เปิดแนวคิด ร.ร.สไตล์ SLC สืบสอบ-รวมพลังสร้างการเรียนรู้

นอกจากการประชุมเชิงปฏิบัติการและสัมมนากลุ่มย่อยที่มีกว่า 170 หัวข้อที่ครอบคลุม 5 ด้านในงาน “มหกรรมทางการศึกษาเพื่อพัฒนาวิชาชีพครู (EDUCA)” ประจำปี 2562 ที่จัดโดย บริษัท ปิโก (ไทยแลนด์)จำกัด (มหาชน) และพันธมิตรแล้ว ไฮไลต์สำคัญของการจัดงานปีนี้คือ “การประชุมนานาชาติโรงเรียนในฐานะชุมชนแห่งการเรียนรู้ ครั้งที่ 7” ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ภายใต้แนวคิด“การสืบสอบและความร่วมมือรวมพลังทั้งในห้องเรียนและห้องทำงานของครู” ที่มี “ศ.มานาบุ ซาโต” ผู้คิดค้นแนวคิดโรงเรียนในฐานะชุมชนแห่งการเรียนรู้ (School as Learning Community-SLC) และประธานเครือข่ายนานาชาติโรงเรียนในฐานะชุมชนแห่งการเรียนรู้ มาถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับ SLC รวมถึงวิทยากรจากประเทศต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น อังกฤษ, สิงคโปร์, จีน, ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

“ศ.มานาบุ ซาโต” กล่าวถึงการสืบสอบและความร่วมมือรวมพลังโรงเรียนในฐานะชุมชนแห่งการเรียนรู้ทั้งในห้องเรียนและห้องทำงานของครูว่าแนวคิด และวิธีปฏิบัติของ SLC มีปรัชญาทั้งหมด 3 ด้านคือ 1) สาธารณะ เป็นเรื่องของการเปิดเผยและความร่วมมือ 2) ประชาธิปไตย เด็ก ครู และผู้ปกครอง ที่เป็นตัวแสดงหลัก รวมถึงการเคารพความหลากหลายของปัจเจกบุคคล และ 3) ความเป็นเลิศ ในการส่งเสริมให้เด็กได้รับการเรียนรู้ที่ดี และมีความเก่งในแบบของตัวเอง

“ทั้งนี้ แนวคิด SLC ไม่มีสูตร และเทคนิคตายตัว แต่เป็นเรื่องที่ทุกคนมีส่วนร่วมในการสร้างการเรียนรู้ โดยตระหนักถึงสิทธิมนุษยชนของครู เด็ก และผู้ปกครอง เราไม่มีศูนย์กลาง หรือหัวหน้า แต่ทุกคนเป็นหัวหน้า และศูนย์กลาง เรามีความสัมพันธ์ที่เท่าเทียมกัน ทำให้การประชุมนานาชาติ SLC ปีนี้จึงมุ่งเน้นในเรื่องของการสืบสอบ และความร่วมมือรวมพลังโรงเรียนในฐานะชุมชนแห่งการเรียนรู้ ทั้งในห้องเรียน ห้องทำงานของครู ซึ่งเรามองว่าการปฏิรูปโรงเรียนไม่ได้อยู่ที่ชั้นเรียนเท่านั้น แต่ต้องผนวกเรื่องการสืบสอบ และความร่วมมือทั้งในห้องเรียนและห้องพักครูเข้าด้วยกัน เพื่อเป็นเสาหลักในการเรียนรู้คุณภาพของโรงเรียน SLC”

