย่างไรก็ตามในส่วนของบุคลากรด้านการเรียนการสอนยังไม่มีการปรับเปลี่ยน”

สร้างเครือข่ายรองรับ “เด็กจีน”

แหล่งข่าวจากผู้บริหารธุรกิจการศึกษากล่าวว่า การรุกคืบของกลุ่มทุนจีนที่เข้ามาซื้อมหาวิทยาลัยในประเทศไทย คาดว่าเพื่อใช้เป็นฐานรองรับการส่งเด็กจีนเข้ามาเรียนต่อในประเทศไทย เนื่องจากกลุ่ม China YuHua Education Invesment เป็นผู้ให้บริการด้านการศึกษาเอกชน ที่มีตั้งแต่ระดับอนุบาล-มัธยมปลาย ถือเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ในภาคกลางของประเทศจีนในแง่ของจำนวนนักเรียนและนักศึกษา

ซึ่งในปี 2018 มีจำนวนทั้งสิ้น 48,220 คน โดยไชน่าหยู่ฮว๋า มีโรงเรียนอนุบาล ตั้งแต่เกรด 1-12 อยู่ในมณฑลเหอหนาน 12 แห่ง และมหาวิทยาลัย 1 แห่งในมณฑลหูหนาน

“การลงทุนซื้อมหาวิทยาลัยในประเทศไทยก็เพื่อรองรับเด็กจีนที่เข้ามาเรียนต่อ เพราะปัจจุบันเด็กจีนก็นิยมมาเรียนที่ประเทศไทยมากขึ้น”

นอกจากนี้กลุ่ม ไชน่า หยู่ฮว๋าฯ มีบริษัทในเครือหลักๆ 3 บริษัท ได้แก่ China HongKong Yuhua Education, Xizang Yuanpei Information Technology Management Company และ Henan Hantang Education Management ซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับธุรกิจด้านการศึกษา และเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา

แหล่งข่าวกล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาของมหาวิทยาลัยเอกชนในขณะนี้อยู่ที่สถานะการเงินที่ขาดสภาพคล่อง จากการ “ขาดทุนสะสม” แม้จะพยายามปรับตัวในหลายวิธี เช่น เปิดหลักสูตรใหม่ที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด จัดโปรโมชั่นปรับลดค่าเทอม ผ่อนจ่ายค่าเทอมเป็นรายเดือนแล้วก็ตาม แต่จำนวนนักศึกษาที่ลดลงส่งผลให้รายได้ลดลงตามไปด้วย

“สถานะการเงินของมหาวิทยาลัยเอกชนหลายรายจะพบว่าขาดทุนสะสมมาอย่างต่อเนื่อง กรณีดีลแสตมฟอร์ดก็ค่อนข้างเซอร์ไพรส์วงการ เพราะแม้แต่มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงยังไม่รอด ดังนั้นที่เหลือกันอยู่ในระบบคงต้องแข่งขันกันต่อไป และมหาวิทยาลัยในไทยก็มีโอกาสจะถูกซื้อไปเรื่อยๆ ซึ่งนักวิชาการหลายคนก็มองว่าวิกฤตครั้งนี้จะทำให้ธุรกิจการศึกษาไทยกลับสู่จุดสมดุลย์ หลังจากที่ Over Supply มานานก็ได้” แหล่งข่าวกล่าว