OCSC Expo 2019 ชูธีมเรียนต่อนอกด้วยความสุข

งานมหกรรมการศึกษาต่อต่างประเทศ หรือ OCSC International Education Expo 2019 ในปีนี้ จะจัดขึ้นในวันที่ 2-3 พฤศจิกายน 2562 ที่รอยัล พารากอนฮอลล์ โดยสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ในปีนี้ ได้เลือกใช้ธีมที่ว่า “เรียนต่ออย่างมีความสุข” (Happy Studying Abrod) ที่สำคัญไม่แพ้ความเข้มข้นของหลักสูตรการเรียน “ม.ล.พัชรภากร เทวกุล” เลขาธิการ ก.พ. ขยายความเพื่อให้ความเข้าใจธีมของปีนี้ว่า ในแง่ของวิชาการ มหาวิทยาลัยในฐานะผู้สอนจะให้ความเข้มข้นกับผู้เรียนได้ดีอยู่แล้ว จึงมาโฟกัสในสิ่งสำคัญแต่กลับไม่มีการพูดถึงนั่นคือ ความสุขของทั้งผู้เรียน และผู้ให้ทุนการศึกษา ความสุขที่ว่า คือ นอกจากนักศึกษาจะได้รับความรู้ทางวิชาการแล้ว ก็ควรได้ประสบการณ์การใช้ชีวิตในสังคมที่แตกต่างจากเดิม รวมถึงได้เรียนรู้ความแตกต่างของวัฒนธรรม และมีคุณภาพชีวิตที่ดีอีกด้วย

ม.ล.พัชรภากร เทวกุล เลขาธิการ ก.พ.

เป้าหมายของมหกรรมการศึกษาต่อต่างประเทศนั้น นอกจากต้องการสร้างบัณฑิตคนไทยเพื่อกลับมาพัฒนาประเทศแล้วนั้น ยังต้องการให้นักศึกษาได้เรียนรู้การใช้ชีวิต ได้เรียนรู้สังคมและวัฒนธรรมของประเทศนั้น ๆ และนำมาปรับใช้กับชีวิตประจำวันของผู้เรียนเมื่อเรียนจบแล้ว แต่ก่อนที่จะตัดสินใจเลือกเรียนนั้น ม.ล.พัชรภากรระบุว่า ต้องหาความต้องการ หรือที่เรียกว่า “ถูกจริต” ของตัวเองให้เจอก่อน รวมถึงกำหนดเป้าหมายทางการศึกษาให้ชัดเจน เพื่อมาเลือกว่าต้องการศึกษาต่อที่ไหน และอย่างไร ซึ่งในงานมหกรรมการศึกษาต่อฯจะช่วยแนะแนวการศึกษาต่อที่สอดคล้องกับความต้องการให้ได้มากที่สุด

ในปีนี้มีมหาวิทยาลัยจากทั่วโลกตอบรับเข้าร่วมงานมหกรรมการศึกษาต่อต่างประเทศ ประมาณ 300 กว่าแห่ง

“ม.ล.พัชรภากร” ให้ข้อมูลต่vอีกว่า นอกเหนือจากความเป็นเลิศทางวิชาการที่จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยตัดสินใจเลือกศึกษาต่อแล้ว ยังมีปัจจัยอื่น ๆ เพิ่มเติมอีกด้วยเพื่อให้สอดคล้องกับธีมในปีนี้ คือ คุณภาพของครูผู้สอน ทีมงานที่จะช่วยแนะแนวตลอดระยะเวลาที่ศึกษาต่อ สามารถเรียนรู้และเข้าใจในความแตกต่างทั้งด้านสังคมและวัฒนธรรม เพื่อปรับตัวในการใช้ชีวิต รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ ที่จะช่วยเอื้อประโยชน์ในการเรียนและการใช้ชีวิต คือ มีห้องแล็บที่ทันสมัยห้องสมุด ระบบสนับสนุนการศึกษา สภาพแวดล้อมที่ดี และที่สำคัญ คือ ความปลอดภัยของผู้เรียน

“การใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยจะกลายเป็นส่วนหนึ่งในการวัดผลความสำเร็จด้วยยกตัวอย่างในบริบทปัจจุบันในการเรียนที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้ปกครองไม่ได้ดูแค่ว่าได้รับการศึกษาที่เป็นเลิศตามความต้องการหรือไม่ และอีกปัจจัยที่จะเป็นตัวสนับสนุน คือ ประเด็นความปลอดภัย สภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรมที่ไม่มีการเหยียดผิว มีความสมานฉันท์ ซึ่งที่ผ่านมายังไม่เคยมีการพูดถึงในปัจจัยนี้เลย”

อย่างไรก็ตาม ยังมีส่วนที่จะต้องพิจารณาเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจเลือกศึกษาต่อ และใช้เป็นตัวชี้วัดความพึงพอใจของนักศึกษาด้วย คือ ปัจจัยสนับสนุน เช่น การสนับสนุนให้นักศึกษาได้ “รวมกลุ่ม” เข้าชมรมต่าง ๆ เพื่อทำกิจกรรมที่นอกเหนือจากการเรียนตามหลักสูตรที่ระบุไว้หรือไม่ด้วย

