“ดุสิตธานี” โชว์แผน 3 ด้าน ปรับหลักสูตรรับไทยแลนด์ 4.0

อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักที่สร้างรายได้ให้กับประเทศไทยอย่างมหาศาล นับเป็นอันดับ 3 ของรายได้ทั้งหมดของประเทศ ทั้งยังมีบทบาทอย่างยิ่งต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปัจจุบัน

เพราะนอกจากสถานที่ท่องเที่ยวภายในประเทศมีความสวยงามติดอันดับโลก หากบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวยังมีความสำคัญไม่แพ้กัน ซึ่งที่ผ่านมา วิทยาลัยดุสิตธานี ทำหน้าที่เป็นสถาบันที่สร้างบุคลากรคุณภาพให้กับวงการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่องมาตลอด 24 ปี แต่ในวันนี้ สิ่งที่วิทยาลัยมองไปข้างหน้าคือการวางแผนพัฒนาหลักสูตรเพื่อให้ตอบสนอง และรองรับกับเป้าหมายไทยแลนด์ 4.0 รวมถึงการก้าวไปสู่มาตรฐาน ASEAN Competency พร้อมกับการขยายโอกาสไปสู่ผู้สนใจที่จะเข้าสู่วิชาชีพด้านการท่องเที่ยว และองค์กรต่าง ๆ ที่ต้องการพัฒนาการบริการให้เป็นเลิศ

“ผศ.ดร.สาโรจน์ พรประภา” อธิการบดีวิทยาลัยดุสิตธานี กล่าวว่า วิทยาลัยดุสิตธานีผลิตบุคลากรคุณภาพให้กับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการอย่างต่อเนื่อง ยาวนานมาเป็นเวลาถึง 24 ปี โดยทิศทางและเป้าหมายในปี 2560 จะมุ่งเน้นการพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน

“เนื่องจากเป้าหมายของวิทยาลัยดุสิตธานีนับจากนี้ไป จะเน้นการพัฒนา 3 ส่วนสำคัญ ประกอบด้วย การพัฒนาด้านกายภาพ, ด้านหลักสูตร และด้านความร่วมมือกับสถาบันนานาชาติให้แนบแน่นยิ่งขึ้น สำหรับการพัฒนาด้านกายภาพ วิทยาลัยดุสิตธานีวางแผนพัฒนาสภาพแวดล้อมของวิทยาลัย ที่จะช่วยส่งเสริมประสบการณ์การเรียนการสอนให้ดียิ่งขึ้น ทั้งในส่วนของอุปกรณ์ที่ทันสมัย รวมถึงการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่นักศึกษาและอาจารย์ ในการสร้างสรรค์ความรู้ที่เป็นเลิศทางด้านวิชาการ ด้วยการนำรูปแบบการเรียนการสอนแบบใหม่ หรือที่เรียกว่า Dusit Hybrid MBA Method มาผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีกับการเรียนการสอนแบบเดิม”

“ส่วนแผนงานในการพัฒนาหลักสูตรปี 2560 เพื่อขานรับไทยแลนด์ 4.0 เรามีการเปิดสาขาใหม่ระดับปริญญาตรี คณะการจัดการการโรงแรม และการท่องเที่ยว ด้วยการเปิดหลักสูตรการจัดการบัณฑิตในสาขานวัตกรรมการบริการในธุรกิจการท่องเที่ยว และโรงแรม (Service Innovation in Tourism & Hotel Business) เพื่อให้บัณฑิตมีแนวความคิด และวัฒนธรรมการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ในการให้บริการ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากการบริการในรูปแบบเดิมสู่การเพิ่มมูลค่าในการบริการ โดยเน้นให้เกิดการยกระดับนวัตกรรม และผลิตภัณฑ์ทางการท่องเที่ยวและบริการ”

“ที่สำคัญ เรายังปรับปรุงหลักสูตรปริญญาโท ซึ่งเป็นหลักสูตรที่เน้นทางด้านการบริการเชิงธุรกิจ (hospitality business) เพื่อรองรับผู้ประกอบการหน้าใหม่ (startup) หรือผู้บริหารที่ต้องการยกระดับให้ธุรกิจเป็นนานาชาติที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับการประกอบธุรกิจในยุคดิจิทัลได้เป็นอย่างดี”

นอกเหนือจากการปรับปรุงหลักสูตร ทางวิทยาลัยดุสิตธานียังจัดตั้ง Dusit Thani Excellence Centre (DTEC) ซึ่งจะตั้งอยู่บริเวณถนนเพชรบุรี ด้านหลังศูนย์การค้าสยามพารากอน เพื่อเป็นศูนย์วิชาการย่อยที่อำนวยความสะดวกให้กับผู้สนใจ หรือผู้ประกอบการทางด้าน Hospitality ที่อยู่ในเมือง โดยศูนย์แห่งนี้จะเน้นงานสร้างสรรค์ทางวิชาการต่าง ๆ เช่น การพัฒนา และวิจัยสูตรอาหารมาตรฐาน, การค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับศาสตร์ในด้านต่าง ๆ เกี่ยวกับวิทยาการทำอาหาร (gastronomy)

“สำหรับแผนพัฒนาด้านความร่วมมือกับสถาบันนานาชาติ นอกจากสถาบัน เลอ กอร์ดอง เบลอ ของประเทศฝรั่งเศส และโรงเรียนการโรงแรมโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ที่เราเป็นพันธมิตรอยู่ก่อนแล้ว เรายังมุ่งเน้นที่จะขยายความสัมพันธ์ และเพิ่มความร่วมมือกับสถาบันนานาชาติ ทั้งทางด้านอาหาร การโรงแรม การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมบริการต่าง ๆ ให้มากขึ้น”

“ผศ.ดร.สาโรจน์” กล่าวต่อว่า นอกจากแผนการพัฒนาทั้ง 3 ด้าน ทางวิทยาลัยดุสิตธานียังเปิดโอกาสให้กับผู้สนใจเรียนทางด้านนี้ในวงกว้างอีกด้วย นอกเหนือจากนักเรียนที่เราเปิดรับในภาคปกติอยู่แล้ว โดยเฉพาะการเปิดคอร์สระยะสั้น และคอร์สสำหรับผู้บริหาร รวมไปถึงการรับบริการให้คำปรึกษากับบริษัท หรือผู้ประกอบการทางด้านอุตสาหกรรม (corporate training) เพื่อขยายสู่การเป็นผู้สนับสนุนธุรกิจ startup และศูนย์บ่มเพาะธุรกิจอีกด้วย

“การดำเนินการตามแผนทั้งหมดจะนำไปสู่มาตรฐานใหม่ของวิทยาลัยดุสิตธานี ในการผลิตบุคลากรทางด้านอุตสาหกรรมบริการให้มีความสามารถทั้งทางด้านวิชาชีพ และมีการสร้างแนวคิดใหม่ ๆ ให้กับนักศึกษา ซึ่งจะสอดคล้องกับการขยายตัวของอุตสาหกรรมบริการ ทั้งทางด้านอาหาร การโรงแรม และการท่องเที่ยว รวมถึงความต้องการของนักท่องเที่ยว และลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพของสังคม และเศรษฐกิจในยุคปัจจุบัน”

โดยบัณฑิตที่จบการศึกษาจากวิทยาลัยดุสิตธานีประมาณ 600 คน/ปี จะเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมบริการของไทยให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง และยั่งยืน จนเป็นรากฐานสำคัญที่จะผลักดันการเติบโตอย่างมั่นคงให้กับเศรษฐกิจของประเทศต่อไป