โรงเรียนอนุบาลฟูจิ เรียนรู้จริงจากการออกแบบชีวิต

ต้องยอมรับว่านอกจากการมีหลักสูตรที่ดี มีกระบวนการเรียนการสอนที่ทันสมัย สอดคล้องกับการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ 21 ตลอดจนการมีครูที่มีคุณภาพ อีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญต่อการเรียนรู้ของเด็กคือสภาพแวดล้อมของสถาบันการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นในห้องเรียน หรือนอกห้องเรียน จึงทำให้สถาบันการศึกษาหลายแห่งมีการออกแบบให้สภาพแวดล้อม ทั้งห้องเรียน อาคารสถานที่ รวมถึงพื้นที่ใช้สอยต่าง ๆ เกิดการสนับสนุน หรือทำให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ตามหลักปรัชญาที่สถาบันการศึกษาได้กำหนดไว้

เช่นเดียวกับการออกแบบ โรงเรียนอนุบาลฟูจิ (Fuji Kindergarten) ของ “ทาคาฮารุ เทซูกะ” สถาปนิกชาวญี่ปุ่นที่ฉีกกรอบความคิดเดิม ๆ เกี่ยวกับโรงเรียนเด็กเล็ก ที่ต้องมีการควบคุมดูแล และป้องกัน เพื่อไม่ให้เด็กเกิดอันตราย หรือได้รับบาดเจ็บ ด้วยการออกแบบโรงเรียนไม่เน้นการควบคุมเด็กจนมากเกินไป ซึ่งเด็กอาจจะล้มบ้าง บาดเจ็บบ้างเป็นเรื่องธรรมดา สิ่งเหล่านี้จะทำให้พวกเขาได้เรียนรู้วิธีการใช้ชีวิตจริงต่อไปในอนาคต

“ทาคาฮารุ เทซูกะ” กล่าวบนเวที TEDx Kyoto ในหัวข้อ “The Best Kindergarten you’re ever seen” หรือ “โรงเรียนอนุบาลที่ดีที่สุดเท่าที่คุณเคยเห็น” ว่า โรงเรียนอนุบาลแห่งนี้ก่อสร้างขึ้นเมื่อปี 2007 โดยมีลักษณะเป็นอาคารรูปวงกลม หลังคาเป็นพื้นที่ที่เชื่อมโยงกันทั้งหมด ผู้ปกครองจะรู้ดีว่าเด็ก ๆ จะชอบทำอะไรเป็นวงกลม และตรงนี้เองจึงเป็นที่มาของหลังคานั่นเอง

“พื้นที่บนหลังคา ผมออกแบบให้มีราวกั้น เพื่อความปลอดภัยของเด็ก ๆ แต่ในความเป็นจริงแล้วครูใหญ่โรงเรียนอนุบาลแห่งนี้ไม่ต้องการให้มีราวกั้น โดยให้ทำตาข่ายตรงขอบหลังคาแทน ตรงนี้ผมบอกว่าทำไม่ได้ ผมจึงนำเอาไอเดียของครูใหญ่มาใช้ในพื้นที่รอบ ๆ ต้นไม้ที่โผล่ขึ้นมาบนหลังนี้ เพื่อป้องกันเด็กพลัดตกลงไป และตรงนี้เองจะมีเด็ก ๆ จำนวนมากมาเล่นกัน ซึ่งบางคนก็ปีนป่ายขึ้นไปบนกิ่งไม้ต่าง ๆ”

“แนวคิดในการการทำหลังคา เราต้องการทำให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อจะได้เห็นเด็ก ๆ วิ่งเล่นอยู่บนหลังคา และเวลาที่โรงเรียนมีกิจกรรมต่าง ๆ เด็กเหล่านี้สามารถนั่งชมตรงขอบหลังคาได้ ซึ่งหากมองจากด้านล่างแล้วจะมีความสวยงามเป็นอย่างมาก อีกทั้งเรายังได้ทำที่ล้างขาสำหรับเด็ก ๆ ซึ่งจะมีก๊อกน้ำหลาย ๆ แบบ ทั้งแบบท่อแบบโค้งงอได้ ทำให้เด็ก ๆ สามารถฉีดพ่นน้ำใส่เพื่อน ๆ ได้ รวมถึงสามารถอาบน้ำได้อีกด้วย”

ทั้งนี้ การออกแบบโรงเรียน เรายังเน้นให้เป็นพื้นที่เปิดเกือบทั้งหมด โดยเฉพาะภายในห้องเรียนจะไม่มีพื้นที่กั้นระหว่างห้อง ทำให้ทุกห้องเชื่อมต่อกัน ซึ่งหากเป็นห้องเรียนเดิม ที่เหมือนรวมเด็กไว้ในกล่องสี่เหลี่ยมที่เงียบ ๆ เด็กบางคนจะมีความกระวนกระวาย แต่โรงเรียนอนุบาลแห่งนี้จะทำให้เด็กไม่มีภาวะเหล่านั้น

ระหว่างการเรียนการสอนอาจมีเด็กที่ไม่ต้องการที่จะอยู่ในห้อง หรือไปหลบในมุมใดสักแห่ง ครูจะปล่อยเขาไป และท้ายที่สุดเมื่อห้องเรียนเป็นวงกลม ไม่มีอะไรกั้น จะทำให้เด็กเดินกลับมายังห้องเรียนอีกครั้ง ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องธรรมชาติของเด็ก ๆ

การไม่มีการกั้นห้อง ทำให้เกิดคำถามที่ว่าจะมีภาวะเสียงรบกวนมากน้อยเพียงใด ซึ่งเรื่องเสียงนี้เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะว่าเด็กจะหลับได้ดีกว่าในที่ที่มีเสียง และหลับได้ไม่ดีในที่เงียบ และที่สำคัญแม้ว่าโรงเรียนอนุบาลไม่มีการกั้นห้อง แต่เด็กกลับมีสมาธิในห้องเรียนอย่างไม่น่าเชื่อ ตรงนี้ทำให้เห็นว่ามนุษย์เราจริง ๆ ต้องการเสียงมากกว่าที่จะอยู่ในที่เงียบ

“ทาคาฮารุ เทซูกะ” กล่าวเพิ่มเติมว่า อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นหัวใจสำคัญของการออกแบบโรงเรียนอนุบาลแห่งนี้คือพื้นที่บนหลังคา ซึ่งตั้งใจจะทำให้พื้นที่เป็นที่วิ่งเล่น และออกกำลังกายของเด็ก ๆ เพราะเด็กชอบทำอะไรเป็นวงกลมดังที่ได้กล่าวมา

“พื้นที่บนหลังคารูปวงกลมมีขนาดเส้นรอบวงอยู่ที่ 183 เมตร ถือว่ามีขนาดที่ไม่น้อยเลย และในแต่ละวัน โดยเฉลี่ยเด็ก ๆ จะวิ่งเล่นออกกำลังกายไปรอบ ๆ ประมาณ 4,000 เมตร ซึ่งทำให้เด็กเหล่านี้มีทักษะความสามารถด้านกีฬาไปโดยปริยาย โดยที่ไม่ต้องฝึกเด็ก”

นอกจากอาคารเรียนลักษณะวงกลมแล้ว เรายังมีการออกแบบอาคารที่เป็นตึกเสริมที่อยู่ติดกัน อาคารหลังนี้สูงเพียงแค่ 5 เมตรเท่านั้น แต่มีถึง 7 ชั้น และมีเพดานต่ำมาก เพราะคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก โดยที่เด็ก ๆ เหล่านี้สามารถผจญภัย ปีนป่ายสิ่งต่าง ๆ กระโดดจากที่สูงไม่มากนักได้

“ตรงนี้เด็ก ๆ จะได้ลองวิเคราะห์ทักษะ และความสามารถของตนเองในการที่จะปีนป่าย การกระโดดลงมา และการที่เด็ก ๆได้เผชิญอันตรายแบบเล็ก ๆ น้อย ๆ และรับรู้ถึงความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นระหว่างการเล่น จะทำให้พวกเขาเรียนรู้ที่จะช่วยเหลือตนเอง ช่วยเหลือผู้อื่น และเรียนรู้ที่จะปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นทักษะพื้นฐานที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตในสังคม”

ส่วนตอนท้าย “ทาคาฮารุ เทซูกะ” กล่าวย้ำว่า การเรียนรู้ที่ดีจะเกิดขึ้นกับเด็กได้ ไม่จำเป็นต้องควบคุม หรือปกป้องพวกเขาจนมากเกินไป แต่เด็กจำเป็นต้องเรียนรู้ถึงความเจ็บปวดบ้าง บางครั้ง ซึ่งจะทำให้พวกเขาได้เรียนรู้วิธีการใช้ชีวิตจริงในโลกนี้

“ผมคิดว่าสถาปัตยกรรมสามารถเปลี่ยนโลก และชีวิตคนได้ และนี่ก็เป็นความพยายามหนึ่งที่จะเปลี่ยนชีวิตของพวกเด็ก ๆ เหล่านี้ ด้วยการออกแบบโรงเรียนอนุบาลแห่งนี้ขึ้นมา”