ค้นพบ “นักบินอวกาศไทย” เข้าแคมป์นาซ่า-ปลูกฝัง “DNA”

ศูนย์อวกาศและจรวดแห่งชาติสหรัฐ (U.S. Space and Rocket Center-USSRC) ร่วมกับบริษัท ซิกเนเจอร์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (Zignature Marketing Co.,Ltd.) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) และ Thailand Space and Aeronautics Research (TSR) จัดตั้งโครงการทุนการศึกษาค้นพบนักบินอวกาศไทย (Discover Thailand”s Astro-nauts Scholarship Program)

ซึ่งเป็นโครงการแข่งขันชิงทุนการศึกษาด้านการสำรวจอวกาศของรัฐบาลสหรัฐ นับเป็นครั้งแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่จัดขึ้นเป็นปีที่ 2 โดยผู้ชนะการแข่งขันชิงทุนจะได้เป็นตัวแทนของประเทศไทยไปศึกษาวิชาการสำรวจอวกาศเบื้องต้นในหลักสูตรเร่งรัด เป็นระยะเวลา 10 วัน ณ ศูนย์อวกาศ และจรวดแห่งชาติสหรัฐ ที่ตั้งอยู่ฐานทัพ Redstone Arsenal ของกองทัพสหรัฐ ในเมือง Huntsville มลรัฐ Alabama รวมถึงยังได้รับทุนการศึกษาจนจบระดับชั้นปริญญาตรีในคณะใดก็ได้ของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

“กลิน ทาวน์เซนต์ เดวีส์” เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย กล่าวว่า สหรัฐอเมริกาและประเทศไทยมีความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาเป็นระยะเวลานาน นอกจากนั้น สหรัฐยังเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมการศึกษาให้เยาวชนไทย เพราะมีเยาวชนไทยจำนวนมากไปเรียนต่อระดับอุดมศึกษาที่สหรัฐ

“เรามีความพร้อมทางด้านการศึกษา เพราะมีจำนวนมหาวิทยาลัยมากถึง 4,500 แห่ง ทั้งยังได้รับการไว้วางใจจากคนไทย และคนทั่วโลกในการเดินทางไปศึกษาปีละกว่า 7,000 คน ทำให้เราเป็นประเทศที่มีจำนวนนักศึกษาต่างชาติมากที่สุดในโลก ส่งผลให้เรามีสภาพแวดล้อมที่มีความหลากหลาย ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ และการไปเรียนต่างประเทศ ยังผลักดันให้เยาวชนไทยมีทักษะทางภาษาอังกฤษที่ดี โดยทักษะเหล่านี้มีความจำเป็นต่อเด็กไทยอย่างมาก ซึ่งเราคาดหวังว่าจะมีจำนวนเยาวชนไทยไปเรียนที่สหรัฐเพิ่มขึ้นทุกปี”

“ขณะเดียวกัน เรายังเล็งเห็นว่า STEM (Science, Technology, Engineering and Mathematics) เป็นกลไกการเรียนรู้ที่ช่วยส่งเสริมศักยภาพคนรุ่นใหม่อย่างตอบโจทย์ความต้องการของประเทศไทย เราจึงจัดโครงการทุนการศึกษาค้นพบนักบินอวกาศไทย ซึ่งเป็นโครงการแข่งขันชิงทุนการศึกษาด้านการสำรวจอวกาศของรัฐบาลสหรัฐที่จัดขึ้นในประเทศไทยเป็นปีที่ 2 โดยผู้ชนะการแข่งขันชิงทุนจะได้เป็นตัวแทนของประเทศไทยไปศึกษาวิชาการสำรวจอวกาศเบื้องต้นในหลักสูตรเร่งรัดเป็นระยะเวลา 10 วัน ณ ศูนย์อวกาศและจรวดแห่งชาติสหรัฐ ซึ่งตั้งอยู่ที่ฐานทัพ Redstone Arsenal ของกองทัพสหรัฐ ในเมือง Huntsville มลรัฐ Alabama”

“และระหว่างที่เยาวชนอยู่ในแคมป์ พวกเขาจะได้รับการปลูกฝัง DNA ของนักบินอวกาศ ที่ประกอบไปด้วยกำลัง 3 ประการ ได้แก่ กำลังกาย, กำลังใจ และกำลังความคิด รวมถึงผู้ชนะจะได้รับทุนการศึกษาจนจบระดับชั้นปริญญาตรีในคณะใดก็ได้ของ สจล.”

“ผศ.ดร.สุพันธุ์ ตั้งจิตกุศลมั่น” รองอธิการบดีอาวุโสฝ่ายบริหารวิชาการ สำนักงานอธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า เราร่วมมือเป็นปีที่ 2 แล้ว จากการชักชวนของคุณกฤษณ์ คุนผลิน คนที่ผลักดันโครงการนี้ว่าอยากให้ทาง สจล.เข้ามาร่วม ด้วยการจัดสอบชิงทุนเพื่อไปเรียนที่ USSRC และเราก็มีศิษย์เก่าด้วย คือคุณพิรดา เตชะวิจิตร์ ว่าที่นักบินอวกาศหญิงคนแรกของไทย