นอกจากนี้ “ม.ล.พัชรภากร” ยังให้ข้อมูลอีกว่า ในโลกปัจจุบันการได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก จะไม่ใช่ตัววัดความสำเร็จอีกต่อไป แต่มหาวิทยาลัยที่ “ใช่” สำหรับนักศึกษาที่จะเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จ ฉะนั้น เมื่อเดินเข้ามาในงานมหกรรมการศึกษาต่อฯครั้งนี้ จะได้พบกับผู้แนะแนวการศึกษามากกว่า 100 คน ซึ่งมาจากหลายส่วน เช่น อดีตนักเรียนทุนรัฐบาลหัวกะทิ พร้อมทั้งนักศึกษาที่อยู่ในการดูแลของสำนักงานทั่วโลกมาช่วยกันแนะนำ จากอังกฤษ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เยอรมนี ฝรั่งเศส และจีน โดยเครือข่ายเหล่านี้ถือเป็น “จุดแข็ง” และมีความได้เปรียบเมื่อเทียบกับนักศึกษาต่างชาติอื่น ๆ ทั้งนี้ ก.พ.ยังมีความร่วมมือจากหน่วยงานอย่าง กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงแรงงาน เข้ามาช่วยแนะนำในการดูแลสุขภาพกายและใจของนักศึกษา รวมถึงการแนะแนวครอบคลุมตั้งแต่ช่วงก่อนไปเรียน หลังเรียนจบกลับมาทำงาน และการใช้ชีวิตต่อจากนั้นเป็นอย่างไร

“คนเราเมื่อไปต่างถิ่น จะเจอสภาพที่ความกังวลอย่างน้อย 3 ช่วง ช่วงแรกคือก่อนเดินทาง ในแง่พฤติกรรมเราจะมีความคาดหวังกับสถานที่ไปเรียน เป็นความกังวล ในช่วงที่ 2 ตื่นเต้นสภาพแวดล้อมใหม่ แต่หลังจากที่เริ่มเข้าระยะ 3 เจอสถานการณ์การเรียนจริงที่ต้องทำเปเปอร์ ความกังวลจะเพิ่มระดับขึ้นไปอีก ยังไม่นับรวมที่ต้องปรับตัวในเรื่องของการใช้ภาษา และการเข้าใจวัฒนธรรมหรือค่านิยมที่ค่อนข้างแตกต่างจากไทย”

นอกเหนือจากนี้ ภายในงานยังต้องการให้มีกิจกรรมทำประโยชน์เพื่อสาธารณะ ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของนักเรียนทุนรัฐบาลอย่างเดียว และตอบโจทย์ความต้องการของนักเรียนที่สนใจทุนเรียนต่างประเทศ โดยเฉพาะทุนการศึกษาจากรัฐบาล สำหรับผู้ที่ต้องการเป็นข้าราชการ จะมีกิจกรรมให้ผู้สนใจได้ทำ “โปรแกรมทดลองสอบ” ทั้งข้อเขียน และสัมภาษณ์เพื่อการรับข้าราชการ ที่มีจำนวน 253 ทุน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นทุนเรียนด้านการบริหารการจัดการ และด้านสาขาวิทยาศาสตร์

“ม.ล.พัชรภากร” กล่าวถึงมหาวิทยาลัยที่น่าสนใจ โดยเฉพาะในสาขาที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่กำลังพัฒนามาแรงอย่างก้าวกระโดด คือ “จีน” ซึ่งปัจจุบันจีนอาจเรียกได้ว่าเป็น “ขุมทอง” ทางการศึกษา เพราะเป็นแหล่งค้นคว้าหาความรู้ขนาดใหญ่ ซึ่งหากเข้าไปเรียนรู้แล้วนำกลับมาต่อยอด

เพื่อพัฒนาด้านนวัตกรรมได้อีกด้วย นอกจากนี้คือ ประเทศเกาหลีใต้ ที่มีทุนการศึกษาที่น่าสนใจ เพราะก่อนหน้านี้ตัวแทนจากรัฐบาลเกาหลีใต้ต้องการความร่วมมือจากไทยทั้งในด้านการศึกษาและระบบราชการ ซึ่งขณะนี้ ก.พ.อยู่ในระหว่างศึกษาข้อมูลเบื้องต้นว่าจะร่วมมืออย่างไรในอนาคต

ทั้งนี้ ม.ล.พัชรภากรกล่าวถึงทิศทางของการศึกษาที่จะต้องสอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐ คือ นโยบายไทยแลนด์ 4.0 และนโยบายด้านเศรษฐกิจในการส่งเสริม10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ในพื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC (Eastern Economic Corridor) นั้น “คน” ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะขับเคลื่อนนโยบายไปถึงเป้าหมาย ในฐานะหน่วยงานที่สร้างคนต้องเตรียมความพร้อม ต้องพัฒนาคนให้รองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรม เช่น คนที่เก่งด้านดาต้าอะนาไลติกส์ ศาสตร์นาโนเทคโนโลยี รวมถึงคนที่เก่งด้านนวัตกรรมอื่น ๆ ที่จะมีความต้องการเพิ่มขึ้นอีกหรือไม่ ที่สำคัญ การพัฒนาคนจะต้องมีความเชื่อมโยงกับการลงทุนด้านรถไฟฟ้าและการศึกษาเข้าไว้ด้วยกัน

เมื่อมองภาพให้ใหญ่ขึ้น ควรเชื่อมโยงระหว่างการลงทุนด้านรถไฟฟ้ากับการศึกษาไว้ด้วยกัน เพราะสิ่งที่จะมาไม่ได้มีแค่เพียงเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ยังถือเป็นโอกาสของคนไทยที่จะได้เรียนรู้ และนำความรู้เหล่านั้นมาปรับใช้กับประเทศ เพื่อพัฒนาในทุกมิติทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจของประเทศให้ขับเคลื่อนต่อไป