“จุฬาฯ” ครองอันดับหนึ่งมหาวิทยาลัยไทย

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับการจัดอันดับเป็นมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดของประเทศไทยมากกว่า 20 สาขาวิชา ตามการจัดของ QS World University Ranking ซึ่งถือว่าครอบคลุมสาขาที่เป็นที่หนึ่งมากกว่าทุกมหาวิทยาลัยในประเทศไทย

​ในการจัดอันดับเปรียบเทียบในระดับโลก สาขาวิชาการศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนา (Development Studies) ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังคงอยู่ในอันดับต้นๆ คือ 51-100 ที่ดีที่สุดของโลก ขณะที่ อีก 4 สาขาวิชาสำคัญ คือ สถาปัตยกรรม วิศวกรรมเคมี ภูมิศาสตร์ การเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ถูกจัดอันดับให้อยู่ในอันดับที่ 101-150 ที่ดีที่สุดในโลกตาม QS World University Ranking ประจำปี 2563

​ในการจัดอันดับของหมวดวิชาที่ครอบคลุมรายวิชาต่างๆ กว้างขวางขึ้น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยังคงครองอันดับ 1 ของประเทศไทย จาก 4 ใน 5 หมวดวิชา ได้แก่ ศิลปะและมนุษยศาสตร์ (Arts & Humanities) วิศวกรรมและเทคโนโลยี (Engineering & Technology) วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ (Natural Sciences) สังคมศาสตร์และการจัดการ (Social Sciences & Management) สำหรับวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพและการแพทย์ (Life Sciences & Medicine) มหาวิทยาลัยมหิดลอยู่อันดับแรก ขณะที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอยู่ในอันดับสอง

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนา (Development Studies) ที่จุฬาฯ นั้น มีความพิเศษกว่าที่อื่นๆ เนื่องจากเป็นความพยายามมากกว่า 10 ปี ในการรวมพลังไปสู่เป้าหมายเดียวกันขององคาพยพต่างๆ ในมหาวิทยาลัย อีกทั้งยังสะท้อนการเป็นตัวแทนของประเทศไทยที่มีข้อได้เปรียบสำคัญ ในด้านวิชาการ การพัฒนาในระดับภูมิภาค และระดับโลก

​”ที่จุฬาฯ เราไม่ได้มีเพียงหลักสูตรนานาชาติที่เป็นที่รู้จักในด้านนี้ เช่น หลักสูตรปริญญาโท สาขาการพัฒนาระหว่างประเทศ (Master of International Development) แต่ยังมีสถาบันที่เป็นคลังสมอง อาทิ ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง (Center for Peace and Conflict Studies) สถาบันวิจัยสังคม (Institute of Social Research) ศูนย์ศึกษาการพัฒนาสังคม (Center for Social Development Studies) รวมถึงเครือข่ายนักวิชาการนักวิจัยที่มีส่วนร่วมในการกำหนดนิยามใหม่ของการศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนา ในแบบสหสาขาวิชาวิทยาการ (Multi-disciplinary) และการเรียนรู้ในลักษณะก้าวข้ามศาสตร์และขอบเขต องค์ความรู้แบบดั้งเดิม”

​ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุริชัย กล่าวเสริมว่า ด้วยความที่ตั้งอยู่ใจกลางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นสถานที่ตั้งสำนักงานใหญ่ขององค์กรระหว่างประเทศชั้นนำหลายแห่ง ทำให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์อย่างมากจากแหล่งข้อมูล และประสบการณ์การพัฒนา นับเป็นเวลากว่าทศวรรษที่การศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเติบโตขึ้นอย่างมั่นคง ผ่านความร่วมมือ การวิจัย และการสนับสนุนจากภาคส่วนขององค์การระหว่างประเทศ และภาคประชาสังคมที่กำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง