เอกชนขยับเปิดร.ร.พื้นที่อีอีซี แข่งดุสู้ด้วยคุณภาพ-ตอบโจทย์นักเรียน

ธุรกิจการศึกษาพื้นที่ EEC ขยับ เอกชนขยาย ร.ร.ในชลบุรี-ระยอง และฉะเชิงเทรา เพิ่มอีก 12 แห่ง เอกชนเผยการแข่งขันสูง ร.ร.มีมากกว่าความต้องการ แถมต้องแข่งกับ ร.ร.รัฐในพื้นที่ ลุ้น ศก.ขยายตัว อาจมี ร.ร.ใหม่จ่อเข้าระบบเพิ่ม

รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ รายงานถึงสถาบันการศึกษาเพื่อรองรับการขยายตัวของพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC (Eastern Economic Corridor) ว่า การจัดตั้งโรงเรียนโดยเฉพาะโรงเรียนเอกชนนั้นขึ้นอยู่กับการประเมินสถานการณ์ความเหมาะสมในการลงทุน สำหรับโรงเรียนที่ได้เริ่มทยอยเปิดใหม่ในปีนี้ และเตรียมจะเปิดใหม่อย่างเป็นทางการ แบ่งเป็น

1) ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี โรงเรียนประเภทสามัญศึกษา หรือโรงเรียนที่จัดการศึกษาตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการระดับต่าง ๆ คือ ระดับก่อนประถมศึกษา(เตรียมอนุบาล/อนุบาล) ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา ที่อยู่ระหว่างจัดตั้งรวม 3 แห่ง แจ้งความสนใจที่จะจัดตั้งโรงเรียนอีก 2 แห่ง

2) พื้นที่จังหวัดระยอง โรงเรียนประเภทสามัญศึกษา อยู่ระหว่างจัดตั้ง 2 แห่ง และโรงเรียนนอกระบบ หรือโรงเรียนที่จัดการศึกษาโดยมีความยืดหยุ่นในการกำหนดจุดมุ่งหมาย รูปแบบวิธีการจัดการศึกษา ระยะเวลาของการศึกษา การวัดและประเมินผล และยังแบ่งออกเป็นประเภทโรงเรียนสอนศาสนา, ศิลปะ และกีฬา ประเภทวิชาชีพ, กวดวิชา, สร้างเสริมทักษะชีวิต สถาบันการศึกษาปอเนาะ และศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิดรวม 4 แห่ง

และ 3) พื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา โรงเรียนประเภทสามัญศึกษา อยู่ระหว่างจัดตั้ง 2 แห่ง และโรงเรียนนอกระบบรวม 1 แห่ง ทั้งนี้ เมื่อประเมินตามข้อมูลจำนวนโรงเรียนเอกชนในพื้นที่ EEC รวมทุกประเภท คือโรงเรียนสามัญศึกษา โรงเรียนนานาชาติ และโรงเรียนนอกระบบทั้งสิ้น 729 แห่งเป็นโรงเรียนสามัญศึกษา 175 แห่ง โรงเรียนนานาชาติ 12 แห่ง และโรงเรียนนอกระบบ 542 แห่ง

อย่างไรก็ตาม ในการขออนุญาตจัดตั้งโรงเรียนในทุกพื้นที่จะดำเนินการยื่นขออนุญาตที่สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด ซึ่งส่วนใหญ่จะยื่นคำขอจัดตั้งช่วงเดือนกุมภาพันธ์เพื่อเปิดภาคเรียนการศึกษาตามวงรอบในเดือนพฤษภาคม

ด้าน “ดร.นาฎฤดี จิตรรังสรรค์” ผู้อำนวยการโรงเรียนสุจิปุลิ ซึ่งเป็นหนึ่งในโรงเรียนเปิดใหม่เมื่อต้นปี 2562 ที่ผ่านมา บนพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวว่า ธุรกิจการศึกษาถือว่ามีความสำคัญไม่น้อยกว่าธุรกิจอื่น ๆ เพราะเป็นการสร้างฐานของคนเพื่อรองรับความต้องการของคนทำงานในอนาคต เมื่อประเมินจากโรงเรียนในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทราพบว่ามีโรงเรียนเอกชนค่อนข้างน้อยประมาณ 10 แห่ง สวนทางกลับโรงเรียนของรัฐที่มีเกือบ 300 แห่ง

สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ คือ คุณภาพของหลักสูตรที่แต่ละโรงเรียนต้องให้ความสำคัญและต้องมีการตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ในแต่ละพื้นที่จะมีโรงเรียนที่ได้รับความนิยม อย่างเช่น โรงเรียนอนุบาลวัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์ โรงเรียนวัดเมืองใหม่ ที่ปัจจุบันมีจำนวนนักเรียนอยู่ที่ 4,000-5,000 คน โดยในแต่ละปีจะมีนักเรียนที่ไม่ได้รับการคัดเลือก โรงเรียนเอกชนในพื้นที่จะกลายเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ดังนั้น ในแต่ละโรงเรียนจึงต้องชูจุดเด่นที่มีความแตกต่างจากโรงเรียนเดิม ๆ ในพื้นที่ รวมถึงจะต้องแข่งขันกันด้วยคุณภาพของหลักสูตรที่นักเรียนให้ความสนใจอีกด้วย

“ถ้ามองว่าเศรษฐกิจในพื้นที่ EEC จะขยายตัวมากขึ้น เท่ากับว่าคนในพื้นที่จะมากขึ้นนั้นยังไม่ได้ส่งผลมากนักต่อการตัดสินใจลงทุนธุรกิจการศึกษา เพราะโรงเรียนเดิมที่มีอยู่ยังรองรับได้อีกมาก อาจจะต้องรอดูภาพรวมของเศรษฐกิจว่าจะขยายตัวได้ตามที่มีการคาดการณ์ไว้หรือไม่”

ดร.นาฎฤดีกล่าวเพิ่มเติมว่า ในแง่ของการแข่งขันเชิงธุรกิจโรงเรียนสุจิปุลิสามารถดึงดูดความสนใจให้เข้ามาเรียนได้แน่นอน เนื่องจากเป็นหลักสูตรแนวใหม่ที่เน้นสร้างสมรรถนะให้กับผู้เรียนผ่านหลักสูตรที่เรียกว่า 7 Habit เช่น บีโปรแอ็กทีฟ จุดมุ่งหมายในใจ ทำสิ่งที่สำคัญก่อน คิดแบบชนะ เข้าใจผู้อื่นก่อนให้ผู้อื่นเข้าใจเรา ฯลฯ ซึ่งในปัจจุบันมีการใช้เป็นหลักสูตรอบรมผู้บริหารระดับสูง อีกด้วย


ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC (Eastern Economic Corridor) เป็นนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการส่งเสริมการลงทุน พร้อมทั้งยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศ เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และทำให้เศรษฐกิจของไทยเติบโตในระยะยาว โดยในระยะแรกนั้นรัฐบาลมุ่งเน้นไปที่พื้นที่ 3 จังหวัดในภาคตะวันออก คือ จังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา โดยต้องการส่งเสริม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ เป็นต้น