“สจล.เห็นว่าเป็นโครงการที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็ก ๆ ในการเข้ามาศึกษาเรื่องอวกาศ เพราะมีโอกาสเป็นไปได้ที่เราจะเป็นนักบินอวกาศ เมื่อก่อนในประเทศไทย ความฝันแบบนี้อาจจะยากแต่โครงการนี้จะช่วยเปิดโลกให้กับเด็ก ๆ และทางมหาวิทยาลัยเน้นเรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอยู่แล้ว เรามีอาจารย์ที่มีความรู้เกี่ยวข้องกับด้านอวกาศ มาช่วยออกข้อสอบ และจัดแคมป์ให้กับทางโครงการนี้ได้ เราจึงคิดว่าเป็นโอกาสอันดีมากที่เราจะเป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่สร้างแรงบันดาลใจ”

“ปีที่แล้วและปีนี้ เรามีอาจารย์ที่ออกข้อสอบมาตรฐานของ USSRC โดยเราจัดสอบที่ สจล. มีการสอบในช่วงเดือนตุลาคม ส่วนแคมป์เรามีสถานที่ และกิจกรรมที่เตรียมความพร้อมให้กับเด็ก ๆ ที่เข้ามา ส่วนเรื่องทุนการศึกษา ผู้ที่ได้ทุนของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา 2 คนนี้ ทาง สจล.ยินดีที่จะให้ทุนเรียนต่อในระดับปริญญาตรี เรามีหลายสาขา สามารถมาสมัครและเลือกได้เลยว่าอยากเรียนอะไร ทั้งยังมอบทุนให้อีกด้วย”

“กฤษณ์ คุนผลิน” ผู้แทนสมาคมศิษย์เก่าศูนย์อวกาศและจรวดแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา และผู้ที่ได้รับมอบทุนในปีแรก กล่าวว่า ผู้ที่เข้ารับการศึกษาวิชาการสำรวจอวกาศเบื้องต้นจะได้รับการเรียนรู้เกี่ยวกับโครงการอวกาศสหรัฐทั้งในอดีต และปัจจุบันทั้งหมด จากวิศวกรขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (NASA) รวมทั้งศึกษาเกี่ยวกับจรวดรุ่น Space Launch System (SLS) ในโครงการเดินทางไปยังดาวอังคาร

นอกจากนี้ ยังต้องฝึกการเดินอวกาศแบบไร้น้ำหนัก การนำยานสำรวจอวกาศขึ้น และลงจอดที่สถานีอวกาศเคนเนดี้ (Kennedy Space Center) การบังคับการนำยานสำรวจอวกาศส่วนบุคคล หรือ Manned Maneuvering Unit (MMU) วิศวกรรมสถานีอวกาศนานาชาติ และการดำน้ำเพื่อฝึกการทำงานในชุดอวกาศในสภาพไร้น้ำหนัก เป็นต้น

“สำหรับคุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์ชิงทุนการศึกษาของรัฐบาลสหรัฐ ด้านการสำรวจอวกาศ และทุนการศึกษาในระดับชั้นปริญญาตรีของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง คือ 1.มีสัญชาติไทย และ 2.อายุไม่ต่ำกว่า 14 ปี และไม่เกิน 19 ปี ในวันสมัคร 3.เพศ ช. 1/ญ. 1 ซึ่งผู้สมัครทั้งหมดจะต้องสอบ SCAT (Space Camp Aptitude Test) จำนวน 100 ข้อ ภายในเวลา 180 นาที ซึ่งเป็นแบบทดสอบที่เป็นภาษาอังกฤษในด้าน STEM (Science, Technology, Engineering, Mathematics) เช่น physics, dynamics,logics”

“และความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับความเป็นมาด้านการสำรวจอวกาศสากล โดยผู้ได้คะแนนสูงสุด 21 คน จะได้รับการคัดเลือกไปแข่งขันรอบสุดท้ายใน STEM Camp เป็นเวลา 3 วัน 2 คืน ที่ สจล. โดยจะต้องแข่งขันด้านประดิษฐกรรม และนวัตกรรม นักเรียนชายจำนวน 1 คน และนักเรียนหญิงจำนวน 1 คน ที่ได้คะแนนโหวตจากเพื่อนและกรรมการมากที่สุดในวันสุดท้ายจะได้รับทุนของรัฐบาลสหรัฐ และทาง สจล. ซึ่งเมื่อปีที่แล้วเป็นทุนการศึกษาเฉพาะคนไทยเท่านั้น แต่ปีนี้มีความพิเศษตรงที่เราเปิดโอกาสให้ผู้สนใจทุกสัญชาติเข้าร่วมการแข่งขันเพื่อรับทุนจาก Est โดยที่ผู้สมัครต้องมีอายุ 12-30 ปี จากนั้นต้องผ่านกระบวนการแข่งขันเดียวกัน และได้คะแนนเป็นลำดับที่ 3”

ดังนั้น หากผู้ใดสนใจสมัครได้ที่ www.spacecampthailand.com โดยจะปิดรับสมัครในวันที่ 15 ตุลาคม 2560 ค่าลงทะเบียนสมัครสอบ 500 บาท ตัวแทนโรงเรียน 4 คน ไม่เสียค่าใช้จ่าย การสอบSCAT จะมีขึ้นในวันที่ 22 ตุลาคม 2560 เวลา 09.00-12.00 น. ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และ STEM Camp ที่จะมีขึ้นระหว่าง 17-19 พฤศจิกายน 2560 นี้