ขรก.มหา’ลัยทวงเงินเดือน8% รอ9ปีไม่คืบลุ้น“สุวิทย์”ตั้งคกก.ให้-ไม่ให้

ข้าราชการมหา”ลัยกระทุ้งรัฐขึ้นเงินเดือน 8% หลังยืดเยื้อเกือบ 9 ปี กว่า 1.8 หมื่นคนเคว้ง ทยอยเกษียณแบบเสียโอกาส จี้กระทรวงการอุดมศึกษาฯ เดินหน้าตั้งคณะกรรมการพิจารณาชุดใหม่ดันปรับขึ้นเงินเดือนให้สำเร็จ

แหล่งข่าวจากแวดวงการศึกษาเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตามที่มีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อปรับอัตราเงินเดือน หรือเงินประจำตำแหน่งให้กับข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาในปี 2555 ที่ผ่านมานั้น จนถึงปัจจุบันข้าราชการในสถาบันอุดมศึกษา โดยเฉพาะข้าราชการในมหาวิทยาลัยราชภัฏยังไม่ได้รับการปรับขึ้นเงินเดือนตามข้าราชการส่วนอื่น ๆ ที่ได้ดำเนินการปรับขึ้นเงินเดือนไปแล้วก่อนหน้านี้้ เช่น ข้าราชการในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ.เป็นต้น สาเหตุมาจากต้นสังกัดที่กำกับดูแลในขณะนั้นไม่มีการรายงานสรุปบุคลากรของมหาวิทยาลัยที่สมควรได้รับการปรับขึ้นเงินเดือนต่อกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งที่มีจำนวนถึง 30% ของจำนวนข้าราชการทั้งหมดทั่วประเทศในขณะนั้น แม้ว่าจะมีการพยายามผลักดันจากกลุ่มสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย นับตั้งแต่ได้มีการประกาศใช้กฎหมายใหม่แล้วก็ตาม แต่จนถึงตอนนี้ยังไม่มีข้อสรุป

ดังนั้นเมื่อประเมินย้อนหลังนับตั้งแต่มีการแก้ไขกฎหมายจะมีข้าราชการที่สมควรได้รับการปรับเพิ่มเงินเดือนราว 1.8 หมื่นคน ในจำนวนนี้มีข้าราชการที่ทยอยเกษียณอายุราชการไปแล้วถึง 5,000 คน โดยในปี 2562 ยังมีการทยอยเกษียณอายุราชการอย่างต่อเนื่อง ภายใต้อัตราเงินเดือนของเดิม ทั้งที่หากได้รับการปรับขึ้นเงินเดือนแล้วจะส่งผลต่อเงินบำเหน็จบำนาญของผู้เกษียณตามสิทธิที่ควรจะได้รับเหมือนกับข้าราชการส่วนอื่น ๆ เช่นกัน แต่เมื่อเวลาผ่านไปแล้วกว่า 9 ปี ยังไม่สามารถผลักดันให้มีการแก้ไขปัญหานี้ได้

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันหน่วยงานที่กำกับดูแลได้เปลี่ยนมาอยู่ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่มี “ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์” นั่งในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการคนแรกของกระทรวง โดยเข้ามารับตำแหน่งแล้วกว่า 4 เดือน การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวยิ่งสร้างความกังวลให้กับข้าราชการที่เตรียมจะเกษียณว่าเมื่อเปลี่ยนรัฐบาลแล้วจะมีการเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบายหรือไม่ด้วย

“เรื่องนี้ยืดเยื้อและเงียบมานานถึง 9 ปี จนข้าราชการที่ทยอยเกษียณอายุราชการก็มีจำนวนมากขึ้น กอปรกับค่าตอบแทนก็ไม่ได้สูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับพนักงานมหาวิทยาลัย ในช่วงนั้นรัฐบาลก็รับปากว่าจะแก้ปัญหาเรื่องนี้ให้ แต่จนถึงขณะนี้ไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด แม้ว่าจะมีหนังสือแจ้งอย่างเป็นทางการไปแล้วหลายครั้ง ข้าราชการที่ยังเหลืออยู่ในขณะนี้ก็ลุ้นว่า ดร.สุวิทย์จะหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาหารืออีกครั้งหรือไม่”

