‘วช.’ แจงทิศทางวิจัยใหม่ เทพันล้านหนุนยุทธศาสตร์ชาติ

ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ซึ่งเป็นกระทรวงน้องใหม่ที่มีหน่วยงานรับผิดชอบในสังกัดอยู่ 8 กลุ่มสำคัญ หนึ่งในนั้น คือ “สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ” หรือ “วช.” ซึ่งเดิมทีคือสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) แต่ปัจจุบันเริ่มถ่ายโอนงานในความรับผิดชอบมาไว้ที่ วช.แล้ว และขณะนี้อยู่ในช่วงดำเนินการแจงขั้นตอนการขอรับทุนการวิจัยใน open house “เปิดบ้านวช. 5G : CHANG FOR THE FUTURE” เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับนักวิจัย

ด้วยการทำความเข้าใจกับหน้าที่ และอำนาจของ วช. ที่เรียกได้ว่าเข้ามาพลิกโฉมใหม่ให้กับการพัฒนางานวิจัยของประเทศให้เป็นระบบ จับต้องได้ และนำไปใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง คือ การให้ทุนวิจัย และนวัตกรรม พร้อมกับจัดทำฐานข้อมูล และดัชนีวิทยาศาสตร์ ขับเคลื่อนโครงการวิจัย และนวัตกรรมที่สำคัญ จัดทำมาตรฐาน และจริยธรรมการวิจัย ไปจนถึงการถ่ายทอดความรู้เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ สนับสนุนการพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัย และนวัตกรรม และให้รางวัลยกย่องบุคคล หรือหน่วยงานด้านวิจัยและนวัตกรรม

ทั้งนี้ ระบบทุนวิจัย และนวัตกรรม ประกอบด้วย 3 ส่วนสำคัญ คือ หน่วยงานนโยบาย และกรอบงบประมาณ เช่น สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ, กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) สำหรับหน่วยให้ทุน เช่น สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) และ funding agency เป็นต้น และหน่วยทำวิจัย เช่น มหาวิทยาลัย และสถาบันวิจัยต่าง ๆ

เมื่อวางองค์ประกอบอย่างชัดเจนแล้ววช.จะกำหนดทิศทางใหม่ของระบบทุนวิจัย และนวัตกรรมของประเทศไว้ใน 4 เรื่องสำคัญ คือ กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, ทุนในเชิงรุกตามประเด็นยุทธศาสตร์ นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานให้ทุนอื่น ๆ อีก เช่น สวก.และ สวรส. มหาวิทยาลัย และสถาบันวิจัยทั้งในและนอกกระทรวง ให้ทุนวิจัยครอบคลุมการวิจัยขั้นพื้นฐานวิจัยประยุกต์ ทั้งวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ รวมถึงสหสาขาวิชาการ นำระบบ online 100% 5G-funding นำกลไก ODU (outcome delivery units) นำระบบ program funding และ matching fund เข้ามาใช้ อีกทั้งต้องติดตาม และพัฒนาโดยผู้ใช้ผลวิจัย

จากทิศทางดังกล่าว ยังต้องนำมากำหนดวิธีการทำงานใน 4 รูปแบบใหม่ คือ 1) ให้ทุนเชิงรุก นำไปสู่ผลสำเร็จตามประเด็นยุทธศาสตร์และแผนแม่บท (แทนการตั้งรับ) โดยใช้สรรพศาสตร์ 2) ให้ทุนเป็น multiyear และ block grant ซึ่งผูกพันได้ โดยคำนึงถึงประสิทธิผลเป็นหลัก 3) ประสานเป้าหมายกับภารกิจอื่นของหน่วยงานทั้งในและนอกกระทรวง เช่น โครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ การพัฒนาบุคลากร และ 4) ดำเนินการด้วยความคล่องตัว (streamlined process)

วช.กำหนดกรอบสนับสนุนทุนวิจัย และนวัตกรรม และทุนพัฒนาบุคลากรของประเทศ โดยทุนวิจัยจะเน้นไปที่ประเด็นที่สำคัญของประเทศ คือ 1) การพัฒนาเศรษฐกิจ 2) การส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือ 10 S-curve

