จุฬาฯ ทุ่มสตาร์ตอัพ 280 ล้าน ปั้นงานวิจัยสู่ธุรกิจนวัตกรรม

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตั้งบริษัทโฮลดิ้ง เพื่อเข้าไปลงทุนในบริษัท ที่นำงานวิจัยพัฒนาด้านนวัตกรรมของคณะวิชาต่าง ๆ ไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์

“จุฬาฯ” ปรับตัวครั้งใหญ่ตั้งโฮลดิ้งคอมปะนี “ซียู เอ็นเทอร์ไพรส์” ลงทุนธุรกิจนวัตกรรมยกเครื่องงานวิจัยปั้น “สตาร์ตอัพ-สร้างงาน” ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ พร้อมใส่เงิน 280 ล้านบาท ภายในปี 2565 ดันงานวิจัย “คณะทันตแพทย์-เภสัช-สัตวแพทย์” นำร่อง ย้ำสถาบันการศึกษายุคใหม่ต้องตอบโจทย์สังคม

ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ”ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้มีการจัดตั้ง บริษัท ซียู เอ็นเทอร์ไพรส์ จำกัด (CUE) เป็นบริษัทโฮลดิ้ง เพื่อเข้าไปลงทุนในบริษัทต่าง ๆ ที่นำงานวิจัยพัฒนาด้านนวัตกรรมของคณะวิชาต่าง ๆ ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์

บริษัท CUE นั้นถือหุ้นโดยจุฬาฯ 100% โดยมีกรอบวงเงินในการลงทุน 280 ล้านบาท ระยะเวลา 5 ปี (2561-2565) ซึ่งในช่วงเริ่มต้นได้รับเงินบริจาคสนับสนุนจาก 3 บริษัทคือ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน), การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) รวมกว่า 100 ล้านบาท

ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์

ปั้นสตาร์ตอัพพลิกโฉมงานวิจัย

“ที่ผ่านมาเราพบว่า งานวิจัยส่วนใหญ่ไม่สามารถพัฒนาต่อได้ เพราะขาดเงินลงทุน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและสตาร์ตอัพ จุฬาฯจึงตัดสินใจตั้ง CUE ขึ้นมา เพื่อที่จะเข้าไปร่วมลงทุนในโปรเจ็กต์ที่มีศักยภาพ และสามารถผลิตสินค้าออกสู่ตลาดได้ โดยเฉพาะในสินค้าที่ช่วยแก้ไขปัญหาให้ประชาชน เพื่อช่วยสร้างงาน สร้างความแข็งแกร่งให้ระบบเศรษฐกิจด้วย”

สำหรับบริษัทย่อยที่ CUE จะเข้าไปลงทุน ได้แก่ 1.บริษัท ซี.ยู.เดนท์ เอ็นเทอร์ไพรส์ จำกัด (C.U.DENT) ของคณะทันตแพทยศาสตร์ มี CUE ถือหุ้น 99% ที่เหลือถือโดยบุคลากรของจุฬาฯ 2.บริษัท ซียู เว็ท เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (CU VET) ของคณะสัตวแพทยศาสตร์ เป็นการลงทุนในกิจการที่เกี่ยวข้องกับการวิจัย และพัฒนาทดลองด้านเทคโนโลยีชีวภาพ เพื่อประกอบกิจการรักษาสัตว์ และบริษัท ซียู ฟาร์ม จำกัด (CU Pharm) ของคณะเภสัชศาสตร์ ที่กำลังอยู่ระหว่างการตั้งบริษัท เป็นต้น

“เราไม่ได้มองแค่วันนี้ แต่มองถึงอนาคตด้วย นอกจากการมีจุดแข็งด้านวิชาการ ก็ต้องมีหัวเซ็งลี้ หรือที่ทางการศึกษาเรียกว่า entrepreneur ด้วย เพราะแต่ละปีมีผลงานวิจัยจำนวนมาก แต่มักหยุดตรงที่ไม่มีใครซื้องาน ไม่เกิดการพัฒนาต่อยอดเชิงธุรกิจ เราจึงต้องเป็นคนเขี่ยบอลก่อน แต่ละโปรเจ็กต์จะพิจารณาตามความเหมาะสมว่าจะลงทุนอย่างไร เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศในระยะยาว เพราะได้สร้างทั้งองค์ความรู้ที่ทันสมัย อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้นักลงทุนสามารถเข้ามาช็อปปิ้งงานวิจัยของจุฬาฯได้”

