ขอ 2 หมื่นล้าน ยกเครื่องมหา’ลัยรัฐสู้ “ดิสรัปชั่น”

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์

กระทรวงอุดมศึกษาฯขอ 20,000 ล้าน ยกเครื่องมหา”ลัยรัฐ แก้ทางดิสรัปชั่น ปรับบทบาท สร้างธรรมาภิบาล จี้ส่งบัญชีการเงินทุกปี ตั้งหน่วยงานรองรับยุคเปลี่ยนผ่าน ชี้คอร์รัปชั่นทำการศึกษาไทยอ่อนแอ จ่อของบปีหน้าอีก 4.6 หมื่นล้าน หนุนการวิจัยตอบโจทย์ระดับประเทศ ทั้งปัญหาฝุ่น-รถติด เพิ่มหลักสูตรใหม่ พัฒนาทักษะ non degree 38 ล้านคน รับมือนักศึกษาลดลง ผนึกเอกชนการันตีขึ้นเงินเดือน

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การศึกษาไทยมีปัญหาเชิงคุณภาพเน้นแต่ปริมาณ ทั้งฝ่ายการเมืองยังเรียกร้องให้เปิดมหาวิทยาลัยเพิ่ม รวมถึงมหาวิทยาลัยไม่มีการปรับตัว รองรับการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 คอร์รัปชั่นเป็นอีกปัญหาที่ทำให้งบประมาณถูกใช้ไม่เต็มที่ มหาวิทยาลัยเหมือนรัฐอิสระแต่ต้องรับผิดชอบสังคมด้วย ถึงเวลาต้องยกเครื่องสถาบันอุดมศึกษาของรัฐทั้งหมด พร้อมนำธรรมาภิบาลเข้ามากำกับดูแล

โดยปรับบทบาทแต่ละมหาวิทยาลัยคือ 1.มหาวิทยาลัยที่ออกไปสู้กับโลก ต้องพัฒนาสู่ระดับเวิลด์คลาส เช่น จุฬาลงกรณ์, มหิดล, ธรรมศาสตร์, เชียงใหม่, เกษตรศาสตร์ และขอนแก่น 2.มหาวิทยาลัยที่มุ่งเน้นนวัตกรรม อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี เช่น เทคโนโลยีราชมงคล, อาชีวะอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี และ 3.มหาวิทยาลัยพัฒนาเชิงพื้นที่ ต้องตอบโจทย์ชุมชน เช่น ราชภัฏ ฯลฯ พร้อมต้องจัดตั้งหน่วยงานรองรับช่วงเปลี่ยนผ่าน และมุ่งเน้นการปรับตัว

ฉะนั้นการปรับโครงสร้างของสถาบันระดับอุดมศึกษาครั้งนี้ ในเดือนกุมภาพันธ์ อว.จะยื่นเรื่องของบประมาณจากสภานโยบายอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) แบ่งเป็น 2 ส่วน คืองบประมาณเพื่อปรับโครงสร้าง 20,000 ล้านบาท และงบฯสำหรับการวิจัย (งบประมาณปี”64) 46,000 ล้านบาท โดยตั้งเงื่อนไขว่า ต้องพัฒนาประเทศสู่ความล้ำสมัย เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระดับประเทศ แก้ปัญหาความยากจน และงานวิจัยที่ท้าทายปัญหาโลก อาทิ ฝุ่น PM 2.5 การจราจร และโรคระบาด

รวมถึงเงื่อนไขใหม่ทุกมหาวิทยาลัยต้องสร้างธรรมาภิบาลให้เห็นชัดเจนคือต้องส่งรายงานทางการเงิน (financial report) ทุกปี เร็ว ๆ นี้ อว.จะตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ เพื่อเรียกตรวจบัญชี ซึ่งทางกฎหมายก็มีสิทธิ์อยู่แล้ว และการวิจัยต้องมีหน่วยงานภาคเอกชน องค์กรทั้งในและต่างประเทศดำเนินการต่อเนื่อง พร้อมจะแก้ปัญหาและพัฒนาเชิงพาณิชย์ได้

“อว.พบว่าเงินวิจัยเป็นประเภทเบี้ยหัวแตก ตอบโจทย์แค่อาจารย์ที่ทำวิจัย เพื่อให้ได้วิทยฐานะ เป็นงานวิจัยที่ไม่มีพลัง เราจะดึงงบประมาณส่วนหนึ่งมาแก้ปัญหาเร่งด่วน”

ดร.สุวิทย์กล่าวว่า ได้ให้โจทย์ไป 3 เรื่องเพื่อพลิกวิกฤตนักศึกษาที่ลดจำนวนลงเรื่อย ๆ นั่นคือภารกิจสร้างคน เดิมโฟกัสแค่นักศึกษาระดับปริญญาตรีที่มีในระบบเพียง 3-4 ล้านคนเท่านั้น แต่ต่อไปนี้จะโฟกัสวัยทำงานและพัฒนาทักษะ (reskill-upskill) เนื่องจากเทคโนโลยี disruption ที่ประเมินไว้มีไม่ต่ำกว่า 38 ล้านคน หรือสร้างทักษะใหม่ ๆ ที่ตลาดต้องการได้ เช่น ธุรกิจดูแลผู้สูงวัย สร้างพลังให้สังคมโดยนำผู้สูงวัยมาเรียนรู้กับปราชญ์ชาวบ้าน เพื่อพัฒนาชุมชนตัวเอง เพราะผู้สูงวัยมีมากถึง 11 ล้านคน ขณะที่กลุ่มเตรียมเป็นผู้สูงวัย (pre-aging) อายุ 40-50 ปี ต้องเตรียมตัวเป็นผู้สูงวัยคุณภาพ จึงถือโอกาสนี้ให้มหาวิทยาลัยพัฒนาหลักสูตรตรงตามที่ตลาดต้องการในอนาคต

ส่วนการเปลี่ยนวุฒิบัตรจากใบปริญญา (degree) สู่การเรียนสร้างอาชีพด้วยคอร์สสั้น ๆ ตั้งแต่ 3-6 เดือน หรือ 1 ปี หลังเรียนจบแล้วจะได้ประกาศนียบัตร (non degree) และเรียนสะสมจากคอร์สระยะสั้นเพื่อเปลี่ยนเป็นใบปริญญาได้ในอนาคต

“สิ่งที่เรียนมาในอดีตเริ่มไม่เพียงพอกับโลกปัจจุบันแล้ว เพราะถูกดิสรัปต์ โดยเฉพาะกลุ่ม blue ocean กว่า 38 ล้านคน โลกปัจจุบันไม่ได้บ้าดีกรีกันแล้ว เขาต้องการเรียนรู้เพื่อไปทำงานจริง ๆ ยกตัวอย่างรัฐบาลกล่าวถึง smart farmer ผู้เรียนจะถามเลยว่า มีโปรแกรมให้ผมเรียนหรือไม่ จะให้ไปเรียนด้านเกษตรอย่างเดียว 4 ปี คงไม่มีใครสนใจ”

อว.ยังกระตุ้นภาคเอกชนรายใหญ่ให้สานต่อโครงการ Coperate University ซึ่งก่อนหน้านี้มี 10 รายเข้าร่วม เช่น SCG,โตโยต้า และกลุ่มสถาบันการเงินต่าง ๆ ล่าสุดจะขยายไปถึง supply chain และกลุ่มผู้ประกอบการขนาดเล็ก (SMEs) เพื่อพัฒนาหลักสูตร 3 รูปแบบ คือ 1.อว.ส่งเสริมให้บริษัทใหญ่ทำหลักสูตร non degree 2.ให้ภาคเอกชนร่วมกับมหาวิทยาลัยทำ non degree และ 3.ให้แต่ละมหาวิทยาลัยเสนอหลักสูตรใหม่ หากเป็นไปได้กรณีที่คนทำงานได้เพิ่มทักษะของตัวเองแล้วจะได้รับการปรับเงินเดือนเพิ่ม ซึ่งภาคเอกชนส่วนใหญ่เห็นด้วย

นั่นหมายความว่าบริษัทจะมีกำไรเพิ่ม ทั้งผลผลิตภาพและเศรษฐกิจจะฟื้น โดยคนทำงานจะมีองค์ความรู้ใหม่ แล้วนำไปต่อยอดกับการทำงานได้มากขึ้น


“non degree จะมีบทบาทมากในอนาคต ทุกมหาวิทยาลัยต้องสร้างมาตรฐาน ทั้ง อว.ผู้ประกอบการ และมหาวิทยาลัย ต้องเพิ่มเงินเดือนให้ผู้ที่ออกมาเรียนเพิ่มทักษะ รูปแบบนี้จะช่วยให้ภาคเอกชนหาคนทำงานได้ตรงจุด เกิดแรงกระเพื่อมทางเศรษฐกิจที่ดี” ดร.สุวิทย์กล่าว