3) การพัฒนาสุขภาพสังคมและสิ่งแวดล้อม และ 4) การพัฒนาเชิงพื้นที่ ในขณะที่ทุนเพื่อพัฒนาบุคลากรจะให้น้ำหนักไปที่การวิจัยเพื่อฐานทางวิชาการและการสร้างเครือข่ายความร่วมมือนานาชาติ อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญคือการสนับสนุนตามนโยบายของภาครัฐ และงานวิจัยพิเศษ เพื่อแก้ไขปัญหาเร่งด่วนของประเทศ

ทั้งนี้ วช.วางแผนระบบพัฒนาบุคลากรด้านวิจัยและนวัตกรรมไว้ 4 ระดับ คือ นักวิจัยรุ่นเยาว์ (young researcher) มีทุน cofunding อาชีวศึกษา และระดับมหาวิทยาลัย, นักวิจัยรุ่นใหม่ (junior researcher) มีทุนส่งเสริมนักวิจัยรุ่นใหม่ ทุนพัฒนาการทำงานวิจัยของอาจารย์รุ่นใหม่ ทุนวิจัยเพื่ออุตสาหกรรม ตามมาด้วยนักวิจัยรุ่นกลาง มีทุนพัฒนานักวิจัยรุ่นกลาง (midcareer researcher) และระดับนักวิจัยอาวุโส (senior researcher) มีทุนศาสตราจารย์วิจัยดีเด่น และทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัย (เมธีวิจัยอาวุโส)

สำหรับการขยายความด้านวิจัย และนวัตกรรม ประเด็นสำคัญในปีงบประมาณ 2563 นั้น วช.ระบุว่า ในการพัฒนาเศรษฐกิจจะให้น้ำหนักเรื่อง “พลังงานสีเขียว” โดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนาเชื้อเพลิงทดแทนที่ผลิตจากของเสีย ทดแทนการใช้น้ำมันดีเซล และก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) นวัตกรรมการผลิตไฟฟ้า วัสดุก่อสร้างอาคารเพื่อลดการใช้พลังงาน และข้อเสนอแนะในการกำหนดนโยบายการใช้พลังงานทดแทน และใช้ประโยชน์ชุมชนสีเขียว

ตามมาด้วยการคมนาคมขนส่งระบบราง โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมระบบขนส่งทางราง ยกระดับบุคลากรด้านวิศวกรรมที่เกี่ยวข้องกับระบบรางและการเดินรถไฟ มาตรฐาน และเครือข่ายหน่วยงานทดสอบด้านระบบขนส่งทางรางที่จำเป็นสำหรับการผลิตของอุตสาหกรรมไทย

ส่วนการพัฒนาสุขภาพ สังคม และสิ่งแวดล้อม จะเน้นไปที่การพัฒนาคนในศตวรรษที่ 21 โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาฝีมือแรงงานให้แข่งขันในเวทีโลกได้ สำหรับสถานประกอบการมีความพร้อมทั้งด้านแรงงาน และการแข่งขันทางเศรษฐกิจ หน่วยงานต่าง ๆ สามารถนำผลวิจัยไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาคุณภาพฝีมือแรงงาน รวมถึงฐานข้อมูลแรงงานที่สามารถนำไปใช้วางแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจ และสอดรับกับนโยบายการพัฒนาแรงงาน

นอกจากนี้ การส่งเสริมการวิจัยในการสร้างความเข้มแข็งเชิงพื้นที่ ที่จะมีการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะ (smart farm) เมืองอัจฉริยะ และเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ รวมถึงการวิจัยเพื่อท้องถิ่น เพื่อพัฒนาฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมในชุมชนอย่างยั่งยืน ตั้งรับเรื่องสังคมสูงวัย การเข้าถึงระบบบริการของภาครัฐ รักษา อนุรักษ์และใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้านต่อไป


ทั้งนั้น เพื่อเป็นไปตามแผนดำเนินงานดังกล่าวข้างต้น คาดว่าจะใช้งบประมาณ 1,840 ล้านบาท เพื่อให้การวิจัยและนวัตกรรมของชาติเป็นระบบและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ที่ต้องการพัฒนาให้ไทยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันบนเวทีโลกที่กำลังขับเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยเทคโนโลยี