“ม.กรุงเทพ” เพิ่มทางเลือกในสาขาการบิน ดึงเด็กเรียนปฏิบัติการลานจอด-รันเวย์

ม.กรุงเทพปรับหลักสูตรการจัดการธุรกิจสายการบิน เพิ่มทางเลือกการเรียนด้านการปฏิบัติงานลานจอดอากาศยาน ปี”63 คาดรับ น.ศ.ลอตแรกได้ 600 คน สวนทางนักบินล้นตลาดตกงานอื้อ เชื่อมั่นในจุดแข็งที่สร้างบัณฑิตให้เป็นได้มากกว่าแอร์-สจ๊วต การันตีเรียนจบได้งานทำทันที 100% ทั้งสายการบินในไทยและต่างชาติ

ดร.จิราพร เกิดชูชื่น คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และการจัดการการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สาขาวิชาการจัดการธุรกิจสายการบิน ยังคงได้รับความนิยมจากนักศึกษาเป็นจำนวนมาก โดยในปีการศึกษา 2562 ที่ผ่านมามีนักศึกษาสมัครเรียนจน “ล้น” และต้องประกาศปิดรับสมัครเร็วขึ้นจากเดิมที่คาดไว้ ส่วนหนึ่งมาจากเมื่อประเมินศักยภาพของสาขาการจัดการธุรกิจสายการบินในปัจจุบันสามารถรับนักศึกษาได้เพียง 600 คนเท่านั้น เพื่อให้การเรียนการสอนได้รับการดูแลจากอาจารย์ผู้สอนได้อย่างเต็มที่และมีคุณภาพ ทั้งนี้ ภายหลังจากการสำรวจความต้องการของทั้งสายการบินทั้งในและต่างประเทศที่เป็นพันธมิตรกับมหาวิทยาลัยกรุงเทพ พบว่าแม้ว่าบุคลากรอย่างเช่นนักบินจะล้นตลาด แต่บุคลากรที่เกี่ยวข้องในส่วนอื่น ๆ กลับมีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะรูปแบบงาน “ลานจอดอากาศยาน”

ฉะนั้น ในปีการศึกษา 2563 ที่จะถึงนี้คณะมนุษยศาสตร์ฯจึงตัดสินใจ “เพิ่มทางเลือก” ให้กับนักศึกษาที่สนใจในสาขาวิชาการจัดการธุรกิจสายการบิน จากเดิมที่มุ่งเน้นการเรียนการสอนเฉพาะการบริการผู้โดยสารบนเครื่องบิน (In-Flight Passenger Services) และการบริการผู้โดยสารภาคพื้น (Ground Passenger Services) ให้นักศึกษาสามารถเลือกเรียนด้านการปฏิบัติงานลานจอดอากาศยาน (Ramp Operations) ได้ ซึ่งนักศึกษาจะได้เรียนรู้ถึงการขนส่งสินค้าทางอากาศ การปฏิบัติงานบริเวณลานจอด และการลำเลียงอาหารและสัมภาระขึ้นเครื่อง โดยการเรียนการสอนในสาขาวิชาการจัดการธุรกิจสายการบินของ ม.กรุงเทพ มีจุดแข็งตรงที่นักศึกษาจะได้เรียนในวิชาที่หลากหลายเพื่อเพิ่มทางเลือกด้านการประกอบอาชีพ และเมื่อเรียนจบแล้วมีงานรองรับทันที ซึ่งพิสูจน์ได้จากการสำรวจนักศึกษาที่เรียนจบในปี 2560 พบว่าได้เข้าทำงานทั้งหมด 100% แบ่งเป็นได้ทำงานด้านการบินโดยตรงถึง 70% ส่วนที่เหลืออีก 30% ไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโทจนถึงปริญญาเอก

“หลักสูตรของ ม.กรุงเทพไม่ได้มุ่งให้ผู้เรียนทำงานเป็นลูกเรือเท่านั้น แต่ยังสามารถขยายไปสู่ job อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องได้ และเป็นที่ต้องการก้อนใหญ่ของตลาดการบินในปัจจุบัน ม.กรุงเทพยังเติมเรื่องงานจัดการการครัวมาไว้ในหลักสูตร นักศึกษาจะได้เรียนรู้งานจากของจริงในคลาสทั้งหมด แม้แต่อาหารที่จัดเสิร์ฟก็ใช้ของจริง เพื่อให้นักศึกษาได้รับประสบการณ์ตรงได้มากที่สุด และสาขาของเราได้รับความสนใจรับเด็กฝึกงานเพิ่มขึ้นทุกปีจากสายการบินในประเทศ และสายการบินต่างประเทศ”

ดร.จิราพร กล่าวเพิ่มเติมว่า สาขาวิชาการจัดการธุรกิจสายการบินของ ม.กรุงเทพ ที่จะเปิดรับสมัครอย่างเป็นทางการในปี 2563 นั้น คาดการณ์ว่าจะมีนักศึกษาให้ความสนใจใกล้เคียงกับปีที่แล้วแต่เมื่อประเมินศักยภาพของสาขาวิชาดังกล่าวรับนักศึกษาได้ที่ประมาณ 600 คน อย่างไรก็ตาม จะต้องประเมินความพร้อมอีกครั้งในช่วงปลายปี 2562 นี้ และหากมีนักเรียนสนใจมากอาจจะต้องเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรที่เกี่ยวข้องเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับความต้องการให้ได้มากที่สุดภายใต้มาตรฐานของ ม.กรุงทพ

ทั้งนี้ สำหรับกระแสอาชีพนักบินที่ล้นตลาด และมีอัตราการว่างงานของนักบินในประเทศกว่า 100 คนนั้น มองว่าเป็นภาพของธุรกิจที่อาจเกิดขึ้นได้เป็นเรื่องปกติ เพราะมีการปิดตัวของบางสายการบิน แต่เชื่อมั่นว่าในอนาคตเมื่อเศรษฐกิจโดยรวมดีขึ้น การเดินทางท่องเที่ยวก็จะคึกคักตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ดังกล่าวไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจสมัครเข้าเรียนของนักศึกษา เนื่องจาก ม.กรุงเทพไม่ได้มีหลักสูตรเฉพาะเพื่อสร้างนักบิน แต่เน้นไปที่การจัดการการบินที่เป็นงานบริการรวมเข้ากับการบริหารสายการบิน


รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า สำหรับคณะมนุษยศาสตร์และการจัดการท่องเที่ยว สาขาวิชาการจัดการธุรกิจสายการบิน มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้วางหลักสูตรที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด รวมถึงยังครอบคลุมหลายสายงานธุรกิจการบิน มีห้องปฏิบัติการจำลอง พร้อมทั้งมีอาจารย์พิเศษในสายอาชีพจากสายการบินชั้นนำ และมีความร่วมมือ ตลอดจนองค์กรและสายการบินชั้นนำ ที่สำคัญยังปลูกฝังการคิดอย่างผู้ประกอบการให้กับนักศึกษา โดยเบื้องต้นค่าเทอมตลอดหลักสูตรที่ใช้ในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 307,680 บาท แต่สำหรับค่าเทอมในเทอมแรกจะอยู่ที่ประมาณ 32,580 บาท