“ราชินีบน” รักษาฐานเด็กเล็ก ใช้สะเต็มกระตุ้นคิดนวัตกรรม

อัตราการเกิดใหม่ของประชากรไทยที่ลดลงในช่วงที่ 10 ปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อธุรกิจการศึกษาให้ต้องปรับตัว และพัฒนาการเรียนการสอนให้ตอบโจทย์กับโลกยุคปัจจุบัน

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ “กนกทิพย์ ร่มเย็น” หัวหน้าแผนกการศึกษาปฐมวัย โรงเรียนราชินีบน ในโอกาส “OPEN CLASS” ซึ่งราชินีบนถือเป็นโรงเรียนที่ผ่านร้อนหนาวมากว่า 90 ปี ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลกด้วยเทคโนโลยี ทำให้ต้องคิด และพัฒนาการสอนให้นักเรียนเติบโตด้วยการคิดค้น รอบรู้ และสร้างนวัตกรรมกันตั้งแต่ระดับอนุบาล ด้วยการสอนในรูปแบบของ “สะเต็ม” (STEM)

“กนกทิพย์” อธิบายปูพื้นให้เข้าใจถึงคำว่าสะเต็มก่อนว่า เป็นการเรียนการสอนที่นำศาสตร์มาผสมผสานกัน คือ วิทยาศาสตร์ (science) เทคโนโลยี (tecnology) วิศวกรรม (engineering) และคณิตศาสตร์ (mathematics) ในช่วงแรกคุณครูผู้สอนค่อนข้างกังวล และตั้งคำถามว่า แต่ละศาสตร์ที่ว่ามานี้หนักเกินกว่าที่เด็กเล็กจะเรียนรู้หรือเปล่า ซึ่งผู้ผลักดันหลักสูตรนี้คือ “ดร.พิรุณ ศิริศักดิ์” ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้นำสะเต็มไปใช้กับเด็กโตแล้วพบว่าได้ผล จึงเกิดความคิดว่าหากจะนำมาใช้กับเด็กเล็กบ้าง จะมีความเป็นไปได้หรือไม่ แต่เมื่อได้ฝึกอบรมครูให้เข้าใจถึงสะเต็มมากขึ้นแล้ว ครูผู้สอนจึงมีความมั่นใจมากขึ้น เพราะสะเต็มที่ว่าคือเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวในชีวิตประจำวันของนักเรียนอยู่แล้ว อย่างวิศวกรรมสำหรับเด็กคือ “การออกแบบ”

แนวทางการสอนมีการสร้างโจทย์ให้เด็กเรียนรู้เรื่องบ้านว่า การสร้างบ้านต้องเริ่มต้นจากการออกแบบ และเทคโนโลยี คือ “การสืบค้นข้อมูล” ถ้าให้เข้าใจง่าย ๆ เทคโนโลยีคือการใช้ชีวิตประจำวันที่ครูสอนให้กับเด็กเท่านั้นเอง

เมื่อนำสะเต็มเข้ามาใช้ในการเรียนการสอนแล้ว “กนกทิพย์” บอกว่า ยิ่งทำให้ครูแยกแยะแต่ละศาสตร์ได้ชัดเจนมากขึ้น ในส่วนของเด็กก็ไม่รู้ตัวว่าได้เรียนรู้ไปโดยปริยาย อย่างที่ยกตัวอย่างเรื่องบ้าน เด็ก ๆ จะกลับไปสำรวจบ้านของตัวเอง ว่ามีห้องอะไรบ้าง จากนั้นเด็ก ๆ ก็อยากสร้างห้องของตัวเองผ่านกระดาษ เมื่ออยากสร้างห้องก็จะต้องมีการวัดขนาดประตู หน้าต่าง ความกว้าง ความยาว ควรเท่าไหร่ ได้เรียนคณิตศาสตร์อย่างไม่รู้ตัว และสนุกอีกด้วย

