Institutional Links “บริติชฯ” ชูวิจัยพัฒนาวิทยาศาสตร์

บริติช เคานซิล เป็นองค์กรส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศด้านโอกาสทางการศึกษาและศิลปวัฒนธรรมจากสหราชอาณาจักร จึงทำให้การทำงานในหลาย ๆ ด้านมุ่งตอบโจทย์พันธกิจขององค์กร

เหมือนกับที่ บริติช เคานซิล ร่วมมือกับ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) สนับสนุนงานวิจัยในระดับอุดมศึกษา ภายใต้ “โครงการ Institutional Links” ซึ่งเป็นโครงการทุนวิจัยขนาดใหญ่ ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนนิวตัน (Newton Fund) เพื่อพัฒนาความร่วมมือระหว่างกลุ่มนักวิชาการ หน่วยงานรัฐ และสถาบันการศึกษาในสหราชอาณาจักร และประเทศไทย ทั้งยังเป็นการขยายงานวิจัยสู่ภาคปฏิบัติที่ตอบสนองต่อปัญหาสังคมในปัจจุบันผ่านการพัฒนาเศรษฐกิจและสวัสดิการสังคม

“แอนดรูว์ กลาส” ผู้อำนวยการ บริติช เคานซิล ประเทศไทย กล่าวว่า โครงการกองทุนนิวตัน (Newton Fund) ก่อตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนการพัฒนาทางเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ในสังคม โดยการใช้วิทยาศาสตร์และนวัตกรรมทำงานร่วมกับประเทศพันธมิตรที่เข้าร่วมโครงการ 16 ประเทศ

กองทุนนิวตันได้รับการสนับสนุนด้านการวิจัยและนวัตกรรมจากประเทศสหราชอาณาจักร มูลค่ากว่า 735,000,000 ปอนด์ โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2557 และจะสิ้นสุดปี 2564

บริติช เคานซิล ประเทศไทย เป็นหนึ่งในพันธมิตรที่ดำเนินกิจกรรมภายใต้โครงการ Newton Fund โดยร่วมกับหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนงานด้านวิทยาศาสตร์และวิจัยชั้นนำในประเทศไทย รวมถึง สกอ.ซึ่งเป็นหนึ่งในพันธมิตรสำคัญในการสนับสนุนงานวิจัยในระดับอุดมศึกษากับโครงการ Institutional Links

Newton Fund เป็นโครงการที่สนับสนุนประเทศที่มีศักยภาพในการพัฒนา (Emerging Power) ให้สามารถเข้าถึงการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ด้วยการนำวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้ โดยในส่วนของประเทศไทยที่บริติช เคานซิล ดำเนินการคือการสนับสนุนงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาศักยภาพคน (People) โดยเฉพาะงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับผู้คนในหลากหลายมิติ โดยการดำเนินงานใต้โครงการนิวตันฟันด์แบ่งออกเป็น 3 ด้าน คือ

หนึ่ง การพัฒนารายบุคคล โดยการสนับสนุนทุนการศึกษาในระดับปริญญาเอกเพื่อให้นักศึกษาสามารถเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษเป็นระยะเวลา 1 ปี เนื่องจากค่าใช้จ่ายในด้านการเรียนมีอัตราที่สูง

สอง การสนับสนุนทุนนักวิจัยรุ่นใหม่ (Researcher Link) เนื่องจากนักวิจัยรุ่นใหม่จะประสบปัญหาในการหาทุนวิจัย และเมื่อได้รับทุนจะทำให้เกิดการเชื่อมโยงของกลุ่มนักวิจัย จนเกิดเป็นความร่วมมือในระดับอื่น ๆ ซึ่งจะทำให้เกิดงานวิจัยที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น

สาม การสนับสนุนโครงการวิจัยแบบกลุ่ม (Institutional Link) เป็นการให้ทุนการวิจัยแบบสถาบัน ซึ่งถือเป็นงานวิจัยขนาดใหญ่ และเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างนักวิจัยของประเทศไทยและของประเทศอังกฤษ และที่ผ่านมาการทำงานร่วมกันเป็นความร่วมมือที่แข็งแกร่งขึ้น มีการสานต่อความร่วมมือในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ โครงการแลกเปลี่ยนนักวิจัย รวมถึงการสร้างศูนย์วิจัยร่วม

“ปีนี้เรายังเปิดรับสมัครโครงการวิจัยภายใต้โครงการ Institutional Link มูลค่ากว่า 15 ล้านบาท ซึ่งต้องเป็นนักวิจัยที่มีประสบการณ์ในการดำเนินโครงการวิจัยร่วมระดับนานาชาติ และเป็นนักวิจัยในมหาวิทยาลัยสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา และต้องเป็นหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับ Ageing society, Creative economy, Agriculture and Food, Energy, Environment and Natural Resources, Health และ Edu-cation ที่สำคัญต้องแสดงถึงแผนการส่งเสริมความร่วมมือที่ยั่งยืนและมีส่วนร่วมจากภาคอุตสาหกรรม”

