ปั้นครูรุ่นใหม่ลงพื้นที่บ้านเกิด “กสศ.”อัดฉีดทุนเรียนฟรียกระดับท้องถิ่น

ราชภัฏสุราษฎร์ฯนำร่องปั้นครูป้อนท้องถิ่น ผนึก กสศ.ให้ทุนเรียนฟรีตลอดหลักสูตร 1,500 คน ลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา ดึงคนรุ่นใหม่ปักหลักพัฒนาการศึกษาบ้านเกิด-เชื่อมโยงเป็นโครงข่ายแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ยกระดับการศึกษาในพื้นที่ห่างไกล

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่าตามที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้สนับสนุนโครงการสร้างโอกาสทางการศึกษาสำหรับนักเรียนในพื้นที่ห่างไกลเป็นครูรุ่นใหม่ เพื่อพัฒนาคุณภาพโรงเรียนของชุมชน (หรือโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น) ผ่าน 11 สถาบันระดับอุดมศึกษา ล่าสุดมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ได้ประกาศเปิดรับสมัครศึกษาอย่างเป็นทางการ สำหรับหลักสูตรสาขาการศึกษาปฐมวัย ประจำปีการศึกษา 2563 เป็นรุ่นแรก ซึ่งถือเป็นสถาบันในระดับอุดมศึกษาในพื้นที่ภาคใต้เพียง “แห่งเดียว” ในขณะนี้ที่ได้รับการคัดเลือกจาก กสศ.ให้ดำเนินการภายใต้โครงการดังกล่าว

โดยจะเริ่มเปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 1-30 ตุลาคมนี้ โดยราชภัฏสุราษฎร์ฯได้ชูคอนเซ็ปต์ “เรียนจบปุ๊บ บรรจุปั๊บ” พร้อมทั้งเปิดรับในจำนวนจำกัดด้วย โดยจะคัดเลือกจากนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือเทียบเท่า ที่มีเป้าหมายจะเป็นผู้ประกอบวิชาชีพครู มีที่อยู่อาศัยอยู่ในเขตโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล ครอบครัวมีฐานะยากจน และอยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด และต้องมีเกรดเฉลี่ยสะสม 5 ภาคเรียนในชั้น ม.ปลาย อยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 2.50 เพื่อเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐและเอกชนที่มีเปิดสอนหลักสูตรวิชาชีพครูในสาขาปฐมวัย หรือประถมศึกษา

สำหรับโครงการสร้างโอกาสทางการศึกษานั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องการผลิตคนรุ่นใหม่ และพัฒนาคุณภาพสถาบันการศึกษาให้ตรงกับความต้องการของชุมชนมาเป็นอันดับแรก ในระยะแรกนั้นจะดำเนินการรวมทั้งสิ้น 5 รุ่น มีจำนวนรุ่นละ 300 คน รวมทั้งสิ้น 1,500 คน เพื่อส่งเสริมการทำงานร่วมกันของหน่วยงานหลักในการผลิต และพัฒนาครู กับหน่วยงานที่ใช้ครูตั้งแต่ “ต้นทาง” พร้อมกันนี้ ยังปรับระบบการผลิตและพัฒนาครูให้สอดคล้องกับลักษณะของงาน หรือให้ตอบโจทย์โรงเรียนในชุมชนพื้นที่ห่างไกล และสร้างเครือข่ายให้สามารถแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกัน

กสศ.ในฐานะผู้สนับสนุนงบประมาณมีเป้าหมายที่ต้องการให้เกิดขึ้นใน 4 ประเด็นหลัก คือ 1) ต้องการลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการศึกษา สำหรับนักเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล และมีฐานะยากจน

2) ต้องการให้มีการทำงานแบบสอดประสานกัน ระหว่างหน่วยงานด้านการศึกษาระหว่างหน่วยงานการผลิตและพัฒนาครูู กับหน่วยงานที่ใช้ครูตั้งแต่ต้นทาง

3) ต้องการให้เกิดการพัฒนาระบบการผลิตและพัฒนาครู ทั้งในกระบวนการเรียน การสอน พร้อมทั้งสร้างเสริมการเป็นครู เพื่อให้ได้ครูที่มีคุณภาพและสอดคล้องกับบริบทของโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล

และ 4) ต้องการให้เกิดเครือข่ายสถาบันการผลิตและพัฒนาครูที่เข้มแข็ง เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศด้วย

สำหรับงบประมาณที่ใช้สนับสนุนทุนการศึกษาครั้งนี้ ผู้รับทุนอยู่ที่เฉลี่ย 160,000 บาท/ทุน/ปี อันประกอบไปด้วย ค่าธรรมเนียมการศึกษาที่ 40,000 บาท/ปี ค่าที่พัก 2,000 บาท/เดือน ค่าครองชีพที่ 6,000 บาท/เดือน และค่าตำราและอุปกรณ์การเรียนที่จำเป็น สำหรับผู้ได้รับทุนนั้น นอกจากจะต้องศึกษาแล้ว ยังต้องพัฒนาศักยภาพของตัวเองด้วย พร้อมทั้งรายงานผลตามเงื่อนไขของโครงการให้กับ กสศ.อีกด้วย ที่สำคัญคือภายหลังจากที่สำเร็จการศึกษาแล้ว จะต้องกลับไปบรรจุในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลตามภูมิลำเนา ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้

ในส่วนของสถาบันการศึกษาที่เข้าร่วมโครงการสร้างโอกาสทางการศึกษาดังกล่าว จะได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณเพื่อเดินหน้าโครงการ และพัฒนาศักยภาพของผู้ที่ได้รับทุน เช่น การจัดทำฐานข้อมูล และสร้างเครื่องมือในการคัดกรองนักเรียนพื้นที่เป้าหมายเพื่่อรับทุน พร้อมกับเตรียมความพร้อม และปรับพื้นฐานทางวิชาการให้กับผู้รับทุนก่อนเข้าศึกษา ที่ประกอบด้วยความพร้อมด้านวิชาการ ให้มีการปรับพื้นฐานวิชาที่จำเป็น เช่น ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และคอมพิวเตอร์

อีกทั้งยังมีการเตรียมความพร้อมด้านทักษะที่สำคัญในการปรับตัว ทัศนคติ และการใช้ชีวิตในสังคมใหม่ ด้วยการทำงานเป็นทีม การสร้างแรงจูงใจ และความมุ่งมั่นในวิชาชีพครู ด้วยการจัดกิจกรรม อย่างเช่น การอบรมเชิงปฏิบัติการเพิ่มเติมด้วย

นอกจากนี้ สถาบันการศึกษาที่อยู่ในโครงการจะต้องจัดกิจกรรมเพิ่มเติมคือ การจัดโครงการพัฒนา ระบบการดูแลเพื่อให้คำปรึกษาแก่นักศึกษาที่ได้รับทุน จัดโครงการส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาศักยภาพนักศึกษาผู้รับทุน (enrichment program)และการจัดโครงการพัฒนาการทำงานร่วมกับแหล่งฝึกประสบการณ์วิชาชีพ และครูพี่เลี้ยงในพื้นที่ด้วย


รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ได้ประกาศผลการคัดเลือกสถาบันการศึกษาที่เป็นสถาบันผลิตและพัฒนาครูในโครงการสร้างโอกาสทางการศึกษาสำหรับนักเรียนในพื้นที่ห่างไกลเป็นครูรุ่นใหม่เพื่อพัฒนาคุณภาพโรงเรียนของชุมชน ประจำปีการศึกษา 2563 คือ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย, มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร, มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม, มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย, มหาวิทยาลัยราชภัฏกาฬสินธุ์, มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง, มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา และมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี