“ซีพี ออลล์” สานต่อค่าย AI ควงมห’ลัยดังบ่มเพาะนักประดิษฐ์

เมื่อปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (artificial intelligence) รุกคืบอย่างหนัก จากเรื่องที่ไกลตัวกลายมาเป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้น ผ่านเครื่องมือต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน และในอนาคตจะยิ่งมีความจำเป็นมากขึ้น ดังนั้น คนในอนาคตซึ่งก็คือเยาวชนในวันนี้ จะต้องมีความรู้เรื่อง AI ในระดับที่เรียกว่ารู้เพื่อนำไปใช้และต่อยอดเป็นนวัตกรรม เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม หรืออาจจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนอีกด้วย บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ยักษ์ใหญ่ด้านค้าปลีกของไทย จึงพัฒนาความร่วมมือด้านปัญญาประดิษฐ์ร่วมกับมหาวิทยาลัยปักกิ่ง (PKU) มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NUS) 2 มหาวิทยาลัยชั้นนำด้าน AI ของโลก และสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) จัดค่าย”Creative AI Camp” ต่อเนื่องปีที่ 2 โดยในปีนี้เพิ่มความเข้มข้นให้กับค่ายด้วยการดึงผู้เชี่ยวชาญด้าน AI จากต่างประเทศ เพื่อเสริมทัพอัดแน่นความรู้และประสบการณ์ให้กับนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและอาชีวะที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักในครั้งนี้ด้วย

ค่าย “Creative AI Camp” ในครั้งนี้หวังสร้างเยาวชนให้รับมือในยุคนี้ ที่เรียกว่า”seamless AI and life” ที่ต้องการสนับสนุนพร้อมกับเป็นแรงบันดาลใจให้คิดค้นและนำเสนอไอเดียที่สามารถนำไปสร้างเทคโนโลยีให้ตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (sustainability)

“ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้ก่อตั้งร้านเซเว่นอีเลฟเว่นในประเทศไทย ให้ข้อมูลของค่ายดังกล่าว บอกว่า มีการคาดการณ์ว่าในปี 2020 นี้โลกกำลังจะก้าวเข้าสู่ยุค seamless AI and life หรือยุคที่ AI เข้ามามีส่วนร่วมกับชีวิตประจำวันของมนุษย์แบบไร้รอยต่อ ในขณะที่ ซีพี ออลล์ และพันธมิตรต่างมีวิสัยทัศน์ร่วมกัน โดยมีความมุ่งหวังที่จะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มี “ทักษะที่จำเป็น” โดยให้ผู้ใช้ AI สามารถนำ AI ไปขับเคลื่อนสร้างสรรค์ประโยชน์ให้กับสังคมและประเทศ พร้อมสนับสนุนงานต่าง ๆ ของคน ไม่ใช่นำมาใช้เพื่อการ “แทนที่” จึงเป็นที่มาของการจัดค่าย Creative AI Camp เพื่อให้มีทักษะที่จำเป็น และสามารถนำ AI มาช่วยพัฒนาทุกภาคส่วนอย่างมีคุณธรรม

“เราเชื่อว่าเทคโนโลยีสามารถนำไปสู่ความสำเร็จในชีวิตได้ แต่ขณะเดียวกัน ความสำเร็จที่แท้จริงคือการเรียนรู้เพื่อที่จะเข้าใจคนอื่น และคนอื่นก็ต้องเข้าใจเรา ในที่สุดก็จะเกิดความร่วมมือของทุกคน และค่าย Creative AI Camp จะผสมผสานองค์ความรู้เรื่องปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งเป็นทักษะเฉพาะทาง (hard skills) เข้ากับหมากล้อม (GO) เกมกีฬาปรัชญาการดำเนินชีวิต ซึ่งเป็นทักษะที่ยืดหยุ่น (soft skills) เข้าด้วยกัน โดยผู้เข้าร่วมค่ายจะได้เรียนรู้ทั้ง AI และหมากล้อม แล้วนำไปใช้ให้เกิดความสำเร็จได้”

“ก่อศักดิ์” กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า นอกเหนือจากความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยในต่างประเทศข้างต้นแล้ว ซีพี ออลล์ยังมีความร่วมมือกับองค์กรและผู้เชี่ยวชาญด้าน AI ระดับโลกมาเป็นวิทยากร พร้อมกับพันธมิตรภาคเอกชนและผู้ประกอบการที่มีความเชี่ยวชาญทางด้าน AI ด้วย คือ บริษัท ไอโนว์พลัส จำกัด และบริษัท แอ็คโคเมท จำกัด จะมาร่วมให้ความรู้แก่นักเรียนหัวกะทิระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและอาชีวศึกษาที่ผ่านการคัดเลือกอย่างเข้มข้น 38 คน จากผู้สมัครทุกภูมิภาคทั่วประเทศ สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ “ร่วมสร้างสรรค์ แบ่งปันโอกาสเพื่อทุกคน” ได้พัฒนาทักษะความสามารถจนกลายเป็น “พลเมือง AI สร้างสรรค์” (creative AI citizen) ที่สามารถสร้างสรรค์ AI เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับสังคมได้

“ดร.พงส์ศักดิ์ โหลิมชยโชติกุล” ผู้อำนวยการสำนักปัญญาประดิษฐ์สร้างสรรค์ บมจ.ซีพี ออลล์ ผู้ริเริ่มและบริหารโครงการ กล่าวเสริมแนวคิดว่า สำหรับค่ายครั้งที่ 2 นี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “I AM AND AI FOR I AM” ซึ่งประกอบขึ้นจาก I AM หมายถึง ตัวเราหรือมนุษย์ และ AI FOR I AM หมายถึงเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เพื่อมนุษย์ สะท้อนว่าค่ายนี้ต้องการให้เยาวชนนั้นพัฒนาทักษะและคุณธรรมจริยธรรม จนทำให้ทั้งมนุษย์และเทคโนโลยี AI นั้นอยู่ร่วมกันได้ในยุค seam-less AI and life

“เนื้อหาหลักที่เยาวชนจะได้เรียนรู้ภายในค่ายประกอบด้วย การบูรณาการวิธีสร้างสรรค์ AI ผ่านปรัชญาการเล่นหมากล้อม (creative AI convergence by go philosophy) เนื่องจากวิธีการสร้าง AI แบบดั้งเดิมคือวิธีการสร้างแบบตายตัว พัฒนาให้ AI ทำได้เพียงครั้งละ 1 ฟังก์ชั่น การฝึกให้เยาวชนเข้าใจถึงกระบวนการคิดของหมากล้อม ซึ่งมีกลยุทธ์ที่ซับซ้อนจะทำให้เยาวชนสามารถสร้างสรรค์ AI ที่มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น รู้แพ้รู้ชนะ ให้ความสำคัญกับมิตรภาพ มององค์รวม ทำให้ Creative AI Camp เป็นโครงการแรกที่นำความรู้ด้าน AI มาผสมผสานกับหมากล้อม ความรู้เกี่ยวกับกลุ่มเทคโนโลยี ABCD อันประกอบด้วย AI (ปัญญาประดิษฐ์) blockchain (บล็อกเชน) cloud และ digital data รวมถึงการฝึกปฏิบัติจริง”

“โดยจะให้เหล่าเยาวชนแบ่งกลุ่มสร้างสรรค์ไอเดียเพื่อพัฒนาโครงการด้านเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (sustainable development goals หรือ SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ (UN) เป็นพื้นฐานของการสร้างสรรค์เทคโนโลยีกลับมาดูแลสังคม ในวันสุดท้ายของค่ายจะมีการเปิดพื้นที่ให้เยาวชนได้นำเสนอโครงการแก่คณะกรรมการทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติด้วย ทั้งนั้น ซีพี ออลล์คาดหวังว่าเยาวชนที่เข้าร่วมค่ายครั้งนี้จะนำองค์ความรู้ AI และหมากล้อมที่ได้รับไปส่งต่อให้เพื่อน ๆ ในโรงเรียนที่ ซีพี ออลล์คาดหวังว่าเยาวชนเหล่านี้จะกลายเป็นเมล็ดพันธุ์แห่งการเปลี่ยนโลกในอนาคต และร่วมกันนำเทคโนโลยีมาขับเคลื่อนประเทศอย่างนี้ต่อไปในอนาคตอย่างมีคุณธรรมและจริยธรรม”

ทั้งนี้ สำหรับการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์มาพร้อม ๆ กับการพัฒนาเทคโนโลยีที่คุ้นเคยกันดี คือ “disruptive” ที่ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจมากมายให้ต้องพัฒนาและปรับตัวตั้งรับกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ตั้งแต่ธุรกิจการเงินอุตสาหกรรมการผลิตต่าง ๆ เช่น รถยนต์ รวมไปจนถึงธุรกิจพลังงาน และธุรกิจอื่น ๆ ฉะนั้น ความรู้ความเชี่ยวชาญด้าน AI จึงต้องปลูกฝังและพัฒนากันตั้งแต่เด็ก ไปจนถึงนักศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่ทยอยปรับปรุงหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงการพัฒนาหลักสูตรเฉพาะทางด้าน AI เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นต้น

ในปี 2564 ยังมีมหาวิทยาลัยอื่นอย่างมหาวิทยาลัยมหิดลที่อยู่ระหว่างการพัฒนาหลักสูตรด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ระดับปริญญาโทตามมาอีกด้วย