“จุฬา”รับจำกัด น.ศ.วิศวะปิโตร มหา’ลัยอื่นแห่เปิดแข่งเสี่ยงตกงานสูง

วิศวะสาขาเหมืองแร่ปิโตรเลียม จุฬาฯ ปรับตัวรับ น.ศ.ไม่เกิน 30 คน ตามภาวะตลาดซึมยาว ออกโรงเตือนก่อนเปิดหลักสูตรขอให้ดูตลาดให้แน่ใจก่อน หวั่นเด็กตกงาน ด้าน “มศว.-มทร.ล้านนา” เปิดหลักสูตรปิโตรเลียมไล่หลัง จี้ ก.พลังงาน เปิดประมูลปิโตรเลียมรอบใหม่ กระตุ้นตลาดสร้างบรรยากาศลงทุน ลดนำเข้าพลังงาน

อุตสาหกรรมเหมืองแร่และปิโตรเลียมในประเทศค่อนข้างซบเซา อันเนื่องมาจากความล่าช้าในการเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมรอบใหม่และต่างจับตานโยบายของภาครัฐว่าจะดำเนินการเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมที่กระจายอยู่ทั้งบนบกและในทะเลอ่าวไทยในช่วงเวลาใด โดยความล่าช้าดังกล่าวส่งผลกระทบต่อความสนใจของนักศึกษาที่จะตัดสินใจเข้าเรียนในสาขาปิโตรเลียมลดลง ทำให้มหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศยังต้องปรับตัวรับสถานการณ์ด้วยการศึกษาสภาวะตลาดก่อนแล้วจึงนำมาวางแผนเปิดรับนักศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการ

ผศ.ดร.ฐิติศักดิ์ บุญปราโมทย์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่และการปิโตรเลียม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่และการปิโตรเลียมของจุฬาฯ ยังคงรับนักศึกษารวมไม่เกิน 30 คนเท่านั้น ซึ่งเป็นการประเมินจากสถานการณ์ของตลาดแรงงานและความต้องการของผู้ประกอบการที่เกิดขึ้นจริง ด้วยเหตุผลที่ว่าต้องการให้นักศึกษาที่เรียนจบมีงานทำทันที โดยผู้ประกอบการที่ต้องการบัณฑิตทั้ง 2 ด้านนี้มาจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่มีเหมืองถ่านหินแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ใช้เป็นเชื้อเพลิงเพื่อการผลิตไฟฟ้า และโรงงานปูนซีเมนต์ของกลุ่มบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ปัจจุบันมีสถาบันที่เปิดหลักสูตรวิศวกรรมเหมืองแร่และปิโตรเลียมเพียงไม่กี่สถาบันเท่านั้น อาทิ จุฬาฯ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ทั้งนี้ “จุดแข็ง” ของสาขาวิชาวิศวกรรมเหมืองแร่และปิโตรเลียมของจุฬาฯคือคุณภาพของหลักสูตร และการมีผู้ประกอบการ โดยมีศิษย์เก่ามาช่วยถ่ายทอดความรู้ และประสบการณ์ในสนามจริง รวมถึงเมื่อมีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีสำหรับอุตสาหกรรมเหมืองแร่ และน้ำมัน จะมีการอัพเดตให้นักศึกษาเรียนรู้ และฝึกทักษะจากผู้เชี่ยวชาญด้านปิโตรเลียมอย่างต่อเนื่อง

เมื่อวิศวกรด้านเหมืองแร่และปิโตรเลียมยังเป็นที่ต้องการ จึงมีหลายมหาวิทยาลัยเตรียมเปิดรับนักศึกษาเพิ่มขึ้น อย่างเช่น มหาวิทยาลัยราชมงคลล้านนา (มทร.ล้านนา) และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มทร.ล้านนาที่เดิมทีเปิดในรูปของวิทยาลัยเทคโนโลยี และอาชีวศึกษาที่สามารถผลิตคนทำงานใน “ระดับช่าง”ที่มีความเฉพาะทางในเหมือง และแหล่งผลิตปิโตรเลียม แต่ในปัจจุบันมีการปรับหลักสูตรปริญญาตรีด้วยเช่นกัน เท่ากับว่าได้เพิ่มจำนวนวิศวกรที่มากเกินความต้องการ ทำให้เกิดข้อกังวลในวิชาชีพวิศวกรที่อาจต้องเผชิญกับสภาวะ “ตกงาน” ตามมา

