มหา’ลัยชูหลักสูตรออนไลน์ จับตลาด ป.โทเน้นบริหารธุรกิจ

เทคโนโลยีที่เข้ามาดิสรัปต์ธุรกิจอย่างต่อเนื่องในช่วงผ่านมาได้สร้าง “ทางเลือก” ในการเข้าถึงความรู้ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตที่สามารถเชื่อมโยงกับเครื่องมือต่าง ๆ แค่เพียงปลายนิ้ว จึงส่งผลให้พฤติกรรมของผู้เรียนเปลี่ยนไป เรียนที่บ้านก็จบปริญญาได้สำหรับยุคนี้ มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ต้องตั้งรับอย่างหนัก

เพราะนอกจากต้องแข่งกับเทคโนโลยีแล้ว ยังต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดการศึกษา เนื่องจากอัตราการเกิดของสังคมไทยลดลงอย่างมากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

นักเรียนเข้าระบบน้อยลงไปเรื่อย ๆ โจทย์สำคัญของทุกมหาวิทยาลัยเหมือนกันคือต้องงัด “กลยุทธ์” ดึงนักเรียนให้ได้มากที่สุดในทุกระดับ อย่างเช่น “หลักสูตรออนไลน์” ที่อาจจะตอบโจทย์ในเวลานี้ เพราะสามารถเรียนได้ตลอด 24 ชั่วโมง ตามความสะดวกของผู้เรียน โดยส่วนใหญ่วางกลุ่มเป้าหมายไว้ที่นักศึกษาในระดับปริญญาโทที่ต้องการพัฒนาศักยภาพของตัวเอง และเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่มีความจำเป็นต้องใช้ในอนาคต

ก่อนหน้านี้หลักสูตรออนไลน์ถูกทดลองนำมาใช้ในหลายมหาวิทยาลัย อย่างเช่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในหลักสูตรพยาบาล และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ที่รองรับคนวัยทำงาน นอกจากนี้ ยังลดข้อจำกัดในการเดินทางมาเรียนรวมถึงช่วยลดค่าใช้จ่ายของนักเรียนนักศึกษาได้อีกด้วย

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” สำรวจการเปิดหลักสูตรออนไลน์ของแต่ละมหาวิทยาลัยพบว่า ส่วนใหญ่เปิดหลักสูตรออนไลน์ ในระดับปริญญาโทนำร่องไปก่อน เพื่อดูความต้องการของตลาด อย่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่เปิดใน 3 หลักสูตร โดยจับมือกับ “Skillane” ภาคเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญในการสร้างหลักสูตรออนไลน์

ประกอบไปด้วย 1) หลักสูตรปริญญาโทบริหารธุรกิจ สาขา Business Innovation(M.B.A.Business & Innovation) เน้นการจัดการทางนวัตกรรม สำหรับผู้สนใจที่ต้องการพัฒนาทักษะก่อนที่จะเลื่อนขั้นเป็นผู้บริหาร รวมถึงผู้จัดการ และผู้บริหารที่ต้องการพัฒนาองค์กร และผู้ประกอบการที่กำลังจะสร้างกิจการของตัวเอง หรือเจ้าของธุรกิจครอบครัวที่ต้องการปรับเปลี่ยนให้มีความเป็นธุรกิจมากขึ้น ตามมาด้วยค่าใช้จ่ายตามหลักสูตรอยู่ที่ 1,500 บาท/คอร์ส

2) หลักสูตรปริญญาโท Data Science for Digital Business Transformation (M.S.Digital Business Transformation) สำหรับผู้บริหารที่ต้องการบริหารจัดการ ทั้งทางด้านเทคนิค และใช้ข้อมูลเป็นเครื่องมือประกอบการตัดสินใจ รวมถึงผู้ที่ต้องการเปลี่ยนสาขาอาชีพที่ใช้ความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรที่ต้องการศึกษาเพิ่มในด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูล มีค่าลงทะเบียนเรียนที่ 1,500 บาท ค่าสอบหน่วยกิตที่ 3,000 บาท รวมทั้งสิ้น 4,500 บาท

และ 3) หลักสูตรปริญญาโท Applied AI โดยหลักสูตรนี้จะเน้นสร้างพื้นฐานด้านทฤษฎี และการพัฒนาอัลกอริทึ่ม ในด้านปัญญาประดิษฐ์ อีกทั้งเพื่อเรียนรู้การบริหารจัดการหรือปรับเปลี่ยนรูปแบบองค์กรเพื่อใช้ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (artificial intelligence) ให้เกิดประโยชน์สูงสุด สำหรับผู้สนใจเข้าเรียนจะต้องลงทะเบียนวัดความรู้ MQE (Master Qualify Ex-am) โดยหลักสูตรนี้คาดว่าจะเปิดอย่างเป็นทางการในปี 2563 นี้ มีค่าใช้จ่ายตามหลักสูตรอยู่ที่ประมาณ 4,500 บาท

