“BU” รุกหลักสูตรเกมดิจิทัล ปั้นบัณฑิตรับตลาดซอฟต์แวร์โต 20%

สาขาเกม สื่ออินเตอร์แอ็กทีฟ ม.กรุงเทพมาแรง เด็กแห่เรียนกว่า 1,000 คน รับตลาดเกมขยายตัวต่อเนื่อง ปักธงปี”62 ทะลุ 2.2 หมื่นล้าน คาดการณ์ปี”63 โตได้อีกกว่า 20%

“ดร.ถิรพล วงศ์สอาดกุล” คณบดีเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยกรุงเทพ อธิบายให้เห็นภาพรวมของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับซอฟต์แวร์ ภายหลังจากที่เปิดคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม สาขาเกมและสื่ออินเตอร์แอ็กทีฟ ไปเมื่อปี 2560 นั้น ดร.ถิรพล ระบุว่าได้รับผลตอบรับที่ดีมาก ปัจจุบันมีนักศึกษาในสาขาดังกล่าวประมาณ 1,000 คน ตั้งแต่ชั้นปีที่ 1-3 และคาดว่าจะมีผู้สนใจเข้ามาเรียนเพิ่มขึ้น แต่มหาวิทยาลัยกรุงเทพค่อนข้างรับจำนวน “จำกัด” เพราะคำนึงถึงคุณภาพของบัณฑิตเป็นหลัก เพื่อให้อาจารย์ผู้สอนนักศึกษาได้ถ่ายทอดความรู้ไปยังนักศึกษาได้อย่างเต็มที่

พร้อมกันนี้มหาวิทยาลัยกรุงเทพยังได้พัฒนาอาจารย์ให้มีความรู้ด้านเกมและสื่อเชิงโต้ตอบ รวมทั้งมีการเฟ้นหาผู้เชี่ยวชาญตัวจริง และพันธมิตรที่มีความหลากหลาย เพื่อร่วมกันพัฒนาหลักสูตรและนักศึกษาให้มีความสามารถ ประกอบด้วย บริษัท Loom Network บริษัท Magic Box Digital สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เกมไทย บริษัท UX Academy

บริษัท Se (Thailand) จำกัด บริษัท Plan B จำกัด บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด บริษัท Yggdrazil Group จำกัด บริษัท Debuz จำกัด และ บริษัท Workpoint Entertainment จำกัด นอกจากนี้ยังมีพันธมิตรจากมหาวิทยาลัยในต่างประเทศอีก 2 แห่ง คือ มหาวิทยาลัย Ryokoku และมหาวิทยาลัย FullSail

“ดร.ถิรพล วงศ์สอาดกุล” คณบดีเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

“เราพัฒนาหลักสูตรและเริ่มรับนักศึกษามาแล้ว 3 ปี ซึ่งในอนาคตนั้น คณะเทคโนโลยีสารสนเทศฯจะสามารถรับนักศึกษาเพิ่มขึ้นได้ เพื่อรองรับการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในอุตสาหกรรมนี้ได้อย่างแน่นอน นอกจากนี้ บัณฑิตจากสาขาดังกล่าวได้ถูกบ่มเพาะโดยผู้เชี่ยวชาญยิ่งทำให้มั่นใจว่า บัณฑิตของเราตรงกับความต้องการของตลาดด้วย เพราะผ่านกระบวนการเรียนรู้ในรูปแบบ project based จำเป็นต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญในการดูแลนักศึกษาในหลายมิติ จึงจำเป็นต้องรับนักศึกษาจำนวนจำกัด เพื่อสามารถให้การเรียนการสอนเป็นไปอย่างมีคุณภาพที่สุด”

ดร.ถิรพลยังอธิบายเพิ่มเติมอีกว่า หลักสูตรดังกล่าวจะกลายเป็นที่ต้องการของตลาดอีกมาก จากมูลค่าการเติบโตของตลาดเกมในประเทศเมื่อปี 2561 อยู่ที่ประมาณ 18,000 ล้านบาท และล่าสุดในปี 2562 มูลค่าตลาดเกมอยู่ที่ 22,000 ล้านบาท ถือว่ามีการขยายตัวถึง 22% เมื่อเปรียบเทียบจากปีก่อน และยังมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มไม่น้อยกว่า 20% ในปี”63 ส่งผลให้อุตสาหกรรมเกมและสื่อเชิงโต้ตอบมีความต้องการแรงงานด้านนี้มากขึ้น และจะขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกปี ทำให้เกิดโอกาสใหม่ รวมไปจนถึงอาชีพใหม่ ๆ เกิดขึ้นในตลาดอีกด้วย

นอกเหนือจากคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยกรุงเทพยังได้จัดตั้งศูนย์บ่มเพาะ (Software Developer Incubation Center) และจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมและเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (BU-Innovation and Technology Center) เพื่อเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พัฒนาผู้เรียนให้มีความคิดสร้างสรรค์ในเทคโนโลยีซอฟต์แวร์ด้าน multimedia, mobile technology และ enterprise systems รวมถึงยังส่งเสริมการสอบใบประกาศนียบัตรทางวิชาชีพ (professional certificate) อีกทั้งยังเป็นการเตรียมความพร้อมให้นักศึกษามีความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างนวัตกรรมร่วมอีกด้วย ในระดับปริญญาตรีจะประกอบไปด้วย 4 สาขาวิชา คือ สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ มุ่งเน้นความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์และวิทยาการข้อมูล สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ ผลิตบัณฑิตที่สามารถออกแบบและเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ได้

นอกจากนี้ “ดร.ถิรพล” ยังได้เล่าถึงสาขาวิชาเกมและสื่อเชิงโต้ตอบอีกว่า หลักสูตรดังกล่าวส่งเสริมให้ผู้เรียนได้เรียนรู้รูปแบบสื่ออินเตอร์แอ็กทีฟ เป็นรูปแบบการสื่อสารข้อมูลข่าวสารที่สำคัญในปัจจุบัน โลกยุคดิจิทัลตลาดแรงงานเปิดกว้างในทุกภาคอุตสาหกรรม เกมเป็นส่วนหนึ่งของการโฆษณาผลิตภัณฑ์ การฝึกอบรม การเรียนการสอน การรักษาผู้ป่วยในทางการแพทย์ และเป็นธุรกิจในส่วนของเอ็นเตอร์เทนเมนต์ที่มีมูลค่าในตลาดโลกอย่างมาก ในสาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ ผู้เรียนจะมีความสามารถทางด้านเทคโนโลยีผสมผสานเทคโนโลยีใหม่ ๆ และสามารถใช้ประโยชน์ได้สูงสุด แก้ไขปัญหาทางเทคโนโลยีได้อย่างเหมาะสม

เมื่อสำรวจสถาบันการศึกษาจะพบว่ามหาวิทยาลัยที่มีการเปิดหลักสูตรด้านเกมและสื่อดิจิทัล เช่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หลักสูตรเทคโนโลยีดิจิทัลแนวสร้างสรรค์ และหลักสูตรการออกแบบเชิงนวัตกรรมดิจิทัล สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สาขาการพัฒนาสื่อประสม และเกม มหาวิทยาลัยรังสิต คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สาขาวิชาคอมพิวเตอร์เกมมัลติมีเดีย หลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ คณะศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการออกแบบเชิงตอบโต้และการพัฒนาเกม

มหาวิทยาลัยศรีปทุม คณะศิลปกรรมศาสตร์ หลักสูตรการออกแบบอินเตอร์แอ็กทีฟและเกม มหาวิทยาลัยศิลปากร คณะวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการออกแบบ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม หลักสูตรเกมและและอินเตอร์แอ็กทีฟ และมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี คณะวิทยาศาสตร์ สาขาเทคโนโลยีมีเดีย เป็นต้น