“จำนวนเด็กที่เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยลดลงต่อเนื่องตามอัตราการเกิดของประชากรก็เป็นอีกปัญหาหนึ่ง ทำให้หลายสถาบันต้องปรับตัว หรือโอกาสใหม่ ๆ ที่จะสามารถดึงดูดความสนใจของนักศึกษาให้มาสมัครเรียน แต่ขอให้สำรวจสภาพตลาดแรงงานให้ดีก่อน เพราะไม่ต้องการให้เกิดภาพเด็กจบมาแล้วตกงาน หรืออาจจะได้เข้าทำงานที่ไม่ตรงกับสาขาที่เรียนมา ทั้งยังไม่นับรวมการพัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่่ทำให้โรบอตทำงานแทนคนได้อีก”

ผศ.ดร.ฐิติศักดิ์กล่าวเพิ่มเติมถึงประเด็นสำคัญที่ส่งผลให้อุตสาหกรรมปิโตรเลียมซบเซานั้น ส่วนหนึ่งมาจากนโยบายด้านพลังงานของประเทศ เนื่องจากรัฐบาลยังไม่สามารถเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียม (รอบที่ 21 โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน) อีกทั้งยังมีกลุ่มผู้คัดค้านที่พยายามไม่ให้ประเทศใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่ ทำให้ไทยยังคงเป็นประเทศที่นำเข้าพลังงานรองรับความต้องการใช้ไม่ต่ำกว่า 80% เพราะผลิตได้เองไม่เกิน 20% จึงทำให้ประเทศเสียโอกาสในการดึงดูดนักลงทุนเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ และปิโตรเลียม

อย่างไรก็ตาม หากสังคมและองค์กรเอกชน (NGO) มีข้อกังวลด้านสิ่งแวดล้อม ผศ.ดร.ฐิติศักดิ์ระบุว่าหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องควรให้ความรู้ และข้อเท็จจริงด้านปิโตรเลียมของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบัน เพราะเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับปิโตรเลียมมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยมาก ทั้งนี้ไม่มีผู้ประกอบการรายใดเข้ามาเพื่อทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแน่นอน เพราะเป็นธุรกิจที่ทำรายได้สูงมาก

“หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ควรสานต่อเปิดประมูลปิโตรเลียมรอบใหม่ได้แล้ว ประเทศมีของแล้วทำไมไม่ใช้ ไทยนำเข้าน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติจำนวนมากกลับไม่มีการตั้งคำถาม ทั้งที่มีความเสี่ยงมาก หากขนส่งมาไทยไม่ได้ไม่ว่าจะจากเหตุการณ์อะไรก็ตามจะเป็นอย่างไร รัฐบาลไทยทำอะไรกันอยู่ เพราะสิ่งเหล่านี้ ถือเป็นความมั่นคงของประเทศด้วยเช่นกัน”

รายงานเพิ่มเติมระบุว่า สำหรับหลักสูตรปริญญาตรีทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปัจจุบันมีทั้งหมด 14 สาขา เช่น วิศวกรรมโยธา, วิศวกรรมไฟฟ้า, วิศวกรรมอุตสาหการ และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีนิวเคลียร์ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีหลักสูตรปริญญาตรี (นานาชาติ) ใน 5 หลักสูตรคือ วิศวกรรมการออกแบบและการผลิตยานยนต์, วิศวกรรมนาโน, วิศวกรรมสารสนเทศและการสื่อสาร, วิศวกรรมอากาศยาน และวิศวกรรมหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ (AI) นอกจากนี้ยังเปิดสอนในระดับปริญญาโท รวม 19 หลักสูตร โดยมี 2 หลักสูตรที่เป็นหลักสูตรนานาชาติอีกด้วย

ด้านมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) ให้ข้อมูลว่า ในปี 2560 ที่ผ่านมาเปิดหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติ หลักสูตรนานาชาติ โดยเน้นไปที่การสร้างพนักงานในสถานประกอบการด้านปิโตรเลียมในตำแหน่งวิศวกร อีกทั้งยังสามารถประกอบอาชีพอิสระด้านวิศวกรรมปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติ รวมถึงยังสามารถเป็นนักพัฒนาอุปกรณ์ เครื่องมือ และผู้ออกแบบโครงสร้าง และกลไกที่เกี่ยวข้องกับปิโตรเลียมทั้งในหน่วยงานของภาครัฐและภาคเอกชน และยังเป็นพนักงานในสถานประกอบการในบริษัทที่สนับสนุนภาคุตสาหกรรมปิโตรเลียมด้วย หลักสูตรนี้เป็นความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกในสาขาวิชาปิโตรเลียม เมื่อเรียนจบหลักสูตรแล้ว บัณฑิตสามารถไปประกอบวิชาชีพได้ในหลายประเทศทั่วโลก นอกจากนี้ยังได้รับใบอนุญาตในการทำงานในระดับสากลอีกด้วย