เด็กที่ผ่านการเรียนด้วยสะเต็มจะมีลักษณะเด่น คือ มีความคิดสร้างสรรค์ กล้าพูด กล้าแสดงออก รู้วิธีการสืบค้นข้อมูล และอาจจะไม่ได้สืบค้นด้วยตัวเองก็ได้ อย่างเช่น การขอความช่วยเหลือจากผู้ปกครอง ถึงตรงนี้ “กนกทิพย์” เล่าอีกว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ในชั้นเรียนได้ให้นักเรียนทำการบ้านเรื่องโซลาร์เซลล์ เมื่อกลับบ้าน เด็กจะมีหัวข้อการสนทนาในครอบครัวให้ได้แลกเปลี่ยนกัน

“การต่อยอดจากการใช้สะเต็มในชั้นเรียน คือ การจุดประกายเพื่อสร้างนวัตกรรมให้กับเด็ก พวกเขาจะรู้จักคิดอย่างสร้างสรรค์ หลุดกรอบ อย่างเรื่องโซลาร์เซลล์ที่ครูขยายผลคำถามได้อีกว่า โซลาร์เซลล์มาจากไหน เป็นพลังงานได้อย่างไร เขาก็จะตอบว่าแสงอาทิตย์ และยังนำไปใช้ประโยชน์ได้อีกด้วย เพราะจะมีสายไฟ และมีที่เก็บพลังงาน ซึ่งเด็กจะเข้าใจคำว่า พลังงานทดแทน จนทำให้ครูผู้สอนต่อยอดความรู้ไปได้อีก”

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้จัดกิจกรรม OPEN CLASS เชิญหน่วยงานภายนอกเข้ามาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ไม่ได้มุ่งไปที่รับนักเรียนเพิ่มขึ้น เพราะเมื่อดูจากสถานการณ์ภาพรวมทั้งระบบจำนวนนักเรียนลดลงมาก แค่รักษาฐานเดิมที่มีอยู่ก็ยากแล้ว แต่สิ่งที่หวังคือ การใช้สะเต็มกับเด็กปฐมวัย เพื่อให้นักเรียนมีความสนุก และมีความสุขไปกับการเรียน จนอยากมาโรงเรียน เพียงแค่นั้นคือสิ่งที่เราต้องการ แต่ก็มีสิ่งที่ตามมาเพิ่ม คือ “การเขียน” ของเด็ก ๆ

“กนกทิพย์” ระบุในตอนท้ายว่า ปัจจุบันธุรกิจการศึกษามีการแข่งขันสูงมาก อย่างระดับอนุบาลมีการเปิดเนิร์สเซอรี่เพิ่มขึ้น และมีการเปิดโรงเรียนอนุบาลใหม่ ๆ อีกด้วย แต่สำหรับราชินีบน คิดว่าการรักษาฐานนักเรียนไว้ในจำนวนเท่านี้ โดยไม่ให้จำนวนเด็กลดลงถือว่าเก่งแล้วในยุคนี้ เพราะด้วยจุดแข็งเดิมที่มีอยู่มาผนวกกับการนำสะเต็มเข้ามาปรับใช้ในการเรียนการสอน ช่วยให้เด็กเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง และเขาจะพึ่งพาตัวเองในการศึกษาหาความรู้ จนทำให้เด็กมีความสุขกับการเรียน และหาความรู้ได้เองอย่างยั่งยืน

“สิ่งเหล่านี้คือหลักใหญ่ใจความในการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต แต่ตอนนี้การเรียนสะเต็มโครงงานแบบบูรณาการ เด็กทุกคนของราชินีบนจะต้องมี “สุ จิ ปุ ลิ” เพราะสิ่งเหล่านี้สำคัญที่สุด เนื่องจากจะเป็นองค์ความรู้ที่ยั่งยืนตลอดไป”

คลิกอ่านเพิ่มเติมที่นี่… Behind The Scencs สะเต็มในแบบราชินีบน