สสค.เปิดระบบ Q-Info ลดความเหลื่อมล้ำการศึกษา

“ทันทีที่ข้อมูลจากระบบ Q-Info แสดงให้เห็นถึงความเสี่ยงที่จะหลุดออกจากการศึกษาของน้องสิงห์ เพราะขาดเรียนอยู่เป็นประจำ ทางโรงเรียนจึงรีบเข้าไปเยี่ยมบ้าน พูดคุยทำความเข้าใจกับชุมชนและผู้ปกครอง หลังจากนั้นทางเทศบาลที่เห็นข้อมูลนี้ด้วยเช่นกัน ได้ประสานหน่วยงานต่าง ๆ เข้าไปช่วยเหลือ ตอนนี้สภาพบ้านของน้องสิงห์เปลี่ยนไป จากที่กินนอนอยู่บนกองขยะ ก็ได้รับการปรับปรุงให้สะอาดน่าอยู่และถูกสุขลักษณะมากขึ้น”

คำกล่าวเบื้องต้นคือคำบอกเล่าของ “ภคมล แก้วภราดัย” รองผู้อำนวยการโรงเรียนวัดขจรรังสรรค์ สังกัดเทศบาลนครภูเก็ต ถึงประโยชน์ของข้อมูลและการแจ้งเตือนจากระบบ Q-Info ที่สามารถติดตามเด็กนักเรียนได้เป็นรายบุคคล และเกิดการบูรณาการของส่วนงานต่าง ๆ จนสามารถสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับ “น้องสิงห์” เด็กชายวัย 8 ขวบ ที่เรียนอยู่ชั้น ป.1 ได้อีกครั้ง ซึ่งหากไม่มีระบบนี้ “น้องสิงห์” คงไม่ได้การช่วยเหลือต่าง ๆ และต้องหลุดออกจากระบบการศึกษาไปอย่างน่าเสียดาย

“ตอนนี้มีทีมสาธารณสุขเข้ามาช่วยดูแลเรื่องปัญหาเรื่องสุขภาพของน้องสิงห์ และทางคณะครูคอยติดตามดูแลในเรื่องต่าง ๆ ผลการเรียนของน้องสิงห์จากเดิมที่ถือว่าแย่มาก และขาดเรียนจนเกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนด เทอมนี้ดีขึ้นมาอยู่ในระดับปานกลางและไม่ขาดเรียนเหมือนก่อน ผลการเรียนดีขึ้นเกือบทุกวิชา ดูสนุกสนานและร่าเริงขึ้นกว่าเมื่อก่อน ซึ่งครูประจำชั้นได้ช่วยติดตามการเรียนการสอนและทบทวนให้ในรายวิชาที่เรียนไม่ทันเพื่อน”

“ภคมล” บอกว่า การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในด้านต่าง ๆ ของน้องสิงห์เป็นผลมาจากการใช้ระบบ Q-Info ซึ่งกรณีตัวอย่างนี้เป็นผลลัพธ์ที่ชัดเจนของนโยบายการจัดการศึกษาของเทศบาลนครภูเก็ตกับโรงเรียนในสังกัดที่เล็งเห็นว่าการศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะพัฒนากำลังคน โดยให้ความพร้อมในด้านต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนจังหวัดภูเก็ตให้ไปสู่การเป็น Smart City แห่งแรกของประเทศไทย

โดยประเด็นนี้ “สมใจ สุวรรณศุภพนา” นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต จึงขยายความว่า การจะสร้างให้ภูเก็ตเป็น Smart City นั้น สิ่งที่ต้องลงทุนเร่งด่วนที่สุดคือการพัฒนาคนภูเก็ตให้มีความพร้อม ซึ่งต้องเริ่มที่การศึกษา โดยเทศบาลนครภูเก็ตเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีความเชื่อมั่น และมั่นใจว่า ถ้านำข้อมูลมาใช้ในการบริหารจัดการศึกษา จะช่วยลดปัญหาและลดช่องว่างของคุณภาพการเรียนรู้ รวมถึงการจัดการเรียนการสอนของครูและโรงเรียนได้

