‘EDUCA’ ชู ‘SLC’ ในไทย ผ่านการเรียนรู้ปรัชญา 3 ด้าน

แนวคิด SLC (School as LearningCommunity) หรือโรงเรียนในฐานะชุมชนแห่งการเรียนรู้ ถือเป็นเรื่องค่อนข้างใหม่ของประเทศไทย แต่อีกไม่นาน แนวคิดนี้จะไม่ใช่เรื่องใหม่อีกต่อไป เพราะปัจจุบัน SLC ขยายมาจากจุดเริ่มต้นที่ประเทศญี่ปุ่นไปสู่หลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ได้แก่ เกาหลีใต้, จีน, ไต้หวัน, สิงคโปร์, อินโดนีเซีย, เวียดนาม, เม็กซิโก และไทย

ทั้งยังเกิดเป็นเครือข่ายนานาชาติภายใต้ชื่อ “The International Network for School as Learning Community”

ทั้งนี้ ในประเทศไทยมีโรงเรียนหลายแห่งที่เริ่มนำแนวคิด SLC ไปประยุกต์ใช้ ผ่านการขับเคลื่อนของบริษัท ปิโก (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน)ผู้จัดงานมหกรรมทางการศึกษาเพื่อพัฒนาวิชาชีพครู (EDUCA) ที่ทำงานร่วมกับกลุ่มผู้อำนวยการผู้นำ(Thailand Principal Forum) โดยหนึ่งในโรงเรียนที่เห็นผลลัพธ์แล้ว คือโรงเรียนวัดใหม่กระทุ่มล้ม เขตหนองจอกกรุงเทพมหานคร

“อ.มาซาอากิ ซาโต” อดีตครูใหญ่โรงเรียนประถมฮิโรมิ และโรงเรียนมัธยมต้นกักคุโย เมืองฟูจิ จังหวัดชิสุโอกะ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้าน SLC อธิบายว่า SLC เป็นเรื่องของวิสัยทัศน์ ปรัชญา และระบบกิจกรรมที่เด็ก ครู ผู้อำนวยการโรงเรียน ผู้ปกครองและชุมชน สามารถเรียนรู้จากกันและกันได้ตลอดเวลา เพื่อให้เด็กทุกคนได้รับสิทธิในการเรียนรู้อย่างเท่าเทียม

“หลักการสำคัญของแนวคิด SLC คือทำให้ผู้เรียนได้รับการเรียนรู้อย่างดีที่สุด ผ่านปรัชญาการศึกษา 3 ด้าน คือ หนึ่ง public philosophy ปรัชญาว่าด้วยส่วนรวม และความเป็นสาธารณะห้องเรียนและโรงเรียน คือ พื้นที่ในการเรียนรู้ของทุกคน โดยไม่มีใครเป็นเจ้าของเพียงฝ่ายเดียว สอง democracyphilosophy ปรัชญาว่าด้วยประชาธิปไตย เป็นการใช้ชีวิตอยู่กับผู้อื่นอย่างเคารพ รับฟังเสียงของทุกคนและไม่ทอดทิ้งใครให้อยู่เพียงลำพังในห้องเรียน สาม excellence philosophy ปรัชญาว่าด้วยความเป็นเลิศ เพราะเด็กทุกคนมีความแตกต่างกัน ดังนั้น พวกเขามีสิทธิพัฒนาศักยภาพเพื่อก้าวไปสู่ความเป็นเลิศตามแนวทางของตัวเอง”

“เพียงจิต สีดาสมุทร์” ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดใหม่กระทุ่มล้ม ให้ข้อมูลว่า “เดิมการสอนของครูจะเป็นทางเดียวไม่ใช่การสื่อสารสองทาง ทำให้นักเรียนไม่มีส่วนร่วมกับการเรียนการสอนเท่าที่ควร แต่เมื่อนำแนวคิด SLC มาใช้ ปรากฏว่าครูทุกคนปรับวิธีการสอนใหม่ทั้งหมด โดยเน้นการทำกิจกรรมที่ให้นักเรียนทุกคนมีส่วนร่วมกับการเรียนรู้ ส่งผลให้บรรยากาศการเรียนในห้องเรียนดีขึ้น และอัตราการขาดเรียนของนักเรียนลดลง ขณะเดียวกัน เรากำหนดให้การเปิดห้องเรียนเป็นกิจกรรมสะท้อนแนวคิดภายในโรงเรียน เพื่อให้ครูทุกคนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้วิธีการสอนระหว่างเพื่อนครูด้วยกัน”

“นอกจากนั้น ผู้ปกครองและชุมชนยังเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนอย่างใกล้ชิดผ่านการเข้ามาร่วมสังเกตการสอนในชั้นเรียน แล้วสะท้อนมุมมองให้ครูฟังผ่านการประชุมกลุ่มว่า เขาเห็นลูกหลานเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร และต้องการให้ครูเพิ่มเติมวิธีการสอนในด้านใดบ้าง”

“ดร.นิภาพร กุลสมบูรณ์” ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา บริษัท ปิโก (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ผ่านมาปิโกจัดงาน SLC Symposium รวมถึงแปลและตีพิมพ์หนังสือด้าน SLC ออกมาหลายเล่ม ตลอดจนยังเคยนำเรื่อง SLCมาเป็นแนวคิดหลักในการจัดงาน EDUCA อีกด้วย

“ในส่วนของโรงเรียนวัดใหม่กระทุ่มล้มเป็นตัวอย่างที่ดีของโรงเรียนที่สามารถจัดการเรียนรู้แบบ SLC อย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้แนวคิด SLC ในการพัฒนาโรงเรียนมาแล้ว 1 ปีการศึกษา ส่งผลให้เกิดการพัฒนานักเรียนให้เป็นไปตามจุดประสงค์ของการเรียนรู้ ขณะที่นักเรียนก็สนุกกับการเรียนมากขึ้น”

จึงทำให้โรงเรียนวัดใหม่กระทุ่มล้มแห่งนี้ได้รับการคัดเลือกให้เป็นแหล่งศึกษาดูงานของนักการศึกษาจากทั่วโลกที่เข้าร่วมการประชุมนานาชาติ SLC ซึ่งจะเกิดขึ้นภายใต้งาน EDUCA 2019 ภายในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!