“SIIT” ผลิตวิศวกรสากล ตอบโจทย์ทุกมิติไทยแลนด์ 4.0

เป็นที่ทราบว่าจุดอ่อนของวิศวกรไทย คือ ภาษาอังกฤษ ซึ่งเรื่องนี้ทวีความรุนแรงมากขึ้น เมื่อประเทศไทยเปิดโอกาสให้นานาประเทศเข้ามาตั้งฐานผลิตในประเทศ จึงทำให้วิศวกรจำเป็นต้องใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางในการสื่อสาร

ปัญหาดังกล่าวส่งผลให้ 3 หน่วยงาน ได้แก่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาพันธ์เศรษฐกิจแห่งประเทศญี่ปุ่น เล็งเห็นถึงความสำคัญของการผลิตวิศวกรและนักเทคโนโลยีที่มีความสามารถสูง พร้อมกับมีทักษะการใช้ภาษาอังกฤษสื่อสารเป็นอย่างดี เพื่อสอดรับกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม จึงร่วมก่อตั้งสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือ SIIT (Sirindhorn International Institute of Technology, Thammasat University) ในปี 2535 ด้วยการเรียนการสอนในหลักสูตรนานาชาติ

“รศ.ดร.พิษณุ ตู้จินดา” หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเคมี และเทคโนโลยีชีวภาพ SIIT กล่าวว่า 4 ปีแรกเราถูกเรียกขานว่าวิศวะอินเตอร์ ธรรมศาสตร์ เนื่องจากเดิมเป็นโครงการหนึ่งในคณะวิศวกรรมศาสตร์ก่อนจะตั้งเป็นสถาบัน จากนั้นในปี 2539 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 พระราชทานชื่อให้เป็นสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

รศ.ดร.พิษณุ ตู้จินดา

จุดเด่นของ SIIT คือไม่มีหลักสูตรภาษาไทย และไม่ใช่เพียงทำการเรียนการสอนด้วยภาษาอังกฤษ เพราะตั้งใจสร้างให้ SIIT ให้มี 3 คุณสมบัติหลัก ๆ คือ

หนึ่ง International Recognition เป็นที่ยอมรับ และเป็นที่รู้จักระดับโลก

สอง International Connection มีหลักสูตรที่ตรงกับทั่วโลก สามารถสร้างเชื่อมต่อ เคลื่อนย้าย และแลกเปลี่ยนได้ง่าย

สาม International Standard มีความเป็นโลกาภิวัตน์อย่างแท้จริง

“ผลของความสำเร็จทั้ง 3 ด้าน ทำให้ตอนนี้เรามีอัตรานักศึกษาแลกเปลี่ยนสูงกว่า 100 คนต่อปีในระดับปริญญาตรี ซึ่งส่วนใหญ่มาจากประเทศในแถบยุโรป และยังมีนักศึกษาประจำระดับปริญญาตรีที่เป็นต่างชาติจากหลายประเทศ 10% โดยส่วนใหญ่มาจากประเทศไต้หวัน, จีน, เกาหลี และมาเลเซีย เนื่องจากผู้ปกครองของพวกเขาเคลื่อนย้ายมาบริหารธุรกิจในประเทศไทย และเล็งเห็นว่าเรามีมาตรฐานที่จะทำให้บุตรหลานของพวกเขาต่อยอดไปเรียนในประเทศอื่นหลังจบปริญญาตรีได้”

“ส่วนนักศึกษาระดับปริญญาโท และเอกของเราเป็นต่างชาติ 60% ซึ่งในจำนวนนี้เป็นนักศึกษาทุน 90% เพราะใช้กลยุทธ์ให้ทุนการศึกษาดึงดูดคนเก่งจากนานาประเทศ มาร่วมทำวิจัย และร่วมสร้างสภาพแวดล้อมของสถาบันให้เป็นนานาชาติ”

ต้องยอมรับว่าชื่อเสียงของ SIIT เติบโตมากขึ้นเรื่อย ๆ ไปพร้อม ๆ กับคุณภาพ จากที่รุ่นแรกมีนักศึกษาปริญญาตรีเพียง 80 คน แต่ปัจจุบันมีเข้ามาปีละกว่า 600 คน โดยตอนนี้มีนักศึกษาปริญญาตรีทั้งหมดประมาณ 2 พันคน ทั้งยังผลิตบัณฑิตไปแล้วกว่า 8 พันคน ส่วนนักศึกษาปริญญาโท และปริญญาเอกที่กำลังศึกษาอยู่ราว 400 คน ซึ่งนับได้ว่ามีนักศึกษาต่างชาติในระดับนี้จำนวนมากที่สุดในประเทศไทย

“ตอนนี้เริ่มทำ พี.อาร์.กับโรงเรียนนานาชาติในประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น อย่างเช่น สปป.ลาว และเมียนมา เพราะต้องการสร้างฐานเด็กนานาชาติ และเล็งเห็นว่าผู้ปกครองของเด็กโรงเรียนนานาชาติใน 2 ประเทศ มีกำลังด้านการเงินสูง เพราะประเทศกำลังเจริญก้าวหน้า และพวกเขาสนใจให้บุตรหลานมาเรียนในประเทศไทย บวกกับตอนนี้เราจะมองหาเด็กฝั่งตะวันตกคงไม่ได้มาก เพราะเศรษฐกิจฝั่งนั้นซบเซา คนมีกำลังซื้อน้อยลง”

“อีกทั้งทิศทางการทำธุรกิจของเด็กไทยในอนาคตจะเป็นความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านมากกว่า ดังนั้นจึงเป็นผลบวกกับเด็กไทยที่จะมีคอนเน็กชั่นตั้งแต่ขณะศึกษาอยู่ใน SIIT โดยตอนนี้เรามีนักศึกษาปริญญาตรีจากประเทศในแถบ CLMV 4% และปริญญาโท-เอก 20%”

“รศ.ดร.พิษณุ” อธิบายต่อว่า SIIT มีความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการ เพราะระบบการบริหาร และการเงินของ SIIT เป็นอิสระจากระบบส่วนกลางของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งอยู่ในระบบราชการ แต่เราได้รับการรับรองจากสภาวิศวกร ทำให้ปรับเปลี่ยนหลักสูตรให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้ทันท่วงที ทั้งยังทำให้นักศึกษาของเรามีความรู้ที่สามารถใช้ได้จริงในโลกปัจจุบัน

“ตอนนี้ในระดับปริญญาตรีเปิดสอน 4 กลุ่มสาขาวิชา ได้แก่ หนึ่ง กลุ่มวิศวกรรม มี 5 สาขาวิชา คือ วิศวกรรมโยธา, วิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และการสื่อสาร, วิศวกรรมเคมี, วิศวกรรมเครื่องกล และวิศวกรรมอุตสาหการ สอง วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ สาม เทคโนโลยีสารสนเทศ ที่เน้นการบริหารจัดการเรื่อง Big Data และการเขียนโปรแกรม สี่ กลุ่มการจัดการ มี 2 สาขา คือ เทคโนโลยีการจัดการ และการจัดการวิศวกรรม”

“เราตั้งใจออกแบบหลักสูตรต่าง ๆ ให้ส่งเสริมความเจริญก้าวหน้าของประเทศไทย ซึ่งในปัจจุบันเรากำลังเดินหน้าสู่ Thailand 4.0 แต่ในความจริงจะมีสักกี่คนเข้าใจว่าคืออะไร ดังนั้น เนื่องในโอกาสที่ปีนี้ SIIT ครบรอบ 25 ปี เราจึงตั้งใจจัดงานสัมมนาวิชาการในหัวข้อ “เทคโนโลยีและคนแบบไหน ถึงจะใช่ Thailand 4.0″ เพื่อเน้นการพูดคุยในประเด็นการสร้างเทคโนโลยีและการผลิตบัณฑิตเพื่อตอบโจทย์ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมในยุคนี้ โดยเปิดโอกาสให้นักศึกษา อาจารย์ ผู้บริหารสถานศึกษา และประชาชนทั่วไป เข้าร่วมฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้ฟรี ในวันศุกร์ที่ 29 กันยายน 2560”

เมื่อพูดถึงภาพใหญ่ของการศึกษาไทย “รศ.ดร.พิษณุ” บอกว่า ครูไทยยังติดอยู่กับงานเอกสารเพื่อเลื่อนขั้น จึงทำให้มีการสอนสามัญในห้องน้อย ทั้งยังเน้นเด็กให้เรียนพิเศษ อาจเป็นเพราะเงินเดือนครูค่อนข้างน้อย เรื่องเหล่านี้จึงส่งผลให้ผู้ปกครองต้องใช้เงินซื้อโอกาสทางการศึกษาให้แก่ลูกเพื่อที่จะสอบผ่าน ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องที่คนไทยติดกับดักเรื่องของคะแนน มากกว่าการเรียนที่เน้นการพัฒนาความคิดเพราะในโลกของความจริง ไม่มีใครมาบอกเทคนิคการดูโจทย์ และโจทย์ก็จะมีความหลากหลายแตกต่างมากมาย

“ดังนั้นการคัดเลือกนักศึกษาที่จะมาเริ่มเรียนใน SIIT เราจึงต้องการเด็กที่มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง ไม่ใช่เด็กที่เรียนเก่ง ได้เกรดเอทุกวิชา แต่เป็นเด็กที่มีความมุ่งมั่น และความพยายาม เรียนเพื่อตอบสนองความต้องการของตัวเอง และสามารถอยู่ร่วมกับผู้คนที่มีความแตกต่างทั้งด้านเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรมได้ เพราะการทำงานที่แท้จริง เราไม่ได้อยู่ร่วมกับคนเก่งหรือคนที่เหมือนกับเรา”

ทั้งหมดนี้จึงทำให้เห็นว่า SIIT มุ่งมั่นสร้างนักศึกษาที่มีทักษะตอบโจทย์โลกยุคใหม่ และสามารถทำงานในความแตกต่างได้เป็นอย่างดี รวมถึงมีทักษะภาษาอังกฤษที่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานอีกด้วย