ด้านมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ABAC) เปิด 5 หลักสูตร (ภาษาอังกฤษ) คือ M.S.Management M.S.Information Technology & Management M.Ed. Teching & Technology Ph.D in eLeaning Methodology และ Ph.D. in Teaching and Technology

ขณะที่มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดหลักสูตรออนไลน์ ภายใต้ Rsu Cyber University มีทั้งหลักสูตรระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และคอร์สระยะสั้น โดยในส่วนของระดับปริญญาโทเปิด 2 หลักสูตร คือ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต การจัดการคอมพิวเตอร์และสารสนเทศ รวมถึงศิลปศาสตรมหาบัณฑิต ผู้นำทางสังคม ธุรกิจและการเมืองมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เน้นไปที่สาขาบริหารธุรกิจโดยเฉพาะ ในหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต (MBA online) คือ กลุ่มวิชาการจัดการธุรกิจครอบครัว กลุ่มวิชาการเงิน การจัดการและการตลาด

ส่วนมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เปิดสอนผ่านระบบออนไลน์ภาคภาษาไทย เป็นหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต (MBA Program) โดยได้ปรับหลักสูตรให้มีความทันสมัยมากขึ้น รวม 3 กลุ่มวิชา คือ International Business, Management Brand Communications และ Digital Marketing

ขณะที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี เปิดหลักสูตรออนไลน์ภายใต้ “สถาบันการศึกษาทางไกล” มีหลักสูตรทั้งในระดับปริญญาตรีไปจนถึงระดับปริญญาโท ในระดับปริญญาตรี คือ หลักสูตรบริหารธุรกิจ สาขาการจัดการ สาขาการจัดการโลจิสติกส์ และหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต สาขารัฐประศาสนศาสตร์

ส่วนระดับปริญญาโท คือ หลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สาขาการจัดการ สาขาการจัดการโลจิสติกส์ และหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สาขารัฐประศาสนศาสตร์

ทั้งนี้ แม้แต่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ที่นักศึกษาทั้งในและต่างประเทศต่างให้ความสนใจเข้ามาสมัครเรียนเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว ยังต้องตามกระแสศึกษาและพัฒนาหลักสูตรออนไลน์ด้วยเช่นกัน “ดร.พัทธนันท์ เพชรเชิดชู” รองอธิการบดีสายงานภาคีสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) ระบุว่า ก่อนหน้านี้ มธบ.ได้ศึกษาในเชิงลึกว่าหลักสูตรใดที่ควรนำมาดำเนินการหลักสูตรออนไลน์ได้บ้าง เนื่องจากไม่ต้องการให้หลักสูตรของ มธบ.ทำได้แค่เพียงให้นักศึกษาเรียนอยู่แค่หน้าจอเท่านั้น แต่จะต้องเป็นหลักสูตรที่สามารถพัฒนาและยกระดับความสามารถของศึกษาให้มากขึ้นด้วย ทั้งนี้ คาดว่า มธบ.จะเปิดตัวหลักสูตรออนไลน์อย่างเป็นทางการได้เร็ว ๆ นี้

สำหรับการเปิดหลักสูตรออนไลน์ของมหาวิทยาลัยนั้น ถือเป็นส่วนหนึ่งของการ “ปรับตัว” หลังจากที่จำนวนนักศึกษาในระบบลดลงมากกว่า 20% จากอัตราการเกิดของประชากรที่ลดลง

ก่อนหน้านี้ในหลายมหาวิทยาลัยต่างทยอยเปิดหลักสูตรใหม่ ๆ มีแคมเปญลด-แลก-แจกแถมค่าเทอม หรือพิจารณาจากจุดแข็งแล้วจึงหาวิธีดึงดูดนักศึกษาให้เข้ามาเรียนตามจุดแข็งของมหาวิทยาลัยที่มี ไม่ว่าจะเป็นการปรับหลักสูตรเป็นนานาชาติ เปิดหลักสูตรที่นักศึกษาให้ความสนใจและยังไม่มีมหาวิทยาลัยใดเปิดสอนมาก่อน รวมถึงการร่วมมือกับองค์กรขนาดใหญ่ในการเข้ามาเป็นอาจารย์พิเศษ

ถ่ายทอดความรู้จากประสบการณ์จริง ส่วนในมหาวิทยาลัยที่มีข้อจำกัดในการปรับตัว และขาดสภาพคล่องทางการเงิน ก็เลือกใช้วิธีการขายกิจการให้กับนักลงทุนที่สนใจอย่างเช่น มหาวิทยาลัยเกริก และมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ที่ขายกิจการให้กับนักลงทุนจากประเทศจีนไปเมื่อเร็ว ๆ นี้


และคาดว่ายังมีมหาวิทยาลัยอื่นที่อยู่ระหว่างเจรจาซื้อขายกิจการอีกด้วย