ศ.ดร.บัณฑิตกล่าวว่า แนวคิดดังกล่าวไม่เพียงกระตุ้นให้เกิดงานวิจัยใหม่ ๆ เท่านั้น ยังเป็นตัวอย่างของการปรับตัวของมหาวิทยาลัยที่ต้องออกนอกระบบให้ยืนได้ด้วยขาของตนเอง เพราะการได้รับเงินอุดหนุนจากภาครัฐจะลดลงอย่างน้อย 50% แม้จุฬาฯจะมีหลากหลายธุรกิจ เช่น ที่ดินที่สยามสแควร์, สยามสแควร์วัน, จัตุรัสจามจุรี รวมถึงตลาดสามย่านที่สร้างรายได้ แต่เมื่อเศรษฐกิจชะลอตัวก็ได้รับผลกระทบด้วย จึงต้องหาธุรกิจอื่นที่จะสามารถสร้างรายได้เพิ่มได้ โดยเริ่มจากการนำจุดแข็งด้านการค้นคว้าวิจัยและพัฒนาไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์ ซึ่งอาจเป็นต้นแบบให้มหาวิทยาลัยอื่น ๆ ได้ศึกษาด้วย

โชว์ผลงานช่วงโควิด-19

ด้าน ดร.ศันธยา กิตติโกวิท ผู้ช่วยอธิการบดี ด้านยุทธศาสตร์และนวัตกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมา ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้ให้การสนับสนุนโดยการให้จัดตั้งโครงการศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ CU Innovation Hub ให้นักศึกษาเรียนรู้กระบวนการสร้างนวัตกรรมในการเสนอแนวคิดสร้างสรรค์ เพื่อเปลี่ยนสังคมสู่วิถีใหม่ในการใช้ชีวิต หลังจากที่ผ่านมามักมีการตั้งคำถามว่า งานวิจัยมีเป้าหมายตอบโจทย์ให้สังคมหรือไม่ ซึ่งหลายคณะดำเนินการไปแล้ว เช่น คณะเภสัชศาสตร์ เริ่มผลิตบัณฑิตให้เป็นผู้นำให้สังคม และเป็นตัวอย่างให้ผู้ประกอบการ หรือเป็นได้มากกว่าเป็นเภสัชกร ผู้จำหน่ายยา เป็นต้น

และในช่วงวิกฤตโควิด-19 พิสูจน์ให้เห็นแล้ว ทำได้จากความร่วมมือระหว่างจุฬาฯ เจ้าของผลงานวิจัย และนักลงทุน นำผลงานวิจัยมาต่อยอดผลิตเป็นสินค้า เช่น สเปรย์เพิ่มประสิทธิภาพหน้ากากผ้า เพื่อปกป้องฝุ่น PM 2.5 และโควิด-19 รวมถึงหุ่นยนต์ต้นแบบที่ทำงานเสี่ยงแทนการใช้คน เป็นต้น

“ทุกสิ่งล้วนเป็นวงจรที่จุฬาฯบูรณาการเข้าด้วยกัน แต่ต้องเริ่มต้นจากองค์ความรู้ก่อน จากนั้นจึงนำมาสู่การทำงานวิจัยเพื่อสร้างเป็นผลงาน หรือนวัตกรรม เราอยากให้ก้าวหน้าไปสู่การจัดตั้งบริษัท เพราะเมื่อมีความเป็น enterprise เกิดขึ้น นักวิจัยจะรู้สึกเป็นเจ้าของ หรือ ownership และต้องผลักดันให้เกิดประโยชน์แก่สังคม บางคณะวิชาเริ่มตั้งบริษัทขึ้นมาภายใต้การบริหารของคณะเองแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือระดมทุนจากผู้สนใจ เช่น ผู้ประกอบการ, ศิษย์เก่า หรือประชาชนทั่วไป ให้เข้ามาร่วมลงทุนในสตาร์ตอัพนี้ เท่ากับไม่ได้ใช้งบฯของจุฬาฯโดยตรง และเน้นส่งเสริมให้เกิดอีโคซิสเต็มด้วย”

แพทย์-วิศวะคิวต่อไป

ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า แม้จุฬาฯจะมีทรัพย์สินจำนวนมาก แต่ในแง่ของธุรกิจลงทุนไปแล้วต้องใช้เวลากว่าจะทำรายได้ จึงเกิดแนวคิดจัดตั้งบริษัทโฮลดิ้ง ให้มีสภาพเป็นเอกชนเพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการระดมทุน และการลงทุนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และสำหรับคณะแพทย์ โดยคอนเซ็ปต์ต้องการสร้างนวัตกรรมทางการแพทย์ เพื่อลดการนำเข้าที่มีราคาสูง และมองว่านวัตกรรมที่ผลิตได้ยังจะสามารถเชื่อมโยงจุฬาฯกับโลกภายนอก เพื่อให้เกิดความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในต่างประเทศได้ด้วย และคาดว่าคณะวิศวกรรมศาสตร์น่าจะมีงานวิจัยที่นำมาต่อยอดได้อีกมากเช่นกัน

รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า ไม่เฉพาะในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเท่านั้นที่เตรียมจัดตั้งโฮลดิ้งคัมปะนี แต่สถาบันการศึกษาของรัฐเพิ่มเติมอื่นๆ ก็อยู่ระหว่างดำเนินการเช่นกัน เช่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)