“ข้อมูลยังทำให้สามารถตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ได้อย่างมั่นใจและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญเราไม่ต้องการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เหมือนกับการตรวจสุขภาพ ถ้าเรารู้ได้เร็วว่าเราเป็นโรคอะไร เราจะหาวิธีป้องกันและรักษาได้อย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกันกับเรื่องของการศึกษา ระบบ และข้อมูลจะช่วยทำให้เราสามารถแก้ปัญหาของผู้เรียนได้ที่ต้นเหตุ ซึ่งดีกว่าการแก้ที่ปลายเหตุที่ช้า และแก้ไขได้ไม่ทัน”

ดังนั้นสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) จึงร่วมกับเทศบาลนครภูเก็ตและมหาวิทยาลัยนเรศวร พัฒนาระบบ Q-Info หรือระบบสารสนเทศเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาและลดความเหลื่อมล้ำ ในการสร้างฐานข้อมูล Big Data สำหรับบูรณาการข้อมูลระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อพัฒนาคนไทยในยุค 4.0 และเตรียมความพร้อมในการพัฒนากำลังคนของจังหวัดให้ไปสู่เป้าหมายภูเก็ต Smart City

“ดร.ไกรยส ภัทราวาท” ผู้ช่วยผู้จัดการด้านวิจัยและนโยบาย สสค. กล่าวว่า ระบบ Q-Info พัฒนาจากโมเดล “ระบบสารสนเทศเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา” (Basic Education Development Index : IDEB) หรือ “อีเด็บ” ของประเทศบราซิล ซึ่งเป็นเครื่องมือลดความเหลื่อมล้ำและพัฒนาคุณภาพการศึกษาของเยาวชนในแต่ละพื้นที่ ทำให้อันดับคะแนน PISA เพิ่มก้าวกระโดดเร็วที่สุดในบรรดา 65 ประเทศที่ร่วมประเมินในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

สำหรับประเทศไทยมีการวิจัยเรื่องนี้มากว่า 3 ปี เริ่มทดลองในจังหวัดภูเก็ตและนครราชสีมา โดยภูเก็ตใช้กับโรงเรียนในสังกัดเทศบาลนครภูเก็ตจำนวน 7 แห่ง เทศบาลกะทู้ 2 แห่ง และโรงเรียนสังกัด สพฐ.อีก 9 แห่ง ครอบคลุมนักเรียนมากกว่า 10,000 คน

“อีกทั้งยังช่วยบันทึกสถานการณ์ของนักเรียนทั้งการขาด ลา มาสาย น้ำหนัก และส่วนสูงด้วยแอปพลิเคชั่น Q-Attendance ที่ครูใช้บนโทรศัพท์มือถือ นอกจากนี้ Q-Info ยังมีระบบแจ้งเตือนนักเรียนที่มีปัญหาเป็นรายคน ครูจึงช่วยเหลือนักเรียนที่มีความเสี่ยง หรือที่จะหลุดออกนอกระบบได้อย่างทันท่วงที โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการวิจัยเพื่อขยายผลร่วมกับโรงเรียนสังกัด สพฐ.ใน 14 จังหวัด จำนวน 201 แห่งทั่วประเทศ”

สำหรับระบบ Q-Info ที่นำมาใช้กับโรงเรียนสังกัดเทศบาลนครภูเก็ตทั้ง 7 แห่ง หรือนักเรียน 8,541 คน และครู 413 คน พบว่าอัตราการขาดเรียนของเด็กนักเรียนลดลง 30% ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาดีขึ้นกว่า 50% โดยเด็กที่มีเกรดเฉลี่ยน้อยกว่า 1.5 ลดลงถึง 20% และสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านการทำเอกสารของโรงเรียนได้ถึง 95,435 บาท/ปี/โรงเรียน

“ข้อมูลยังทำให้เกิดเป็นพิมพ์เขียวการศึกษาเทศบาลนครภูเก็ต 2020 หรือ Phuket Education Blueprint for 2020 และสร้างให้เกิดวัฒนธรรมในการทำงานใหม่ โดยเกิดการบูรณาการข้อมูลร่วมกันของทุกหน่วยงาน ด้วยการใช้ข้อมูลเป็นหัวใจ และไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของจังหวัดไปในทิศทางและเป้าหมายเดียวกันคือภูเก็ต Smart City”


เพราะการพัฒนาจังหวัดภูเก็ตให้ก้าวไปสู่การเป็น Smart City นั้น ปัจจัยสำคัญคือการเตรียมความพร้อมและพัฒนากำลังคนให้มีทักษะความรู้และความสามารถ อันสอดรับกับการพัฒนาอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัลที่กำลังจะเกิดขึ้น