“แชฟฟ์เลอร์” ผนึก “RMUTI” พัฒนาหลักสูตรระบบขนส่งรถไฟ

ระบบโลจิสติกส์เป็นปัจจัยหนึ่งที่ยกระดับความสามารถทางการแข่งขันทางการค้าการลงทุนในประเทศไทย โดยที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้จัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทย ตามแผนปฏิบัติการระยะเร่งด่วนปี 2559 ประกอบด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งทางราง

ด้วยเหตุนี้ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทยจะต้องพัฒนาคนให้ทันต่อระบบขนส่งทางรางที่กำลังสร้างขึ้น ดังนั้น ในฐานะที่ แชฟฟ์เลอร์ เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์สำหรับยานยนต์ และอุตสาหกรรมระดับโลก จึงร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (RMUTI) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) เพื่อพัฒนาความรู้ด้านระบบขนส่งรถไฟและเทคโนโลยีในประเทศไทย เพื่อพัฒนา และดำเนินการหลักสูตรโปรแกรมการเรียนรู้ และการฝึกอบรมทางเทคนิคเกี่ยวกับระบบการขนส่งทางรถไฟที่วิทยาลัยทักษะนวัตกรรม (CIS) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน

“มาร์ติน ชไรเบอร์” ประธานฝ่ายอุตสาหกรรมภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก บริษัท แชฟฟ์เลอร์ กล่าวว่า แชฟฟ์เลอร์ให้บริการด้านอุตสาหกรรมมานานกว่า10 ปี เป็นบริษัทชั้นนำที่มีความเชี่ยวชาญในเชิงลึก และมีความรู้ด้านเทคนิคในโครงการรถไฟที่หลากหลาย โดยเฉพาะด้านการขนส่งด้วยความเร็วสูง การขนส่งสินค้า และการขนส่งในท้องถิ่นในเมืองใหญ่ทั่วโลก ที่ผ่านมาแชฟฟ์เลอร์ได้ทำการทดลองในห้องปฏิบัติการทดสอบในประเทศเยอรมนี และประเทศจีนด้วย

“จริง ๆ เราพร้อมที่จะขยายบทบาทในการพัฒนาคนไทยในภาคอุตสาหกรรมนี้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตพัฒนายุทธศาสตร์ของเอเชียกลาง และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากเรามองเห็นถึงแนวโน้มด้านการขนส่งระหว่างเมืองในปัจจุบัน โดยระบบการขนส่งด้วยความเร็วสูงจำเป็นต้องใช้ทีมงานที่เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์สูง รวมทั้งต้องมีความเข้าใจในระบบเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ รวมถึงโซลูชั่นที่เป็นนวัตกรรม ซึ่งแชฟฟ์เลอร์มีความพร้อมที่จะขยายความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษา และวิจัยต่าง ๆ ซึ่งพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการระหว่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน และแชฟฟ์เลอร์ครั้งนี้เราร่วมมือกับบริษัท ทีเอ็นจี คอร์ปอเรชั่น และบริษัทเฮฟวี่ 34 เอ็นจิเนียริ่ง จำกัดด้วย”

“ทั้งนั้นเพราะต้องการเสริมสร้างเครือข่ายนวัตกรรมระดับโลกของแชฟฟ์เลอร์ และการขยายฐานความรู้ให้ครอบคลุมในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญในประเทศไทย โดยก่อนหน้านี้ในปี 2560 แชฟฟ์เลอร์จัดตั้งแชฟฟ์เลอร์ ฮับ (Schaeffler Hub) เพื่อการวิจัยขั้นสูงที่มหาวิทยาลัยซีหนานเจียวทง (SouthwestJiaotong-SWJTU) จังหวัดเฉิงตู ประเทศจีนด้วยการรวมความสามารถในการวิจัยของมหาวิทยาลัยเข้ากับความเชี่ยวชาญด้านระบบเมคาทรอนิกส์ และระบบของแชฟฟ์เลอร์ในการบำรุงรักษาแบบคาดการณ์ล่วงหน้าได้”

“ชัยชาญ โอปนายิกุล” รองผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท แชฟฟ์เลอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวเสริมว่าวิทยาลัยทักษะนวัตกรรมมีศักยภาพสูง และตั้งอยู่ในศูนย์กลางด้านการพัฒนาระบบขนส่งรถไฟของไทยโดยเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ซึ่งเป็นสถาบันหลักของมหาวิทยาลัย 9 แห่งในประเทศไทยที่ให้การศึกษาระดับปริญญาตรีและระดับที่สูงกว่า

“มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสานเปิดดำเนินงาน 5 วิทยาเขตในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ซึ่งเป็นภูมิภาคการพัฒนาสำคัญสำหรับโครงการ Belt and Road โครงการรถไฟความเร็วสูงระยะที่ 1 (พ.ศ. 2560-2564) จากกรุงเทพฯถึงจังหวัดนครราชสีมา (252.5 กม.) อยู่ระหว่างการก่อสร้าง และระยะที่ 2 (พ.ศ. 2565-2569) จะขยายจากจังหวัดนครราชสีมาไปจังหวัดหนองคายระยะทาง 355 กม. นับเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงในฐานะเป็นหนึ่งในสถาบันการศึกษาชั้นนำที่มีส่วนช่วยในการพัฒนามาตรฐานการศึกษาด้านเทคนิคและการฝึกอบรมวิชาชีพในประเทศไทย โดยเฉพาะในด้านระบบการขนส่งทางรถไฟ”

“เราจึงมองเห็นศักยภาพในการร่วมมือระหว่างแชฟฟ์เลอร์ และวิทยาลัยทักษะนวัตกรรมมีศักยภาพสูงในครั้งนี้ ซึ่งนับเป็นการมีส่วนร่วมครั้งแรกของกลุ่มแชฟฟ์เลอร์ในโครงการพัฒนาด้านวิชาการสำหรับระบบขนส่งระหว่างเมืองในไทย โดยสอดคล้องกับนโยบายและแผนพัฒนาของรัฐบาลไทย จึงทำให้เราพร้อมสนับสนุนสถาบันการศึกษาในการสร้างคน เพื่อเป็นทรัพยากรสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป”