“สจล.”ดันศูนย์เรียนรู้แห่งใหม่ เรียนจบได้ที่ดินส.ป.ก.4-01 แทนใบปริญญา

“สจล.” สานต่อเศรษฐกิจพอเพียง พัฒนาศูนย์เรียนรู้ที่ จ.สุพรรณบุรี เล็งดึงเกษตรกรเรียนรู้ ชูแนวคิดเรียนจบแล้วได้ที่ดิน ส.ป.ก.4-01 แทนใบปริญญา ปรับบทบาทสถาบันเรียนรู้เพื่อคนทุกระดับ ปลุกนักวิชาการไทยดันหลักเศรษฐกิจพอเพียงชิงรางวัลโนเบลด้านเศรษฐศาสตร์

“รศ.ดร.สุรินทร์ คำฝอย” รองอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดเผยว่าขณะนี้ สจล.อยู่ระหว่างการจัดทำ “แผนยุทธศาสตร์” ที่จะต้องเพิ่มเติมรายละเอียด เนื่องจากต้องการเพิ่มบทบาทหน้าที่ของ สจล.ให้มีความใกล้ชิดกับชุมชน พร้อมทั้งนำหลักปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาปรับใช้กับพื้นที่ที่มีปัญหา รวมถึงพื้นที่ใกล้เคียงกับ สจล. ซึ่งได้เริ่มเตรียมความพร้อมด้านที่ดินในจังหวัดสุพรรณบุรี ที่มีขนาดพื้นที่ราว 4,000 ไร่ เพื่อใช้เป็นศูนย์เรียนรู้ หรือทำให้เป็น “social lab” โดยเปิดโอกาสให้ชุมชนหรือผู้สนใจเข้ามาเรียนรู้ เมื่อเรียนจบหลักสูตร 4 ปี จะได้ที่ดินในพื้นที่ ส.ป.ก.4-01 (เอกสารสิทธิให้ประชาชนเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน) แทนการได้รับใบปริญญา เพื่อนำที่ดินดังกล่าวไปใช้ประโยชน์จากในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและชุมชน รวมถึง สจล.ยังมีพื้นที่ในจังหวัดชุมพร ที่สามารถใช้ประโยชน์ด้วยการเป็นศูนย์เรียนรู้เพิ่มเติมในอนาคตได้อีก และมองว่ายังช่วยแก้ไขปัญหาการบุกรุกเข้ามาใช้พื้นที่โดยไม่ได้รับอนุญาตอีกด้วย

นอกจากนี้ บทบาทของมหาวิทยาลัยในอนาคตจะมีภารกิจสำคัญที่ต้องดำเนินการคือ 1) สร้างคนรุ่นใหม่ให้สามารถแก้ปัญหา และให้อยู่ได้ด้วยตัวเอง รวมถึงเปลี่ยนรูปแบบให้ลงมือปฏิบัติจริงก่อน หลังจากนั้น จึงเริ่่มเรียนทฤษฎี การได้ทดลองทำจริงจะทำให้อยู่ได้ในทุกสาขาวิชาชีพ และ 2) ต้องปลูกฝังคนรุ่นใหม่ให้มีความพยายามในการเสาะหาความรู้ และมีความเป็นผู้นำ (leadership) ปลูกฝังในเรื่องของการจะดำเนินการในเรื่องใดให้ประสบความสำเร็จไม่จำเป็นต้องมาจากผู้บริหารระดับสูงเท่านั้น สิ่งสำคัญคือจะต้องมีการลงพื้นที่ เพื่อให้เข้าถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้แสดงความคิดเห็นได้

“เราต้องส่งเมสเสจเหล่านี้ให้กับคนรุ่นใหม่ เพื่อไม่ให้เมสเสจเหล่านี้หายไป นอกจากนี้ ภารกิจของมหาวิทยาลัยจะต้องเป็นสถานที่เก็บความรู้ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรไว้เนื่องจากปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมีผลงานกว่า 40,000 ชิ้น มีโครงการกว่า 4,000 โครงการ และนำความรู้จากท่านไปปฏิบัติให้เป็นแหล่งหาความรู้ที่ประชาชนทั่่วไปสามารถเข้าถึงได้ ทั้งนี้ก็ต้องถามประเทศว่าต้องการให้มหาวิทยาลัยทำเรื่องเหล่านี้หรือไม่ หากต้องการก็ต้องเพิ่ม vision นี้เข้าไปด้วย”

รศ.ดร.สุรินทร์กล่าวเพิ่มเติมอีกว่ารางวัลโนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์ 2019 ที่ทำเรื่องการแก้ไขความยากจน จากนักวิชาการจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ หรือ MIT (Massachusetts Institute of Technology) และจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ที่ศึกษาคุณภาพชีวิตของเด็กในประเทศเคนยา ในรายละเอียดของการศึกษาระบุว่าหากเด็กมีสุขภาพที่ดี นั่นหมายถึงว่าจะทำให้สามารถเรียนรู้ได้ดีขึ้น ทำให้เศรษฐกิจของเด็กดีขึ้นตามไปด้วย ซึ่งเรียกว่าการพัฒนาเศรษฐกิจแบบ “no GDP” และถือเป็นตัวชี้วัดใหม่เพิ่มเติม ดังนั้นหากภาครัฐประกาศเป็นนโยบายว่าให้มหาวิทยาลัยไทยเข้าไปอยู่ในการจัดอันดับของนิตยสารฟอร์จูน (Fortune Global 500) นั้น เชื่อมั่นว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงหากนำมาพัฒนา และสานต่อกันเป็นเครือข่าย อาจทำให้มหาวิทยาลัยไทยเข้าไปอยู่ในการจัดอันดับได้ ที่สำคัญ ยังถือเป็นการ “ท้าทาย” ความสามารถของนักวิชาการของไทยอีกด้วย

รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ยังได้ร่วมแสดงเจตนารมณ์ในการสืบสานศาสตร์พระราชาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสู่เป้าหมายความยั่งยืนของโลกกับ 5 หน่วยงานคือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.), กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย, มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ, มูลนิธิรักษ์ดินน้ำ (Earth Safe Foundation) และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เพื่อช่วยกันขับเคลื่อนแก้ปัญหาใน 3 ประเด็นคือ เรื่องน้ำ, อาหาร และพลังงาน เพื่อสร้างความมั่นคงตามเป้าหมายความยั่งยืนของโลก (SDGs) เปิดโอกาสให้ชุมชนท้องถิ่นและประชาชนทั่วไปมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน และขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศให้เข้มแข็ง

ปัจจุบัน สจล.เป็นสถาบันระดับอุดมศึกษาตั้งแต่ระดับปริญญาตรี จนถึงปริญญาเอก เปิดสอนทั้งหลักสูตรทั่วไปและหลักสูตรภาคสมทบ มีนักศึกษาทุกสาขาวิชาและทุกระดับประมาณ 20,000 คน จาก 10 คณะ 5 วิทยาลัย 1 วิทยาเขตคือ วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ จังหวัดชุมพร และ 1 โรงเรียนคือ โรงเรียนสาธิตนานาชาติพระจอมเกล้า