12 ปี วิศวะอินเตอร์ จุฬาฯ ปั้น “บัณฑิตพันธุ์ใหม่” รับไทยแลนด์ 4.0

ตลอด 12 ปีที่ผ่านมาของคณะวิศวกรรมศาสตร์ หลักสูตรนานาชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพเข้าร่วมทำงานกับบริษัทในประเทศและต่างประเทศรวมแล้ว 1,266 คน พร้อมความมุ่งมั่นที่จะผลิตวิศวกรคุณภาพระดับโลก เพื่อสร้างสรรค์สังคมนวัตกรรมใหม่ต่อเนื่อง

ปัจจุบันสำนักบริหารหลักสูตรวิศวกรรมนานาชาติ (International School of Engineering : ISE) จุฬาฯ มีหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิตทั้งหมด 4 หลักสูตร ได้แก่ 1. วิศวกรรมการออกแบบและผลิตยานยนต์ (Automotive Design and Manufacturing Engineering : ADME) 2. วิศวกรรมอากาศยาน (Aerospace Engineering : AERO) 3. วิศวกรรมสารสนเทศและการสื่อสาร (Information and Communication Engineering : ICE) และ 4. วิศวกรรมนาโน (Nano Engineering : NANO)

“ผศ.ดร.วิทยา วัณณสุโภประสิทธิ์” ผู้อำนวยการ ISE ให้ข้อมูลถึงการเรียนการสอนว่า จะเน้นเชื่อมโยงกับการประยุกต์ใช้งานจริง พร้อมทั้งบูรณาการกิจกรรมเสริมหลักสูตร ตลอดจนร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมอย่างเหนียวแน่น เพื่อเอื้อต่อการฝึกอบรม และเปิดโลกทัศน์การเรียนรู้ด้วยเครื่องมือทันสมัย ซึ่งสามารถต่อยอดไปสู่การออกแบบเชิงนวัตกรรมได้

ทั้งนั้น เพื่อให้รับกับสไตล์การเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่ ทาง ISE กำลังเดินหน้าพัฒนาหลักสูตรใหม่ โดยในระดับปริญญาตรีจะมีการจัดทำ Individual Major Program ที่นิสิตสามารถเลือกเรียนในกลุ่มวิชาที่สนใจ เพื่อพัฒนาศักยภาพของตัวเอง ซึ่งเป็นแห่งแรกของประเทศไทยที่จัดทำหลักสูตรรูปแบบนี้ คาดว่าจะเปิดสอนได้ในปีการศึกษา 2561

ผศ.ดร.วิทยา วัณณสุโภประสิทธิ์

“ข้อดีคือ เราไม่ต้องเปิดหลักสูตรใหม่ให้เยอะมาก เพราะความต้องการเรียน ความถนัด หรือความชอบของเด็กแต่ละคน ย่อมแตกต่างกัน หลักสูตรนี้จะเข้ามาตอบโจทย์ได้อย่างชัดเจน เพราะการเลือกเรียนตามที่ตัวเองสนใจจริง ๆ จะทำให้เขาสามารถก้าวเดินไปสู่เส้นทางการเรียนรู้ตามที่ต้องการได้โดยตรง โดยไม่ยึดติดกับข้อจำกัดของการเรียนในภาควิชาเท่านั้น”

“นิสิตที่เข้ามาเรียนหลักสูตรนี้ต้องมีความโดดเด่นจริง ๆ คือ เข้ามาด้วยแคแร็กเตอร์ที่รู้ว่าต้องการจะเรียนอะไร และมีเป้าหมายชัดเจน ซึ่งเราจะมีอาจารย์ที่เป็นโค้ชชิ่งให้เด็ก เพื่อช่วยวางแผนการเรียน และไกด์ว่าวิชาไหนที่เหมาะกับความสามารถหรือแคแร็กเตอร์ของเขา ซึ่งอาจารย์ที่ปรึกษาจะเป็นกุญแจสำคัญทั้งด้านวิชาการและงานวิจัยให้กับนิสิตกลุ่มนี้”