แหล่งข่าวกล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากจะปล่อยให้เรื่องอัตราเงินเดือนของข้าราชการในสถาบันอุดมศึกษายืดเยื้อมานานกว่า 9 ปี จนภายหลังมีรัฐบาลชุดใหม่ภายใต้การบริหารของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกระทั่งถึงขณะนี้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและพัฒนา ยังไม่มีการดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) ที่มีหน้าที่กำกับดูแลการบริหารงานบุคคลของข้าราชการในมหาวิทยาลัยที่อยู่ในกำกับการดูแลของภาครัฐ รวมถึงหน้าที่ในการพิจารณาการเข้าบรรจุในตำแหน่งข้าราชการครู และการพิจารณาตำแหน่งศาสตราจารย์ และค่าตอบแทนต่าง ๆ ของข้าราชการครูอีกด้วย ซึ่งหากมีการดำเนินการจัดตั้งก็คาดหวังว่าจะมีการผลักดันการปรับเงินเดือนข้าราชการให้เกิดผลเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนต่อไป

รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า ภายหลังจากที่ราชกิจจานุเบกษาประกาศพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2562 ซึ่งมีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2547 โดยเพิ่มความในมาตรา 8/1 ในกรณีที่มีเหตุผลและความจำเป็นเพื่อเป็นการเยียวยาให้ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาได้รับเงินเดือนหรือเงินประจำตำแหน่งที่เหมาะสมและเป็นธรรมนั้น คณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) อาจกำหนดให้ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาได้รับการเยียวยาให้ได้รับเงินเดือนหรือเงินประจำตำแหน่งที่เห็นสมควรเป็นกรณีไป โดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) กำหนด

ทั้งนี้เมื่อปรับแก้ไขกฎหมายดังกล่าว ส่งผลให้ข้าราชการในมหาวิทยาลัยขอให้มีการปรับขึ้นเงินเดือนเพิ่ม 8% ให้มีอัตราเท่ากับข้าราชการครูที่ได้รับการปรับขึ้นเงินเดือน 2 ครั้งในช่วงปี 2554 แบ่งเป็นการปรับขึ้นตามมติของคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) และปรับตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) พร้อมข้าราชการทั่วประเทศอีก 5% เท่ากับว่าข้าราชการครูได้รับการปรับขึ้นเงินเดือนรวมทั้งสิ้นถึง 13%

ปัจจุบันสถาบันอุดมศึกษาของไทยที่ต้องเผชิญกับปัญหาทั้งที่เกิดขึ้นจากปัญหาภายในองค์กร และปัญหาภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสถาบันอุดมศึกษาทั้งที่อยู่ในการกำกับดูแลของภาครัฐ ออกนอกระบบ ส่งผลให้ธุรกิจการศึกษามีการแข่งขันสูงมาก จากปัจจัยสำคัญคืออัตราการเกิดใหม่ของประชากรไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้จำนวนนักศึกษาลดลงอย่างมาก ประกอบกับการพัฒนาของเทคโนโลยีที่ทำให้พฤติกรรมการศึกษาหาความรู้ของนักเรียน-นักศึกษาไม่ได้มีเพียงแค่ช่องทางอย่างการเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยเท่านั้น ยังเกิดช่องทางใหม่ ๆ ที่มีอินเทอร์เน็ตเป็นตัวเชื่อมโยง เช่น ศึกษาจากระบบออนไลน์ การหาความรู้จากโลกโซเชียลต่าง ๆ เป็นต้น

จำนวนนักศึกษาในระบบที่ลดลง ส่งผลกระทบต่อสถาบันอุดมศึกษาอย่างมาก เพราะรายได้ลดลงแต่ต้นทุนกลับเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อสภาพคล่องทางการเงินในหลายสถาบัน โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้มีมหาวิทยาลัยราชภัฏ 20 แห่ง ทำหนังสือแจ้งมายังกระทรวงการอุดมศึกษาฯ เพื่อหาทางแก้ไขปัญหากรณีที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินประเภทเงินอุดหนุนทั่วไป ค่าจ้างพนักงานไม่เพียงพอ เนื่องจากงบประมาณที่ได้รับนั้นไม่พอจ่ายเงินเดือนพนักงานของมหาวิทยาลัย ในช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม โดยยังขาดงบประมาณราว 406 ล้านบาท ซึ่งจะต้องมีการอนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมหรือจัดสรรเงินจากส่วนอื่น ๆ มาสำรองจ่ายเพื่อแก้ไขปัญหา