อว. ทุ่ม 50 ล้าน สร้างนวัตกรรมสู้โควิด-19 ผนึกเภสัช จุฬาฯ ผลิตชุดตรวจ ทราบผลใน15นาที

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เตรียมงบ 50 ล้านบาท ให้สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA สนับสนุนโครงการนวัตกรรมการแพทย์ และสุขภาพ แก้ปัญหาการระบาดเชื้อโควิด – 19

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า กระทรวงฯ ได้มอบหมายให้ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เป็นเจ้าภาพหลักในการจัดทำระบบบริหารความเสี่ยงด้วยนวัตกรรมรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด – 19 เน้นใน 4 ด้านหลัก ได้แก่

ระบบการติดตาม ตั้งแต่การเข้าประเทศผ่านการเชื่อมต่อข้อมูลจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ระบบสุขภาพทางไกล ที่จะช่วยลดความเสี่ยงของการเดินทางมายังโรงพยาบาลด้วยการใช้การตอบรับ อัตโนมัติทางโทรศัพท์เพื่อเก็บประวัติและติดตามอาการ การเว้นระยะห่างทางสังคม เช่น การระบุแผนที่ เพื่อแสดงตำแหน่งสิ่งของจำเป็นสำหรับประชาชน โดยจะเน้นการกระจายไปยังกลุ่มผู้ค้าส่ง และปลีก และการบริหารจัดการอุปทาน เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนอุปกรณ์จำเป็น เช่น หน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์ ฯลฯ

ด้าน ดร. พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า NIA มีการส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมทางการแพทย์มาอย่างต่อเนื่องทั้งในกลุ่มเฮลธ์เทคสตาร์ทอัพ และกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ล่าสุดได้มีการปรับแผนมามุ่งเน้นการแก้ไขและบรรเทาปัญหาที่เกิดจากสถานการณ์ดังกล่าว โดยดึงงบประมาณ 50 ล้านบาท สำหรับสนับสนุนโครงการนวัตกรรมที่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาใน 4 ด้าน ตามนโยบายของกระทรวง อว. ซึ่งได้มีการให้การสนับสนุนเงินทุนด้านวิชาการไปแล้ว 4 โครงการ วงเงินรวมกว่า 16 ล้านบาท แบ่งเป็นด้านระบบการติดตาม จำนวน 1 โครงการ ได้แก่ โครงการเซฟที ไทยแลนด์ ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่ช่วยป้องกันและควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด-19 เชิงรุก โดยการประมวลผลข้อมูลของกลุ่มผู้ป่วย กลุ่มเสี่ยง และกลุ่มประชาชนทั่วไป ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เพื่อให้สามารถวางแผนการเดินทางที่เหมาะสมและปลอดภัยได้

ด้านระบบการบริหารจัดการอุปทาน จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ ชุดตรวจคัดกรองผู้ป่วยโควิด-19 แบบรวดเร็ว จากเลือดของผู้ป่วย สามารถทราบผลได้ภายใน 15 นาที โดยอาศัยเทคโนโลยีที่พัฒนาจากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หน้ากากอนามัยชนิดใช้ซ้ำได้ ซึ่งสามารถช่วยป้องกันได้ทั้งการรับเชื้อโควิด-19 และฝุ่น MP 2.5 และ ระบบการบริหารอุปกรณ์และสิ่งจำเป็นทางการแพทย์ ที่เชื่อมโยงกำลังการผลิตและยอดสินค้าคงเหลือจากแหล่งผลิต กับคำสั่งซื้อจากสถานพยาบาลและประชาชน เพื่อให้คลังสินค้ากลางสามารถจัดส่งสินค้าไปยังประชาชน และสถานพยาบาลได้โดยตรงตามคำสั่งซื้อที่แจ้งเข้ามาในระบบ ช่วยให้บริหารจัดการการกระจายสินค้าให้ไปสู่กลุ่มผู้ใช้ได้อย่างเหมาะสมและทั่วถึงตามความจำเป็นเร่งด่วน โดยสามารถรองรับการเข้าใช้งานของผู้ใช้ไม่น้อยกว่า 5 ล้านคนในเวลาเดียวกัน ซึ่งทั้งหมดนี้สามารถเริ่มใช้งานได้จริงก่อนเทศกาลสงกรานต์นี้

อย่างไรก็ตามการสนับสนุนโครงการดังกล่าว NIA ได้สร้างเครือข่ายพันธมิตรต่างๆ มาทำงานร่วมกันทั้งกลุ่มสตาร์ทอัพ เอสเอ็มอี สถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย โรงพยาบาลในสังกัด อว. เช่น โรงพยาบาลศิริราช รามาธิบดี จุฬาลงกรณ์ สวนดอก (จังหวัดเชียงใหม่) โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เช่น โรงพยาบาลราชวิถี รวมไปถึงโรงพยาบาลในเครือ BMDS เพื่อร่วมกันสร้างแพลตฟอร์มให้เกิดการส่งต่อนวัตกรรมอย่างครบวงจร ตอบโจทย์การแก้ปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม

นอกจากนี้ ยังได้เปิดแพลตฟอร์ม “YMID Portal” ภายใต้แคมเปญ Thai TeleHealth Fight Covid-19 เพื่อใช้เป็นศูนย์กลางในการเผยแพร่ข่าวสารสถานการณ์การแพร่ระบาดของ “COVID-19” ที่ถูกต้อง น่าเชื่อถือ รวมถึงแนวทางการดูแลสุขภาพ การใช้ชีวิตประจำวันในช่วงสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ซึ่งประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ผ่านทางเว็บไซต์ www.ymid.or.th หรือเฟซบุ๊คเพจ Yothi Medical Innovation District: ย่านนวัตกรรมทางการแพทย์ หรือไลน์แอด @YMID อีกทั้งจะมีบริการประชาชน และเชื่อมโยงโรงพยาบาลผ่าน InfoAID ปลายสัปดาห์นี้ เพื่อเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ฉุกเฉิน