อันดับงานวิจัยพัฒนาไทยร่วง กูรูผุดโปรเจ็กต์ทำเงินแทนศึกษาพื้นฐาน

งานวิจัยอัตราเพิ่มต่ำ-แข่งขันไม่ได้ คู่แข่งแซงหน้าไทยอันดับร่วงยืนที่ 4 ของอาเซียน หวั่นกระทบความเชื่อมั่นนักลงทุน-นักศึกษาต่างชาติ นักวิชาการชี้รัฐต้องเร่งหาเจ้าภาพดูแลด้านวิจัยโดยเฉพาะ หนุนงบประมาณเพิ่ม ลดขั้นตอนจดสิทธิบัตร ดันงานวิจัยออกตลาดให้ทันการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี

รศ.ดร.สุพรรณ ฟู่เจริญ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนา การตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผย”ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์การวิจัยของประเทศไทยทั้งที่เป็นผลงานตีพิมพ์เผยแพร่ในระดับนานาชาติ และผลงานที่จดสิทธิบัตรผลงานวิจัย และพัฒนาที่สามารถนำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เกิดขึ้นน้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆในภูมิภาคนี้ ส่งผลให้มีสินค้าและเทคโนโลยีที่ผลิตขึ้นจากการใช้สิทธิบัตรและเทคโนโลยีค่อนข้างน้อย และไม่แพร่หลาย

ฉะนั้น จึงพบว่าการใช้สินค้า และเทคโนโลยีในทุกภาคส่วนเป็นการ “นำเข้า”เป็นหลัก เฉพาะในส่วนของผลงานตีพิมพ์ระดับนานาชาติ หากสำรวจย้อนไปเมื่อ 15 ปีที่แล้ว (ปี 2005) ประเทศไทยมีผลงานตีพิมพ์อยู่ในลำดับที่ 43 ของโลก และเป็นลำดับที่ 2 ของ 10 ประเทศในอาเซียน เป็นรองจากประเทศสิงคโปร์ โดยมีมาเลเซียและอินโดนีเซีย ที่ยังคงตามหลังอยู่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (2015) โดยมาเลเซียผลิตผลงานตีพิมพ์สูงขึ้นเป็นอันดับ 1 ตามมาด้วยอันดับ 2 คือ สิงคโปร์ ขณะที่ไทยอยู่ในอันดับ 3 ของอาเซียน

จากการสำรวจเพิ่มเติมในช่วง 2 ปีถัดมา คือ ในปี 2017 อินโดนีเซียขึ้นแซงหน้าไทยมาอยู่ที่อันดับ 3 แทนไทย และในปี 2018 มาเลเซียยังคงยืนอันดับที่ 1 ตามมาด้วยอินโดนีเซีย และสิงคโปร์ตามลำดับ ด้านไทยอยู่ที่อันดับ 4 เท่าเดิม แสดงให้เห็นชัดเจนว่าผลงานวิจัยพื้นฐานของไทยมีปัญหา และไม่สามารถแข่งขันได้ และจากตัวเลขดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า อัตราการผลิตผลงานวิจัยของไทย “ไม่ได้ลดลง” แต่มี “อัตราเพิ่มต่ำ”

ซึ่งข้อมูลในส่วนนี้ได้มีการนำเสนอในมหาวิทยาลัยหลายครั้ง แต่ยังไม่มีผลตอบกลับใด ๆ เกิดขึ้น และเมื่อวิเคราะห์แล้วจะพบว่า ปัญหาสำคัญ คือ 1) ไทยขาดเจ้าภาพหลักที่จะดูแลเรื่องการวิจัยให้เป็นระบบและจริงจังต่อเนื่อง และ 2) หน่วยงานให้ทุนไม่ได้ให้ความสำคัญมากนัก รวมไปจนถึงหน่วยงานของภาครัฐที่กำกับดูแลไม่ได้กล่าวถึงปัญหาเหล่านี้

“ต้องหาเจ้าภาพหลักเข้ามาดูแลก่อน เข้าใจว่าทั้งรัฐบาล และหน่วยงานที่ให้ทุนวิจัย และมหาวิทยาลัยล้วนแต่ต้องการผลงานวิจัย และพัฒนามากกว่าการสร้างองค์ความรู้พื้นฐาน มีเพียงไม่กี่มหาวิทยาลัยที่ยังพัฒนาองค์ความรู้พื้นที่ ซึ่งไม่เพียงพอและมีทุนจำกัด หากสถานการณ์นี้ยังคงดำเนินไปโดยไม่มีการแก้ไข อันดับของไทยจะยิ่งถดถอยและถูกทิ้งห่างไปเรื่อย ๆ ในความเป็นจริง หากขาดองค์ความรู้พื้นฐานจะไม่สามารถผลิตงานวิจัยและพัฒนาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยกตัวอย่างประเทศจีน ที่ปัจจุบันมีนวัตกรรมและผลิตสินค้าเทคโนโลยีมากมาย ไม่ได้ละทิ้งงานวิจัยพื้นฐาน และยังแซงหลายประเทศขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 2 รองจากประเทศสหรัฐอเมริกา จุดสมดุลของปัญหานี้ คือการวิจัยและพัฒนาต้องดำเนินการควบคู่ไปพร้อมกับการวิจัยพื้นฐาน และทำให้สามารถผลิตงานได้ยั่งยืน และแข่งขันได้”

“รศ.ดร.สุพรรณ” กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในระดับนานาชาติเป็นดัชนีสำคัญในการจัดอันดับและแสดงศักยภาพทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ รวมไปจนถึงกระทบการจัดอันดับในมหาวิทยาลัยอีกด้วย เมื่ออัตราการเพิ่มขึ้นของผลงานวิจัยอยู่ในเกณฑ์ต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ดังนั้น อันดับของมหาวิทยาลัยก็ต้องได้รับผลกระทบไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และอาจจะส่งผลกระทบด้านอื่น ๆ ตามมาอีกด้วย เช่น นักศึกษาจากประเทศที่มีลำดับสูงกว่าก็จะไม่เลือกเข้ามาเรียนในไทย ซึ่งในปัจจุบันจะเห็นได้ว่ามีแต่นักศึกษาต่างชาติใกล้บ้านที่มีลำดับตามหลังไทยเข้ามาเรียนเท่านั้น

นอกเหนือจากปัญหาข้างต้นแล้ว การวิจัยยังมีปัญหาในกรณีที่จะยื่นขอจดสิทธิบัตรในไทยกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา ต้องใช้เวลาในการพิจารณานาน 4-5 ปี แม้ในช่วงที่ผ่านมาจะมีการแก้ไขขั้นตอนที่เกี่ยวข้องแล้วก็ตาม ซึ่งการใช้เวลานานได้ส่งผลกระทบต่อการผลิตสินค้าออกสู่ตลาด ที่ไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และเมื่อนำออกสู่ตลาดแล้วก็ตาม แต่เทคโนโลยีจะอยู่ในตลาดได้เพียง 3-5 ปี จากนั้นจะถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยีใหม่ทันที หากยังต้องใช้เวลาในการจดสิทธิบัตรอย่างน้อย 5 ปี ถือว่า “ไม่ทัน” ต่อการเปลี่ยนแปลงแน่นอน ที่สำคัญ อาจจะได้สิทธิบัตรที่ล้าสมัยไปแล้ว จึงไม่สามารถนำไปผลิตสินค้าจำหน่ายได้อีกต่อไป

“ผลงานวิจัยเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก ต้องเซตทีมงานขึ้นมาดูแลแบบจริงจังทั้งภาครัฐและเอกชน หากไปย้อนดูข้อมูลของมาเลเซีย จากการวิเคราะห์ทำให้ได้คำตอบว่า มีมหาวิทยาลัยวิจัยเพียง 5 แห่ง ในการผลิตผลงานวิจัยให้ประเทศ และภาครัฐสนับสนุนด้านงบประมาณอย่างเต็มที่ ขณะที่อินโดนีเซีย จากเดิมที่มีปัญหาในการวิจัย ในปี 2016 ได้ออกโปรแกรมให้ทุนด้านวิทยาศาสตร์ผ่าน Indonesia Science Fund เพื่อทำวิจัยสำคัญ จนสามารถผลิตงานเพิ่มขึ้นอีกจำนวนมาก ในขณะที่ไทยไม่มีการดูแลส่งเสริมอย่างจริงจัง แล้วยังมีงบฯสนับสนุนค่อนข้างน้อย รวมถึงนักวิจัยส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่การวิจัยประยุกต์ หรืองานวิจัยและพัฒนา ทั้งที่งานวิจัยพื้นฐานยังไม่เข้มแข็งเพียงพอ”

รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้จัดสัมมนาวิชาการและระดมความคิดเห็น”ทิศทางการวิจัยกับประเทศไทยในอนาคต” : บูรณาการราชบัณฑิต ภาคีสมาชิก ผู้ทรงคุณวุฒิ และเมธีวิจัยอาวุโสและได้เปิดเวทีให้นักวิจัยได้นำเสนอผลงานวิจัยที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ EEC รวมถึงการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนของประเทศ การนำเสนอผลงานแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแพทย์ ทันตแพทย์ เทคนิคการแพทย์ และสัตวแพทย์ มีหลายงานวิจัยที่น่าสนใจ เช่นการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุที่จะมีจำนวนมากขึ้นในอนาคต การศึกษาในเรื่องภาวะไตวายเฉียบพลัน การวิจัยเรื่องธาลัสซีเมีย การศึกษาหาความเสี่ยงของการเกิดโรคพาร์กินสัน ให้สามารถคัดกรองได้ล่วงหน้า เพราะปัจจุบันผู้ป่วยเข้ามาพบแพทย์ภายหลังจากที่อาการของโรคดำเนินไปกว่า 50% แล้ว รวมไปจนถึงโรคมะเร็งในตับ

นอกจากนี้ ในส่วนของกลุ่มวิศวกรรม อุตสาหกรรมวิจัย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีชีวภาพ พลังงาน เทคโนโลยีสารสนเทศ ที่มีการนำเสนอผลงานวิจัยใช้สาหร่าย เป็น renewable energy โดยการหาทางนำไขมันมาผลิตไบโอดีเซล และนำคาร์โบไฮเดรตไปผลิตไบโอเอทานอล ซึ่งทำได้ง่ายกว่าพืชน้ำมันชนิดอื่น ๆ เนื่องจากเลี้ยงง่าย นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยศึกษาความหลากหลายของเห็ดในภาคเหนือ พบเห็ดทรัฟเฟิลชนิดใหม่ คือ ทรัฟเฟิลขาวเทพสุคนธ์ และการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการผลิตไบโอพลาสติกจากแอคติโนแบคทีเรีย

ทั้งนี้ ยังมีการวิจัยเพื่อแปรสภาพผลผลิตทางการเกษตรสู่การเพิ่มมูลค่า ในรูปแบบ biorefinery ด้วยการเปลี่ยน resource จากฟางข้าว ไปสู่อุตสาหกรรมปิโตรเคมี เพราะต้องการช่วยแก้ปัญหาเกษตรกรรายได้ต่ำ ทำอย่างไรให้เพิ่มมูลค่าภาคการเกษตร ให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการประยุกต์ใช้แบบจำลองเชิงคณิตศาสตร์ ในการแก้ไขปัญหาทางวิศวกรรมโยธา nano engineering application เน้นไปที่พฤติกรรมโครงสร้างภายใต้แรงแผ่นดินไหว การศึกษาปัญหาเสาเข็มภายใต้การรับแรงแผ่นดินไหว เพื่อทำนายผลการตอบสนอง และยังศึกษาเพิ่มเติมถึงปัจจุบันไทยสามารถเกิดแผ่นดินไหวได้ ในขณะที่โครงสร้างส่วนใหญ่ไม่ได้รองรับ มีความพยายามที่จะสร้างแบบจำลองการแตกร้าวจากแผ่นดินไหวด้วย และการวิจัยบทบาทของศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ เพราะไทยเป็นศูนย์กลางการลงทุนด้าน clinical research ของอุตสาหกรรมยา

อย่างไรก็ตามปัจจุบัน วช.ได้เปิดให้ผู้สนใจยื่นขอสนับสนุนการวิจัยแล้ว โดยเน้นผลงานที่มาช่วยแก้ “ปัญหาเร่งด่วนของประเทศ” โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับการยกระดับคุณภาพชีวิต เสริมสร้างสุขภาพที่แข็งแรง เพื่อเตรียมเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต และที่สำคัญคือการส่งเสริมอุตสาหกรรมเพื่อสร้างบรรยากาศการลงทุนให้กับประเทศ

ปัจจุบัน สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช. บริหารองค์กรโดย นายแพทย์ ศิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เป็นผู้อำนวยการ บทบาทสำคัญของ วช.คือเป็นผู้ดูแลงานวิจัยภาพรวมของประเทศทั้งหมด และมีกองทุนที่ใช้เพื่อสนับสนุนการวิจัยอีกราว3 กองทุน และในอนาคตมีแผนที่จะขยายกองทุนเพิ่มเติม เพื่อให้การส่งเสริมงานวิจัยมีความครอบคลุมมากขึ้น