นอกจากนั้น ยังมีอีกหนึ่งหลักสูตรใหม่ที่จะเปิดในปีหน้า คือ Smart Urban ซึ่งเป็นหลักสูตรปริญญาโท ออกแบบมาเพื่อเอื้อต่อการเรียนแบบ Long Life Learning กลุ่มเป้าหมายคือนิสิตนักศึกษาที่เรียนต่อ และผู้ที่ทำงานแล้ว ซึ่งสามารถเข้ามาเรียนเพื่อสะสมหน่วยกิตแล้วนำมาทำเครดิตเพื่อขอจบปริญญาโทได้ ตั้งเป้าจำนวนผู้เรียนรุ่นแรกอยู่ที่ 40 คน

“การเรียนการสอนจะเกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์ การวางแผนผังเมือง พลังงาน เป็นต้น โดยเราอยากให้เป็นหลักสูตรนำร่องที่ทำการเรียนการสอนแบบ Module ซึ่งการที่เราจัดทำหลักสูตรลักษณะนี้ เพราะเห็นความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ดังนั้น นอกจากจะเปิดสอนวิชาเหล่านี้ในระดับปริญญาตรีแล้ว ก็ขยับมาสู่ปริญญาโท”

“ด้วยความที่ยังมีบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมจำนวนมากที่อยากได้รับความรู้เพิ่มเติม ทางคณะจึงจัดหลักสูตรให้มีทางเลือกในการเรียนที่ยืดหยุ่น ทั้งการเก็บสะสมการเรียน Module ไปเรื่อย ๆ และได้รับประกาศนียบัตร หรือเรียนครบตามเกณฑ์กำหนด และทำทีสิส แล้วได้ปริญญา”

ผู้อำนวยการ ISE กล่าวว่า แต่ละปีมีจำนวนนักศึกษาใหม่ประมาณ 200 คน ซึ่งเดิมเคยรับมากกว่านี้ แต่ด้วยเป้าหมายที่ต้องการสร้างให้คณะวิศวกรรมศาสตร์มีคุณภาพมากที่สุดในระดับนานาชาติ ดังนั้น จึงให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับกระบวนการรับนิสิต และเพื่อให้พวกเขาได้มีประสบการณ์ระดับนานาชาติ จึงเน้นให้นิสิตได้ไปแลกเปลี่ยนยังต่างประเทศ

ขณะเดียวกัน ได้รับนักศึกษาต่างชาติมาแลกเปลี่ยนที่ไทยตาม Agreement ที่มีร่วมกัน โดยมีเกือบ 50 คน จากประเทศเยอรมนี สวีเดน สเปน สิงคโปร์ เป็นต้น ในส่วนของนักศึกษาต่างชาติที่สมัครเข้าศึกษาตามระบบปกติอยู่ที่ 3-5 คนต่อปี

“4 หลักสูตรของเราปรับตลอดเวลา เพื่อให้เข้ากับเมกะเทรนด์ของโลก พร้อมกันนั้น ได้ปรับสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนการสอน ไม่ว่าจะเป็นห้องเรียนแบบ Active Learning และการจัดห้องสมุดให้ทันสมัย รวมถึงมีห้องปฏิบัติการหน่วยงานวิจัย และ i-Design Workspace”

“ผศ.ดร.วิทยา” บอกว่า นอกจากการเสริมแกร่งด้านวิชาการแล้ว คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ มีความมุ่งมั่นและส่งเสริมการพัฒนานิสิตให้มีทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ทั้งความเป็นผู้นำ ความสามารถในการสื่อสาร การทำงานเป็นทีม และการคิดวิเคราะห์และความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งนับเป็นคุณลักษณะสำคัญในการสร้างคนเพื่อรองรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 อีกทั้งยังสามารถเข้าไปร่วมสร้างผลกระทบให้กับสังคมไทยและสังคมโลกได้อย่างมีคุณภาพ