“จึงทำให้การสืบสอบ และความร่วมมือรวมพลังจะรวมกันอยู่ในตัว เพราะขณะที่มีการคิดจะทำให้เกิดการสนทนาไปด้วยซึ่งจะไม่สามารถสืบสอบได้โดยไม่เกิดความร่วมมือ และถ้าหากขาดทั้งสองด้านนี้จะไม่มีความหมายในชั้นเรียนการสืบสอบจึงถือเป็นหัวใจหลักของการเป็นพลเมืองประชาธิปไตย เนื่องจากเป็นทั้งผู้ฟัง และผู้ตามที่ดี โดยตระหนักว่าการเรียนรู้ที่แท้จริงแบ่งเป็น 2 แบบคือความรู้ และการเรียนรู้ที่จะศึกษาความรู้”

“วิธีการเรียนรู้ที่จะศึกษาหาความรู้เป็นเรื่องสำคัญกว่าความรู้ โดยเฉพาะการร่วมมือรวมพลังกัน เพราะจะทำให้เด็กแต่ละคนได้เรียนรู้วิธีการคิด และวิธีการศึกษาหาความรู้ ซึ่งในห้องเรียนเด็กทุกคนจะมีปฏิสัมพันธ์การเรียนรู้ผ่านครูที่มี jumping task หรือการออกแบบ และมอบงานที่มีความท้าทาย ซับซ้อนให้กับเด็ก เพื่อกระตุ้นให้ผู้เรียนต้องร่วมกันแก้ปัญหา ได้คิดและลงมือทำด้วยกัน ใช้ทักษะ ประสบการณ์ของแต่ละคนมารวมพลังกันเพื่อให้งาน หรือสิ่งที่ทำบรรลุผลตามเป้าหมาย ซึ่งตรงนี้จะทำให้เขาเหล่านั้นเกิดการเรียนรู้อย่างก้าวกระโดดถือเป็นนวัตกรรมที่สามารถเปลี่ยนแปลงโรงเรียนได้”

 

“ศ.มานาบุ ซาโต” กล่าวอีกว่า ปัจจุบันโลกอยู่ในยุคของการปฏิวัติอุตสาหกรรมยุค 4.0 ซึ่งมีผลต่อสังคม และปัจเจกบุคคล อย่างในประเทศญี่ปุ่นมีการคาดการณ์ว่าภายในอีก 50 ปีต่อจากนี้ไป แรงงาน 40% จะถูกทดแทนด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) นั่นหมายความว่าจะต้องสร้างทักษะอื่นที่ AI ไม่สามารถทดแทนได้ ทั้งเรื่องความคิดสร้างสรรค์ การสืบสอบ และความร่วมมือ ฉะนั้น ครูต้องเปลี่ยนแปลงรูปแบบการสอน และการเรียนรู้เพื่อให้สอดคล้องกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้น และรับมือการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

“jumping task ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะนอกจากจะทำให้เกิดการให้เหตุผลในการกระทำต่าง ๆ แล้ว ยังเป็นการพิสูจน์การใช้เหตุผล ซึ่งส่งเสริมให้เด็กมีจินตนาการ สืบสอบบริบทของโจทย์ โดยการออกแบบ jumping task ที่ดีจะต้องออกแบบให้เข้ากับสถานการณ์ของการเรียนการสอนขณะนั้น โดยครูต้องศึกษาร่วมกัน เปิดห้องเรียน และรวมตัวกันในการหารือถึงผลสะท้อนกลับจากการเปิดห้องเรียน เพื่อนำไปสู่การทบทวนแผนการสอนที่เหมาะกับการเรียนรู้ที่ดีที่สุดของเด็ก”

“การร่วมมือรวมพลัง และทำงานร่วมกัน จะมีเรื่องของศักดิ์ศรีที่ต้องให้ความเคารพ โดยฉพาะการเรียนรู้ของนักเรียนแต่ละคน ตลอดจนครูต้องให้ความเชื่อมั่นในการทำงานร่วมกันของเด็กนักเรียน และเด็กนักเรียนต้องเชื่อใจกันและกันด้วย รวมถึงครูใหญ่ต้องเชื่อในครูและนักเรียนเช่นกัน ตรงนี้จะเป็นการร่วมมือรวมพลังที่เกิดขึ้นบนบริบทของความสัมพันธ์ระหว่างการเรียนรู้ของครูและนักเรียน เป็นปฏิสัมพันธ์ที่ไว้ใจกันและกันไม่ใช่เฉพาะกับตัวเอง แต่ยังรวมถึงคนอื่นด้วย ที่สำคัญจะเป็นเรื่องของชุมชน ที่ต้องไม่มีใครอยู่อย่างโดดเดี่ยว และโรงเรียนเป็นบ้านที่สองให้กับเด็กได้อย่างแท้จริง”

ขณะที่ “ศ.หยู เวิน เสิน” คณบดีแห่งวิทยาลัยการศึกษา (FNU) จีน กล่าวถึงทฤษฎีและการปฏิบัติของโรงเรียนในฐานะชุมชนแห่งการเรียนรู้ กรณีศึกษาของเครือโรงเรียนระดับประถมศึกษาแห่งที่ 4ของวิทยาลัยการศึกษาฝูโจวว่าแนวคิดโรงเรียนในฐานะชุมชนแห่งการเรียนรู้ของ “ศ.มานาบุ ซาโต” มีอิทธิพลเป็นอย่างมากในประเทศจีน เพราะ SLC ไม่ใช่แค่การทำให้ผู้เรียนได้รับการเรียนรู้ที่ดีที่สุด ในโรงเรียนที่เป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้สำหรับเด็ก ๆ โดยที่ทุกคนมีส่วนร่วมในการปฏิรูปโรงเรียนเท่านั้น แต่แนวคิดทฤษฎี และการปฏิบัติของ SLC สอดคล้องกับการปฏิรูปการศึกษาระดับมัธยมศึกษา และประถมศึกษาของประเทศจีน ที่ได้ดำเนินการมากว่า 20 ปีที่ผ่านมา

“การปฏิรูปการศึกษาของจีนถือเป็นการเปลี่ยนภูมิทัศน์ทางการเรียนรู้ในชั้นเรียนใหม่ทั้งหมด และโรงเรียนเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของ SLC ที่จะช่วยให้จีนบรรลุวิสัยทัศน์ของการปฏิรูปการศึกษาได้ซึ่งโรงเรียนแห่งนี้ใช้กระบวนการ SLC มาตั้งแต่ปี 2556 ซึ่งตลอดระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมาทำให้เกิดการสร้างนวัตกรรมทางด้านการศึกษาใหม่ ๆ เกิดการจัดกลุ่มการเรียนรู้ในห้องเรียน กลุ่ม 4 คน เพื่อช่วยเหลือเด็ก สร้างรูปแบบการเรียนที่ทุกคนเชื่อใจกัน ไว้ใจกัน ยอมรับซึ่งเหตุและผลตลอดจนรับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกันจึงทำให้แนวคิด SLC ใช้งานได้จริง ปฏิบัติจริง จนเกิดเป็นผลลัพธ์ที่ดีต่อตัวผู้เรียน”

“สุดท้าย แนวคิด SLC ยังสะท้อนถึงความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนและชุมชน ภายใต้บริบทของประเทศจีน ซึ่งความสำเร็จที่เกิดขึ้นถูกนำมาขยายผลในชั้นเรียนต่าง ๆ โรงเรียนต่าง ๆ และครูส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ในชุมชน ช่วยให้เด็กมีความรู้ในเชิงลึก จนสามารถขยายวิธีการเป็นเครือข่ายไปในระดับประเทศได้ และการที่จะบรรลุวัตถุประสงค์ในการคิด อ่าน รวมถึงแสดงออก ที่ทำให้การเรียนรู้ดำเนินไปสู่เป้าหมาย ผมเชื่อว่าปรัชญา 3 ข้อของ SLC จะทำให้รูปแบบของการเรียนรู้ของจีนเปลี่ยนแปลงไป สอดคล้องกับการปฏิรูปการศึกษาของจีนอีกด้วย”