วิกฤตการศึกษา “เด็กผู้ลี้ภัย” 3.5 ล้านคนไร้ที่เรียน

สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) เปิดเผยรายงานเกี่ยวกับวิกฤตการณ์การศึกษาของเด็กผู้ลี้ภัย โดยระบุว่าเด็กผู้ลี้ภัยอายุ 5-17 ปี กว่า 3.5 ล้านคนไม่มีโอกาสเข้าเรียนในปีการศึกษาล่าสุด ในจำนวนนี้กว่า 1.5 ล้านคนไม่ได้เข้าเรียนในระดับประถมศึกษา ขณะที่เยาวชนผู้ลี้ภัยอีกกว่า 2 ล้านคนขาดโอกาสศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษา

“ฟิลิปโป กรันดี” ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ กล่าวว่า การศึกษาสำหรับเด็กผู้ลี้ภัยมีความสำคัญอย่างมากในการสร้างสันติภาพ และการพัฒนาที่ยั่งยืนให้กับประเทศที่ให้การดูแลพวกเขา รวมถึงประเทศของพวกเขาเอง เมื่อพวกเขาสามารถเดินทางกลับไปยังบ้านเกิดได้ในอนาคต ซึ่งหากเปรียบเทียบกับการศึกษาของเด็กและเยาวชนทั่วโลกแล้ว ช่องว่างทางโอกาสในการศึกษาของเด็กผู้ลี้ภัยขยายตัวกว้างขึ้นเรื่อย ๆ

รายงาน “ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง : วิกฤตการณ์การศึกษาผู้ลี้ภัย” เป็นรายงานเปรียบเทียบโดยนำแหล่งข้อมูลและสถิติของ UNHCR เกี่ยวกับโอกาสทางการศึกษาของผู้ลี้ภัย มาเปรียบเทียบกับข้อมูลการสมัครเข้าศึกษาในโรงเรียนของเด็กทั่วโลกจาก UNESCO โดยสถิติของ UNESCO แสดงให้เห็นว่า

ขณะที่ 91% ของเด็กทั่วโลกได้รับโอกาสทางการศึกษาระดับประถมศึกษา มีเด็กผู้ลี้ภัยเพียง 61% ที่มีโอกาสศึกษาในระดับเดียวกัน ยังไม่รวมถึงประเทศที่มีรายได้น้อย ซึ่งมีเด็กผู้ลี้ภัยน้อยกว่า 50% ที่ได้รับการศึกษาระดับประถมศึกษา

สถิติดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าเมื่อเด็กผู้ลี้ภัยเติบโตขึ้น อุปสรรคในการศึกษาก็เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับเยาวชนทั่วโลก 84% ที่ได้รับโอกาสทางการศึกษาระดับมัธยมศึกษา กลับมีเยาวชนผู้ลี้ภัยเพียง 23% เท่านั้นที่ได้ศึกษาต่อในระดับเดียวกัน ขณะที่เด็กผู้ลี้ภัยในประเทศที่มีรายได้น้อยมีโอกาสแค่ 9%

“การได้รับโอกาสทางการศึกษาในระดับอุดมศึกษาของผู้ลี้ภัยก็เข้าขั้นวิกฤต โดยจากสถิติทั่วโลกพบว่า อัตราการเข้าศึกษาระดับอุดมศึกษาของเยาวชนอยู่ที่ 36% และแม้เยาวชนผู้ลี้ภัยจะได้รับการพัฒนาโอกาสทางการศึกษาในทุก ๆ ด้าน ซึ่งเป็นผลมาจากการลงทุนเรื่องทุนการศึกษาและหลักสูตรการเรียนต่าง ๆ หากแต่อัตราการเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาของเยาวชนผู้ลี้ภัยอยู่ที่ 1% เท่านั้น”

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการเข้าศึกษาของเด็กผู้ลี้ภัยกลุ่มปฐมวัยเพิ่มขึ้นจาก 50% เป็น 61% ในช่วงปีการศึกษาที่ผ่านมา อันเป็นผลจากการปรับปรุงนโยบาย และการลงทุนเพื่อการศึกษาสำหรับผู้ลี้ภัยชาวซีเรีย รวมถึงการที่เด็กผู้ลี้ภัยเดินทางไปยังประเทศในทวีปยุโรป ที่การศึกษาภาคบังคับเปิดกว้างสำหรับทุกคนทั้งนั้น ปัญหาการศึกษาของผู้ลี้ภัยเกิดขึ้นเพราะ 1 ใน 3 ของผู้ลี้ภัยนั้นอาศัยอยู่ในประเทศที่มีรายได้น้อย ซึ่งผู้ลี้ภัยกลุ่มนี้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาได้น้อยที่สุด

เนื่องจากประเทศที่รองรับและดูแลผู้ลี้ภัยเองยังต้องดิ้นรน จัดหาการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนในประเทศของตัวเองเช่นกัน รวมถึงต้องจัดหาโรงเรียน การพัฒนาผู้สอนที่ได้คุณภาพ และต้องปรับเปลี่ยนอุปกรณ์การเรียนการสอนเพื่อรองรับเด็ก ๆ ผู้ลี้ภัยหลายแสนคนที่ไม่สามารถสื่อสารด้วยภาษาเดียวกัน ที่สำคัญส่วนใหญ่หยุดเรียนมาแล้วประมาณ 4 ปี

“ความคืบหน้าของการแก้ปัญหาการศึกษาของผู้ลี้ภัยนั้น เห็นได้จากการที่ UNHCR สามารถช่วยให้เด็กผู้ลี้ภัยชาวซีเรียได้เข้าเรียน ซึ่งบ่งบอกได้เป็นอย่างดีถึงศักยภาพในการรับมือกับวิกฤตการณ์การศึกษาของผู้ลี้ภัย แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดตอนนี้คือ อัตราการได้รับการศึกษาของเด็กผู้ลี้ภัยในภูมิภาคที่มีรายได้น้อย”

“สถานการณ์เช่นนี้แสดงให้เห็นว่า เราต้องไม่ลืมที่จะลงทุนเพื่อการศึกษาในประเทศที่รองรับและให้การดูแลผู้ลี้ภัยเหล่านี้ด้วยเหมือนกัน เพราะการรับรองว่าผู้ลี้ภัยจะสามารถเข้าถึงสิทธิทางการศึกษาที่เท่าเทียมนั้น เป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทุกคน”