ถอดมุมคิด “นพ.ธีรเกียรติ” บทบาทครูแนะแนวเรียนต่อนอก

นพ.ธีรเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์

อาจเพราะอยู่ในแวดวงการศึกษามานาน สำหรับ “นพ.ธีรเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้รับรางวัล Gusi Peace Prize : Great Citizen of Kingdom of Thailandในสาขา Academic หรือสาขาวิชาการ โดยรางวัลดังกล่าวเทียบเท่ากับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพแห่งภาคพื้นเอเชียที่พยายามยกระดับการศึกษาของไทยมาอย่างต่อเนื่อง “ประชาชาติธุรกิจ” ได้รับโอกาสสัมภาษณ์เพื่อย้อนเล่าประสบการณ์ และบทบาทใหม่ ในฐานะ “ครูใหญ่” ให้กับ “The Newton Prep School”

เพราะมีความเชื่อมั่นว่าการศึกษาทำให้เด็กรู้ว่าจะเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์อย่างไร จึงทำให้ “นพ.ธีรเกียรติ” ยังคงโลดแล่นอยู่ในแวดวงการศึกษา และเมื่อไล่เรียงไทม์ไลน์ชีวิตแล้วจะเห็นว่า เขาได้ก่อตั้งโรงเรียนสัตยาไส ร่วมกับ “ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา” เพื่อเป็นโรงเรียนปลูกฝังคุณธรรม และจริยธรรมให้แก่เด็กทั้งยังเคยทำงานด้านจิตวิทยาวัยรุ่น หลังจากเรียนจบจากมหาวิทยาลัยลอนดอน แผนกจิตเวชศาสตร์ และจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น ที่สำคัญ ยังเป็นสมาชิกของราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งสหราชอาณาจักร

ทั้งนั้นเพราะแนวคิดของ “นพ.ธีรเกียรติ” ที่น่าสนใจ คือ การเป็นครู นอกจากต้องส่งเสริมให้เด็กเป็นทั้งคนเก่ง และคนดีแล้ว การเรียนรู้คุณธรรมก็ต้องมีเพื่อให้เห็นความเป็นจริงของชีวิตด้วย ผลเช่นนี้ เมื่อถามถึงประสบการณ์เมื่อครั้งนั่งตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการว่าอะไรคือปัญหาเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการแก้ไข

“นพ.ธีรเกียรติ” จึงเริ่มต้นเล่าให้ฟังว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ต้องให้น้ำหนักมาเป็นอันดับแรก เพราะก่อนหน้านี้มีการวิจัยจากองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) พบว่า เด็กไทยไม่ใช่ไม่เก่ง แต่กลายเป็นว่ามีเด็กที่เก่งมาก กับเด็กที่ไม่เก่งมาก ๆ เกิดเป็นความต่างที่เรียกว่า ความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อศึกษาให้ลึกลงไปจะพบว่า มีหลายปัจจัยที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้น คือ ความแตกต่างของฐานะทางสังคมของแต่ละครอบครัว การกระจายตัวของทรัพยากร ทั้งในแง่งบประมาณ หรือครูที่เก่งก็กระจุกตัวเฉพาะในเมืองใหญ่ ตามมาด้วยปัญหาที่สำคัญ คือ ปัญหาคอร์รัปชั่น ที่ทำให้งบประมาณจากรัฐลงไปถึงเด็กไม่เต็มที่

ทั้งนี้ เมื่อมองในแง่คุณภาพการศึกษา “นพ.ธีรเกียรติ” ระบุว่า เป็นประเด็นที่ไม่ค่อยน่าห่วง เพราะที่ผ่านมาการศึกษาไทยมีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งการศึกษาดูงานต้นแบบการพัฒนาก็เกิดขึ้นเป็นระยะ แต่การแก้ปัญหาที่ดี คือ หน่วยงานด้านการศึกษาต้อง “รู้จักตัวเอง” ก่อน เพื่อแก้ไขให้ถูกจุด อย่างไรก็ตาม “นพ.ธีรเกียรติ” เน้นย้ำอีกว่า การแก้ไขปัญหาด้านการศึกษาจำเป็นต้องใช้เวลา และยังมีเรื่อง “การเมือง” เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

และเมื่อถามถึงประเด็นที่ว่า เพราะอะไรเด็กที่เข้ามาเรียนระดับมหาวิทยาลัยจึงขาดความพร้อมในหลาย ๆ ด้าน “นพ.ธีรเกียรติ” บอกว่า ปัญหาด้านการศึกษาของเด็กไม่ได้จำกัดผู้รับผิดชอบ อยู่ที่สถาบันการศึกษา หรือครูผู้สอนเท่านั้น แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ตั้งแต่ครอบครัว ชุมชน สังคม ภาคเอกชน และองค์กรต่าง ๆ ที่ต้องช่วยกันส่งเสริมให้เด็กมีสิ่งที่เรียกว่า “การเรียนรู้เพื่อการเรียนรู้” (growth mindset) ที่จะทำให้เด็กรู้สึกชอบของยากขยัน ไม่พึ่งพรสวรรค์ แต่เชื่อในพรแสวง ไม่ย่อท้อ ไม่ท้อถอยที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ทั้งยังเป็นตัวช่วยขับเคลื่อนให้เด็กแสวงหาความรู้อยู่ตลอด จนนำไปสู่สิ่งที่สังคมให้ความสำคัญ นั่นคือlifelong learning หรือการเรียนรู้ตลอดชีวิต

นอกเหนือจากประสบการณ์ในฐานะหน่วยงานของรัฐที่ต้องกำกับดูแลแล้ว ล่าสุด “นพ.ธีรเกียรติ” ยังเข้ามาเป็นที่ปรึกษาให้แก่ The Newton Prep School โรงเรียนเตรียมความพร้อมให้กับเด็กที่อยากศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก เนื่องจากเห็นว่า Newton แม้จะเป็นภาคเอกชนที่ทำธุรกิจการศึกษา แต่ยังให้ความสำคัญกับการช่วยแก้ปัญหาในภาพใหญ่ ไม่ได้มุ่งหวังเฉพาะผลประโยชน์ทางธุรกิจ ผู้บริหารของ Newton เข้ามาปรึกษาว่า ธุรกิจการศึกษาที่น่าจะมีโอกาสขยายตัวได้อีก จึงแนะนำให้ทำธุรกิจศึกษาในลักษณะ personalize คือ มีความเฉพาะบุคคล มีรูปแบบการเรียนรู้ที่ออกแบบมาอย่างเฉพาะเจาะจง และเมื่อผมหมดหน้าที่ทางการเมืองแล้วก็ได้รับการทาบทามให้มาช่วยเป็นเหมือนครูใหญ่ให้กับ Newton

“นพ.ธีรเกียรติ” ฉายความสนใจของนักเรียนที่ต้องการไปศึกษาต่อมหาวิทยาลัยของโลกด้วยว่า ปัจจุบัน 2 ใน 3ของเด็กไทยที่จบมัธยมศึกษา เลือกเรียนต่อในคณะสายสังคมศาสตร์ จะมีเพียง 1 ใน 3 ที่เลือกเรียนคณะสายวิทยาศาสตร์ เด็กที่เรียนต่อต่างประเทศส่วนใหญ่ยังคงเลือกเรียนในคณะสายวิทยาศาสตร์ โดยคณะยอดฮิตที่สุดคงหนีไม่พ้นแพทยศาสตร์ รองลงมาคือวิศวกรรม โดยระยะหลังมีเด็กที่มุ่งไปเรียนต่อด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ หรือพวกปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (artificial intelligence) มากขึ้น และประเทศที่เด็กไทยไปเรียนต่อมากก็ยังคงเป็นสหรัฐอเมริกา และอังกฤษ

แต่ก็มีประเทศแคนาดาที่ขณะนี้เริ่มได้รับความนิยมจากเด็กไทยมากขึ้น เพราะค่าใช้จ่ายถูกกว่าสหรัฐอเมริกามาก ทั้งยังมีจุดเด่นเรื่องความปลอดภัย และปัจจุบันในประเทศไทยพบว่าครอบครัวชนชั้นกลางที่พอมีกำลัง และมองเห็นโอกาสบางอย่าง มักส่งบุตรหลานไปเรียนในโรงเรียนอินเตอร์ ซึ่งขณะนี้น่าจะมีเด็กเรียนอินเตอร์ในประเทศไทยราว 50,000 คน กว่า 200 โรงเรียน ดังนั้น ธุรกิจการศึกษาที่ช่วยเตรียมความพร้อมให้กับเด็กในการเข้าเรียนมหาวิทยาลัยชั้นนำ จึงเป็นโอกาสที่น่าจับตา

“นพ.ธีรเกียรติ” ยังบอกอีกว่า มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกไม่ได้พิจารณารับเด็กเข้าเรียนจากเฉพาะผลการเรียนเท่านั้น แต่พิจารณาอย่างรอบด้าน ทั้งผลการเรียน ผลงาน และกิจกรรม ทัศนคติ และบุคลิกภาพ นิสัยใจคอ ความโดดเด่นและวุฒิภาวะ รวมถึงความพร้อมในด้านอื่น ๆ ที่ต้องเกิดจากการปลูกฝังตั้งแต่เด็ก ซึ่งสอดคล้องกับ Newton ที่มีปรัชญาในการดูแลเด็ก 4 ประการ หรือที่เรียกว่า Newton, we CARE คือ C-character หมายถึง การดูแลเด็กในลักษณะการสร้างคุณลักษณะที่เหมาะสมกับมหาวิทยาลัยที่พวกเขาตั้งใจจะเข้าเรียน, A-academic หมายถึง การกวดวิชาให้เด็กมีความพร้อมในทางความรู้วิชาการที่จำเป็นต่อคณะ หรือสาขาที่จะเข้า, R-resource หมายถึง การหาทางให้เด็กเข้าถึงแหล่งทรัพยากรทางความรู้ดี ๆ เพื่อให้เข้าถึงผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ ที่จะช่วยส่งเสริมให้เขามีความโดดเด่นยิ่งขึ้น

และสุดท้าย E-English เป็นสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้เลย เพราะทักษะภาษาอังกฤษ เป็นเรื่องพื้นฐานที่จะนำไปสู่การเข้าถึงความรู้อื่น ๆ เด็กแต่ละคนที่เข้ามาที่นี่จะได้รับการประเมินในทุกด้าน และยังออกแบบโปรแกรมการเรียนรู้ที่มีความเฉพาะเจาะจงกับเด็กแต่ละคน เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นจริงไม่ใช่แค่เก่งวิชาการ แต่ยังต้องมีบุคลิกภาพที่โดดเด่น มีทัศนคติที่ดี โดยท้ายที่สุด คือ การพาเด็กแต่ละคนให้เข้าสู่เป้าหมายที่จะได้เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก