ส่องหลักสูตรข้ามศาสตร์ ม.ดัง ฝังความเชี่ยวชาญ-ทำงานเป็น

เมื่อการเรียนรู้ในปัจจุบันไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพียงในชั้นเรียน หลังจากที่เทคโนโลยีพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าใครก็สามารถเข้าถึงความรู้ต่าง ๆ ได้ทันทีผ่านอินเทอร์เน็ต การศึกษาทุกระดับต้องปรับตัวพัฒนาการเรียนการสอนในแบบที่ไม่สามารถหาได้จากช่องทางอื่น เมื่อสำรวจเทรนด์ของสถาบันการศึกษาโดยเฉพาะในระดับอุดมศึกษาที่แต่ละมหาวิทยาลัยที่พยายามออกแบบการเรียนให้สอดคล้องกับยุคสมัยที่ผู้เรียนสามารถออกไปสู่ตลาดงาน คือ การพัฒนาหลักสูตรเรียนข้ามศาสตร์ ผสมผสานให้ผู้เรียนมีความรู้หลากหลาย หลักสูตรความร่วมมือภายในคณะ (double major) พัฒนาหลักสูตรระยะสั้นเพื่อเพิ่มทักษะเฉพาะด้านที่ตลาดงานต้องการและหลักสูตรที่มหาวิทยาลัยร่วมมือกับผู้ประกอบการรายใหญ่พัฒนาหลักสูตร พร้อมการันตีเมื่อเรียนจบได้ทำงานต่อ

สำหรับหลักสูตร “ข้ามศาสตร์” ที่เกิดขึ้นในหลายมหาวิทยาลัยนั้น มีเป้าหมายเพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ที่หลากหลาย และนำไปใช้กับการทำงานได้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้เรียนที่ต้องการออกไปพัฒนาธุรกิจของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม startup และกลุ่มผู้ประกอบการรายเล็ก (SMEs) มาดูที่มหาวิทยาลัยชั้นนำอย่าง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีหลักสูตรข้ามศาสตร์ระหว่างคณะต่าง ๆ รวมกว่า 20 สาขา แบ่งเป็นความร่วมมือระหว่างคณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ สัตวแพทยศาสตร์ และสหเวชศาสตร์ ทั้งในระดับปริญญาตรีไปจนถึงปริญญาโทและปริญญาเอก เช่น หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิตสาขาวิศวกรรมชีวเวช หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิศวกรรมดุษฎีบัณฑิต สาขาวิศวกรรมชีวเวช

ตามมาด้วยหลักสูตรที่เป็นความร่วมมือระหว่างคณะวิทยาศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และสถาบันวิจัยสิ่งแวดล้อม ที่พัฒนาเป็นสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ความร่วมมือระหว่างศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ และสถาบันวิจัยสิ่งแวดล้อม ในการพัฒนาหลักสูตร สาขาวิชาการจัดการสารอันตรายและความร่วมมือของคณะเศรษฐศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ และคณะอักษรศาสตร์ ที่ร่วมกันพัฒนา สาขาวิชายุโรปศึกษา นานาชาติ (Doctor of Art, European Studies) เป็นต้น

นอกจากนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยังมีความร่วมมือกับผู้ประกอบการรายใหญ่ ในการใช้ผู้เชี่ยวชาญโดยตรงและมีความเฉพาะทาง มาช่วยสอนให้นักศึกษาให้เห็นภาพที่ชัดเจนว่าตลาดต้องการคนทำงานแบบใด อีกทั้งนักศึกษาที่มีความสามารถเข้าตา ผู้ประกอบการก็สามารถรับเข้าทำงานหลังจากที่เรียนจบได้ทันที ลดต้นทุนการจัดหาคนทำงานของผู้ประกอบการได้อีกด้วย

มาที่ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร (มศว.) มีการบูรณาการข้ามศาสตร์นั้น ได้มีการจัดรายวิชาศึกษาทั่วไปให้แก่ทุกคณะ ภายใต้ชื่อวิชา SWU โดยส่งเสริมให้มีการบูรณาการข้ามศาสตร์ เช่น นิสิตสายวิทยาศาสตร์สุขภาพ เช่น คณะแพทยศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ จะได้เรียนในรายวิชาที่เกี่ยวข้องกับสุนทรียศาสตร์ ศิลปะ การวิจัย ทางสังคมศาสตร์ และเพิ่มเติมองค์ความรู้ข้ามศาสตร์จากที่เรียนในหลักสูตรตามวิชาชีพของผู้เรียน

ส่วนนิสิตสายมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ จะได้เรียนเกี่ยวกับการคิดวิเคราะห์เชิงระบบ การคิดคำนวณ การเงินสุขภาพและเทคโนโลยี ซึ่งในวิชาเหล่านี้จะกระจายให้นักเรียนในช่วงระดับชั้นปี 1-3

อีกทั้ง มศว.ยังมีหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์ร่วมกับด้านศิลปะ คือด้านมัลติมีเดียและคอนเสิร์ต โดยนักศึกษาจะได้เรียนทั้งวิชาพื้นฐานด้านวิศวกรรม การวางแผนเชิงวิศวกรรมระบบต่าง ๆ ในหลักสูตรยังลงลึกไปถึงด้านที่เกี่ยวข้องกับมัลติมีเดียและคอนเสิร์ตที่เชื่อมโยง เกี่ยวข้องกับศาสตร์ทางด้านวิศวกรรมด้วย ในขณะเดียวกันก็ยังต้องเรียนรายวิชาที่เกี่ยวข้องกับมัลติมีเดีย การออกแบบ การคิดสร้างสรรค์ในด้านดนตรี คอนเสิร์ต การแสดง รวมไปจนถึงพฤติกรรมของผู้บริโภค ภาพรวมของอุตสาหกรรมบันเทิงซึ่งจะมีผู้เชี่ยวชาญทั้ง 2 ด้านมาช่วยสอนเพื่อให้นักศึกษาได้เรียนอยู่บนพื้นฐานของความต้องการจริง ก่อนที่จะเข้ามาเรียนรู้ในห้องเรียนเพิ่มเติม หลังจากนักศึกษามีประสบการณ์บูรณาการกับการปฏิบัติจริง

โดย มศว.ยังชูจุดยืนที่ว่า ได้กำหนดเป้าหมายอัตลักษณ์สำคัญของนิสิต คือ ด้านทักษะสื่อสาร เนื่องจากปัจจุบัน มศว.ไม่ได้ผลิตบุคลากรด้าน “ครู” เพียงอย่างเดียว แต่มีสิ่งที่ถ่ายแบบออกมาคือ ความเป็นครูที่เป็นรากฐานเดิมที่ค่อนข้างแข็งแรงด้านทักษะการสื่อสารที่ถูกนำมาใช้ในการบูรณาการกับการเรียนการสอนในรายวิชาต่าง ๆ เพื่อให้นักศึกษามีความรู้พร้อมกับปฏิบัติจริงได้ ซึ่ง มศว.มองว่าเป็นกระบวนการสำคัญที่จะนำความรู้ที่มีไปใช้ได้อย่างเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ขณะที่ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ในคณะแพทยศาสตร์ ที่สร้างความแตกต่างให้กับนักเรียนแพทย์ที่นอกเหนือจากการรักษาผู้ป่วยแล้ว จะต้องมีความเป็นแพทย์ที่สามารถคิด วิเคราะห์ และสามารถวิจัย ต่อยอดสร้างผลงานทางด้านอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ดีและมีประสิทธิภาพที่ช่วยลดการนำเข้าเครื่องมือทางการแพทย์จากต่างประเทศ ด้วยการเลือกเรียนสิ่งที่นักศึกษาแพทย์สนใจ เช่น การบริหารจัดการ การออกแบบ หรือแม้แต่ความรู้ด้านเชิงวิศวกรรมที่อาจมีความจำเป็นต่อวิชาชีพในอนาคต