“เป้าหมายต่อไปคืออยากเห็นความต่อเนื่องของโครงการ แม้ว่าโครงการจะสิ้นสุดลงไปแล้ว และเมื่อเชื่อมโยงมาถึงการทำงานบริติช เคานซิลจะทำให้รู้ว่าเราไม่ใช่แค่สอนภาษาอังกฤษเพียงอย่างเดียว แต่ยังสนับสนุนด้านวิทยาศาสตร์เพื่อตอบโจทย์ประเทศไทยและประเทศอังกฤษทุกภาคส่วน ทั้งในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของมนุษย์”

“แอนดรูว์ กลาส” กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินงานบริติช เคานซิล ตั้งแต่ปีนี้ไปจนถึงปี 2020 จะให้ความสำคัญกับการพัฒนาภาษาอังกฤษของคนในประเทศไทย เพราะมองว่าหากคนมีความรู้ ความเข้าใจในภาษาอังกฤษจะสามารถเข้าถึงองค์ความรู้และงานวิจัยต่าง ๆ ตรงนี้เองจะเชื่อมโยงกับการทำงานที่บริติช เคานซิลทำอยู่ในปัจจุบัน

ที่ผ่านมาบริติช เคานซิลร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ ในโครงการพัฒนาครูแกนนำ (Boot Camp) ด้วยการพัฒนาการสอนภาษาอังกฤษให้กับครู อีกทั้งยังร่วมกันพัฒนาโครงการศูนย์อบรมครูภาษาอังกฤษระดับภูมิภาค (Regional English Training Centers) ครอบคลุม 8 จังหวัด ใน 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ

“เราจะสร้างความเป็นนานาชาติให้กับอุดมศึกษา โดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์ เพื่อเชื่อมโยงอาจารย์ที่เป็นนักวิจัยของประเทศไทยและอังกฤษให้เกิดความร่วมมือในการทำงานและพัฒนาหลักสูตรร่วมกัน ทั้งยังมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ทั้งในระดับนักศึกษาและอาจารย์”

ตลอดจนการให้ความสำคัญกับเรื่องอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เนื่องจากหัตถกรรมของประเทศไทยมีจุดแข็ง โดยจะมุ่งให้เกิดความร่วมมือเรื่องขององค์ความรู้ต่าง ๆ ทั้งการออกแบบ การวิจัย หรือแม้กระทั่งการเพิ่มคุณค่าให้กับชิ้นงาน รวมถึงการจัดตั้ง Creative Hub เพื่อมุ่งทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมเพื่อมาช่วย Startup ของประเทศไทยต่อไป

“จะเห็นได้ว่าการทำงานทั้งหมดที่ผ่านมาและเป้าหมายในอนาคตต่อไปเป็นการทำงานที่เชื่อมโยงกันใต้พันธกิจของเราคือการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างไทยและสหราชอาณาจักรผ่านงานด้านภาษาอังกฤษ การศึกษา บริการการสอบ ศิลปะและสังคม”

ถึงตรงนี้ “แอนดรูว์ กลาส” กล่าวต่อว่า ส่วนของธุรกิจบริติช เคานซิล ถือว่ามีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่ละปีมีการเติบโตประมาณ 5% และตั้งแต่ปี 2012-2016 ในด้านการจัดสอบของบริติช เคานซิล ถือว่าเติบโตขึ้นมากกว่า 50%

“ส่วนด้านการสอนภาษาอังกฤษ เราถือเป็นผู้นำการสอนภาษาอังกฤษสำหรับกลุ่ม Young learners (นักเรียนวัยเด็ก) ซึ่งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเรามีการใช้หลักสูตรที่เขียนขึ้นโดยบริติช เคานซิล ที่พัฒนาทั้งด้านการใช้ภาษาอังกฤษและการพัฒนาทักษะชีวิตที่จำเป็นต่อศตวรรษที่ 21 ไปพร้อมกัน เพื่อให้ผู้เรียนกลุ่มนี้ของเราเป็น Global Citizen อย่างสมบูรณ์แบบ”

นอกจากนี้ยังมีคอร์สการเรียนภาษาอังกฤษสำหรับผู้ใหญ่ ซึ่งมีผู้เข้าเรียนอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นคอร์สการเตรียมตัวสอบ IELTS รวมถึงคอร์สการเรียนภาษาอังกฤษสำหรับวัยทำงาน ทั้ง MyClass และ MyClass Plus ซึ่งเป็นคอร์สที่ถูกดีไซน์เฉพาะประเทศไทยเท่านั้น

สำหรับการเรียนใน MyClass Plus มีราคาอยู่ที่ 100,000 บาท/ปี ซึ่งเหมาะสำหรับคนทำงานที่ต้องการใช้ภาษาอังกฤษเป็นส่วนสำคัญ เพื่อความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน โดย MyClass Plus ถูกออกแบบเพื่อคนทำงานพร้อมที่ปรึกษาส่วนตัวที่จะช่วยแนะแนวทางการเรียนภาษาอังกฤษที่เหมาะกับแต่ละบุคคลตามวันเวลาและวิธีการเรียนรู้ เพื่อการเรียนอย่างเห็นผลได้จริงอีกด้วย