เปิดผลสำรวจงานวิจัยขึ้นหิ้งแล้ว 5.4 แสนชิ้น ใช้เงินอัดฉีดปีละ 1 แสนล้าน จี้รัฐปลดล็อก “ข้อจำกัด” นำข้อมูลมาใช้ในวงกว้าง หวังเร่งต่อยอดนำผลงานมาใช้จริง เพื่อให้เกิดประโยชน์เชิงพาณิชย์ โพยขีดความสามารถล่าสุดวิจัยไทยร่วงจากอันดับ 27 มาอยู่ที่อันดับ 30 บอสใหญ่ทียูย้ำไทยต้องทุ่มเทเรื่องวิจัยต่อเนื่อง
รายงานข่าวจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ระบุว่า ภาพรวมผลงานวิจัยในปัจจุบันมีจำนวนมากถึง 541,034 ผลงาน โดยรวบรวมจากระบบการบริหารจัดการงานวิจัยของประเทศ (TNRR : Thai National Research Respository) ซึ่งระบบนี้จะเชื่อมโยงผลงานวิจัยจาก 200 หน่วยงาน ซึ่งประชาชนสามารถเข้าถึงและสืบค้นได้ซึ่งจำนวนผลงานวิจัยที่มากสุด 5 อันดับแรก คือ 1.งานวิจัย วช. 133,129 ผลงาน 2.ฐานข้อมูลวิทยานิพนธ์ไทย 71,923 ผลงาน 3.ฐานข้อมูลโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 51,523 ผลงาน 4.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 51,464 ผลงาน และ 5.มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 41,237 ผลงาน
แหล่งข่าวในแวดวงนักวิจัยตั้งข้อสังเกตกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อดูจากจำนวนผลงานกับงบประมาณของแต่ละหน่วยงานที่ทุ่มลงไป ได้เกิดข้อคำถามว่า “คุ้มค่าหรือไม่” ส่งผลให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง รวมถึงประเด็นสำคัญคือไม่สามารถนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้จริงในเชิงพาณิชย์
ล่าสุดทางมหาวิทยาลัยของรัฐกำลังเร่งปรับตัว แก้จุดอ่อนในประเด็นดังกล่าว ด้วยการนำผลงานวิจัยมาพัฒนาให้เกิดรูปธรรม โดยให้เอกชนสนับสนุน เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ผลักดันให้เกิดธุรกิจสตาร์ตอัพ
“องค์ความรู้ใหม่ ๆ มีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับโลกยุคใหม่ที่เทคโนโลยีไปเร็วมาก ซึ่งงานวิจัยจะให้น้ำหนักในแนวทางการสร้างนวัตกรรมมากขึ้น”
นอกจากนี้ยังมีปัญหาในเรื่องขั้นตอนต่าง ๆ ที่จะนำงานวิจัยมาใช้จริง ทำให้เป็นอุปสรรคในทางปฏิบัติ
แหล่งข่าวกล่าวว่า ปี 2558 มีค่าใช้จ่ายงานวิจัยรวม 84,671 ล้านบาท แบ่งเป็น งบประมาณแผ่นดิน 16,878 ล้านบาท ภาคเอกชน 56,085 ล้านบาท จากภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ 2,847
ล้านบาท ปี 2559 มีค่าใช้จ่าย 113,556 ล้านบาท แบ่งเป็น งบประมาณแผ่นดิน 23,380 ล้านบาท ภาคเอกชน 90,176 ล้านบาท ปี 2560 มีค่าใช้จ่าย 155,143 ล้านบาท เป็นงบประมาณแผ่นดิน 23,583 ล้านบาท ภาคเอกชน 131,560 ล้านบาท และมีแนวโน้มเพิ่มต่อเนื่อง
รายงานข่าวระบุอีกว่า ความสำคัญของงานวิจัยถือเป็นตัวชี้วัดและสะท้อนขีดความสามารถในการแข่งขันระดับประเทศด้วย จากการสำรวจค่าใช้จ่าย บุคลากรทางการวิจัย และพัฒนาของประเทศไทย (IMD World Competitiveness Yearbook) ได้ลดอันดับประเทศไทยมาอยู่อันดับที่ 30 จากเดิมอยู่อันดับ 27
นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) มองว่า ไทยทุ่มทุนงานวิจัยน้อยมากแค่ 1% ของจีดีพี ซึ่งงานเหล่านี้ต้องใช้เวลานาน บางครั้งถึง 10 ปี เอกชนจำเป็นต้องเดินหน้า ไม่ได้หวังพึ่งพารัฐ หากไม่มีการส่งเสริม ประเทศก็จะถดถอย ดูเวียดนามชนะไทยไปแล้ว