โปรเจ็กต์”ศูนย์เรียนรู้”สะดุด OKMD เล็งพท.ใหม่ ขอเช่าที่”อสมท-จุฬาฯ”

โมเดลศูนย์เรียนรู้ - OKMD ออกแบบศูนย์เรียนรู้แห่งชาติ โดยมีต้นแบบมาจากลุมพินีสถานที่เจรจาขอเช่ามากว่า 1 ปี ล่าสุดได้เปลี่ยนแผนใหม่เข้าเจรจา 3 พื้นที่เหมาะสมในการตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้ฯในอนาคต
โปรเจ็กต์ศูนย์การเรียนรู้แห่งชาติชะงัก หลัง กทม.ปฏิเสธการขอเช่าพื้นที่ลุมพินีสถาน OKMD เล็งเจรจาใช้ 3 พื้นที่ใหม่ เน้นตอบโจทย์ใช้งาน สร้างโอกาสทุกคน ทุกเพศทุกวัยเข้าถึงความรู้ ล่าสุดเปิด TK Alive ใจกลางเมืองที่เซ็นทรัลเวิลด์ ชูคอนเซ็ปต์ “ที่นี่ ที่ไหน ก็อ่านได้”

แหล่งข่าวจากแวดวงการศึกษาเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตามที่สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ หรือ OKMD มีแนวคิดจัดตั้ง “ศูนย์การเรียนรู้แห่งชาติ” เพื่อให้ประชาชนที่สนใจ นักเรียน นักศึกษาได้เข้ามาใช้ประโยชน์ในการหาความรู้ หรือฝึกอบรมในวิชาชีพที่น่าสนใจนั้น จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปเรื่องพื้นที่ว่าจะใช้พื้นที่ใด เนื่องจากก่อนหน้านี้ได้หารือกับ กทม.เพื่อขอใช้พื้นที่ของอาคารลุมพินีสถาน สวนลุมพินี ที่มีสวนอเนกประสงค์เนื้อที่ 360 ไร่ ซึ่งสามารถใช้เพื่อทำกิจกรรมอื่น ๆ ร่วมด้วย อย่างเช่น การจัดกิจกรรมสันทนาการ แต่ล่าสุด กทม.ได้ปฏิเสธ เพราะเตรียมพื้นที่ไว้ใช้ประโยชน์ด้านอื่นก่อนแล้วดังนั้น สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ จึงวางทางเลือกในพื้นที่อื่น ๆ เพิ่มเติมที่ คาดว่าจะสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ใน 3 พื้นที่ คือ 1) พื้นที่ของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ที่อยู่ใกล้เคียงกับศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย รวมพื้นที่ใช้สอยทั้งสิ้น 50 ไร่ ซึ่งจะแบ่งพื้นที่ให้เช่าประมาณ 20 ไร่ 2) พื้นที่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยบริเวณด้านหลังสามย่าน และ 3) พื้นที่บริเวณสถานีรถไฟฟ้าบางซื่อ ที่ถือว่าเป็นจุดศูนย์รวมการเดินทาง ในระหว่างเดินทางสามารถเข้ามาใช้บริการในศูนย์การเรียนรู้ได้

“ต้องหาที่ที่เหมาะสม และราคาค่าเช่าไม่สูงมากนัก ในเบื้องต้นที่ลุมพินีสถานถือว่าตอบโจทย์ในการพัฒนาขึ้นเป็นศูนย์การเรียนรู้ได้ หารือกันมาเป็นปี แต่เนื่องจากทางสวนลุมพินีต้องการนำไปใช้ประโยชน์ด้านอื่น ๆ ทำให้ยังสรุปเรื่องสถานที่ไม่ได้ ทาง OKMD เองต้องการผลักดันให้เกิดศูนย์การเรียนรู้นี้ เพราะปัจจุบันองค์ความรู้ต่าง ๆ ไม่ได้จำกัดว่าต้องหาได้จากสถานศึกษาหรือมหาวิทยาลัยเท่านั้น และกลุ่มเป้าหมายของเราที่นอกเหนือจากนักเรียน นักศึกษา ยังสามารถให้ผู้ที่เรียนจบต้องการเพิ่มทักษะ เช่น การใช้เทคโนโลยีและอื่น ๆความล่าช้าของโปรเจ็กต์นี้ก็อาจทำให้ผู้สนใจเข้ามาใช้บริการเสียโอกาสที่จะเข้าถึงความรู้ใหม่ ๆ ได้” แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวกล่าวเพิ่มเติมอีกว่าขณะนี้หลายประเทศในภูมิภาคอาเซียน อย่างเช่น สิงคโปร์, มาเลเซีย, เวียดนาม และบรูไนค่อนข้างให้ความสำคัญในการพัฒนาพื้นที่และแหล่งเรียนรู้สาธารณะเพื่อใช้เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยน และพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ ๆ มาจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมสุขภาพ สำหรับประชาชนทุกเพศ ทุกวัย และทุกสาขาอาชีพ หรือแม้แต่ในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างประเทศญี่ปุ่น มีการทำโครงการ Knowledge Capital ที่โอซากา ที่มีเป้าหมายไปที่กลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ เป็นการสร้างศูนย์เรียนรู้ด้านเทคโนโลยีมาใช้ขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจที่ยั่งยืน พร้อมทั้งยกระดับสู่การเป็นสังคมและเศรษฐกิจฐานความรู้ หรือ Knowledge Economy อีกด้วย

รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่าเหตุผลที่ต้องผลักดันให้เกิดศูนย์เรียนรู้ดังกล่าวนั้น เพราะต้องการให้คนไทยทุกช่วงอายุ สามารถเข้าถึงความรู้โดยไม่มีข้อจำกัด รวมถึงยังสามารถสร้างโอกาสและแรงบันดาลใจ ที่อาจจะนำไปสู่การพัฒนาอาชีพของตัวเองต่อไปในอนาคต

ก่อนหน้านี้สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ได้วางแผนใช้พื้นที่อาคารลุมพินีสถานเป็นที่ตั้งศูนย์การเรียนรู้แห่งชาติดังกล่าว โดยจะดำเนินการปรับปรุงอาคารเดิม ขยายพื้นที่ชั้นใต้ดิน นอกจากนี้ ยังวางแผนที่จะปรับพื้นที่ภายในอาคารเดิม และต่อเติมอาคารด้านหลัง ฯลฯ ซึ่งทำให้มีพื้นที่ใช้สอยมากขึ้นรวมประมาณ14,000 ตารางเมตร ภายหลังจากที่ กทม.ปฏิเสธการขอเข้าใช้พื้นที่จึงต้องหาพื้นที่ใหม่ดังกล่าวข้างต้น