“จุฬาฯ” ขานรับความยั่งยืน ยกเครื่องเรียนข้ามศาสตร์

แม้จะอยู่บนยอดพีระมิด ที่ยังไม่ได้รับผลกระทบจากพายุดิสรัปชั่น (disruption) ในทันที สำหรับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยท็อปไฟฟ์ของประเทศก็ยังตั้งรับเตรียมตัวรับมือไม่ต่างจากมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ที่ได้รับผลกระทบเข้าอย่างจังเช่นกัน “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์ “ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์” อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงทิศทางและบทบาทของจุฬาฯในอนาคต ท่ามกลางการแข่งขันในธุรกิจการศึกษา และหลากหลายปัจจัยเข้ามากระทบ พิสูจน์การเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ

คีย์เวิร์ดสำคัญของจุฬาฯในยุคนี้คือ การเป็น “จุฬาฯเพื่อสังคม” ที่ให้น้ำหนักไปที่การเป็นส่วนหนึ่งของการ “พัฒนาที่ยั่งยืน” จากคีย์เวิร์ดนี้ ศ.ดร.บัณฑิตอธิบายว่า ปัจจุบันบทบาทของจุฬาฯ นอกเหนือจากการช่วยเหลือสังคมแล้ว ยังต้องการเป็นตัวอย่างให้สังคมในการทำเรื่องดี ๆ อีกทั้งในขณะนี้ทั่วโลกต่างตื่นรู้กับประเด็นความยั่งยืนมากขึ้น

จากตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนจากการที่ภาคเอกชนและองค์กรใหญ่ ๆ ล้วนมุ่งมาในเรื่องนี้ เพราะสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs (sustainable development goals) ที่ใช้เป็นกรอบในการพัฒนารวม 17 ข้อขององค์การสหประชาชาติ (United Nations) ผ่านกิจกรรมหลายด้านของจุฬาฯ ไม่ว่าจะเป็นการวิจัย การสร้างนวัตกรรม ให้ความสำคัญเรื่องความยั่งยืนแบบเข้มข้น และเชื่อมโยงจุฬาฯ ให้ใกล้ชิดกับสังคมเพื่อยกระดับประเทศไปจนถึงการยกระดับจนถึงระดับนานาชาติที่ทำให้คนของจุฬาฯ ได้ดำเนินการและมีส่วนร่วม

“ศ.ดร.บัณฑิต” ยังกล่าวอีกว่า การพัฒนาอย่างยั่งยืนไม่ใช่ภารกิจของคนใดคนหนึ่งเท่านั้น ทุกคนบนโลกใบนี้ต้องมีส่วนร่วม การเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศจึงต้องเป็นตัวอย่างให้สังคม นำเรื่องการพัฒนายั่งยืนมาเป็น “องค์ประกอบ” ทุกอย่างในการทำงาน จะก่อเกิดผลกระทบเชิงบวกต่อการพัฒนาสังคมไทยอย่างไร

“ต้องไม่เป็นกิจกรรมที่ทำแล้วจบในวันเดียว แต่ทุกกิจกรรมที่จัดต้องพิจารณาว่า จัดขึ้นเพื่ออะไร สามารถสร้างผลกระทบได้อย่างไร เดินหน้าโครงการที่มีอยู่ในมือ มั่นใจได้ว่าต่อจากนี้จะเห็นจุฬาฯ จะแก้ไข พัฒนา และสร้างผลกระทบเชิงบวกออกสู่สังคมต่อไปอย่างชัดเจนมากขึ้น ขยายไปสู่ภูมิภาคเอเชีย จนถึงระดับนานาชาติได้ต่อไปในอนาคต อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติจุฬาฯทำทุกเรื่องไม่ได้ แต่จะเน้นดำเนินการให้ครอบคลุมในเรื่องที่จุฬาฯมีความถนัด มีความพร้อมและสร้างผลกระทบสู่สังคมในวงกว้างได้อย่างเป็นรูปธรรม”

การเดินหน้าเรื่องความยั่งยืนของจุฬาฯนั้น ศ.ดร.บัณฑิตระบุว่า จุฬาฯมองไปถึงเรื่องของสุขภาพ พลังงาน และสังคมเมือง และจุฬาฯยังให้ความสำคัญในการเชื่อมโยงกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนให้มากขึ้น โดยเฉพาะในประเด็นที่เป็นปัญหาของสังคม เช่น เรื่องคุณภาพอากาศ และสมาร์ทซิตี้ ซึ่งล้วนแต่เป็นเรื่องที่จุฬาฯได้เน้นย้ำ เป็นตัวชี้บทบาทของจุฬาฯที่เป็น “มากกว่า” การเรียนการสอน แต่ต้องทำเรื่องผลกระทบเชิงบวกให้เกิดขึ้นได้ อย่างเช่น ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน และยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ฉะนั้นจุฬาฯที่เตรียมการหารือกับผู้เชี่ยวชาญว่าจะลงมืออย่างไรและเริ่มดำเนินการในช่วงใด

ได้เห็นทิศทางการดำเนินการด้านความยั่งยืนของจุฬาฯแล้วนั้น มาดูที่หน้าที่หลักคือ การผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพออกสู่ตลาดนั้น “ศ.ดร.บัณฑิต” อธิบายว่าที่่ผ่านมาหลักสูตรการเรียนการสอนของจุฬาฯนั้น เน้นให้นักศึกษามีความรู้ทางวิชาการตามศาสตร์ต่าง ๆ แต่เมื่อสังคมมีความซับซ้อนมากขึ้น ก็มีความรู้มากขึ้นหลายศาสตร์ด้วยกัน เพราะฉะนั้นเราต้องพัฒนาอย่างรายวิชาที่เตรียมให้นักศึกษาได้เรียนรู้ เป็นเรื่อง “ข้ามศาสตร์” มากขึ้น ในขณะนี้ได้กลายเป็นเรื่องธรรมดาทั่วไปสำหรับการเรียนข้ามศาสตร์ เช่น สถาบันนวัตกรรมบูรณาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (School of Integrated Innovation, Chulalongkorn University)

อย่างเช่นคณะแพทยศาสตร์ เปิดให้มีความร่วมมือระหว่างคณะศิลปศาสตร์ในเรื่องของดนตรีบำบัด หรือวิศวกรรมศาสตร์ร่วมมือกับคณะเภสัชศาสตร์ เช่น เมื่อเรียนจบเภสัชก็จำเป็นจะต้องมีเรื่องของการบริหารจัดการหากต้องออกมาเป็นผู้ประกอบการ (startup) หรือผู้ประกอบการรายเล็กอย่าง SMEs

“วันนี้ของจุฬาฯจึงได้ปูพื้นคนให้เป็นการเรียนรู้ด้วยตัวเองได้ และเมื่อเรียนแล้วจบไปก็ยังสามารถเรียนรู้ต่อได้ตลอดชีวิต หรือ life long learningเพื่อเสริมทักษะให้ก้าวทันโลก ก้าวทันเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะเภสัชศาสตร์ ได้ยกเครื่องใหม่ ปรับปรุงในรายวิชา ไม่ให้นักศึกษาเรียนเฉพาะในชั้นเรียนเท่านั้น ต้องได้เรียนรู้ภายนอกเสริมเข้าไปด้วย รวมถึงคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีที่ร่วมกับสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีโครงการแชมป์ที่นำนักศึกษาไปศึกษาการทำงานในการบริหารจัดการของจริง และยังสร้างเครือข่ายการเรียนผ่านระบบออนไลน์ที่มีผู้เรียนเฉพาะในไทยกว่า 300,000 คนอีกทั้งยังมีอัตราการเรียนจบที่สูงมากอีกด้วย”

เมื่อถามถึงผลกระทบจาก disruptionนั้น ศ.ดร.บัณฑิตระบุว่า จุฬาฯเปรียบเสมือนอยู่บนยอดพีระมิด แม้ว่าจะมีปัจจัยหรือตัวแปรที่ไม่สามารถควบคุมได้ แต่ต้องมีการ “เตรียมตัว” ที่ดี อีกทั้งเหล่าคณาจารย์และนักศึกษาต่างต้องเรียนรู้ซึ่งกันและกัน และต้องให้นักศึกษาได้เรียนรู้ด้วยตนเอง โดยเฉพาะเรื่องนี้จุฬาฯจะให้ความสำคัญมากขึ้น อย่างเช่น การจัด smart classroom & interactiveclassroom คือ ห้องเรียนในรูปแบบที่มีความทันสมัย เครื่องมือในการเรียนการสอนยังสามารถใช้เชื่อมโยงข้อมูลที่สำคัญในต่างประเทศได้อีกด้วย ส่งผลให้นักศึกษาได้เรียนรู้ในเชิงกว้างได้มากขึ้น

ในช่วงท้าย ดร.บัณฑิตระบุว่า “disruption ก็เหมือนกับพายุ ถ้าเราไม่เตรียมตัว ในวันที่ disruption มาถึงบ้านเราก็จะต้องพังทลาย เสียหายได้ แต่หากคาดการณ์ล่วงหน้าได้นั้น นั่นหมายถึงว่าจะมีเวลาเตรียมตัว และเมื่อพายุมาถึงก็จะเกิดความเสียหายเพียงเล็กน้อย เมื่อพายุผ่านพ้นไปแล้วจุฬาฯก็จะเติบโตและแข็งแรงมากขึ้น และทำหน้าที่ผลิตบุคลากรที่ประเทศต้องการต่อไป