วิศวะ จุฬาฯ จับมือ CAT ตรวจวัดคุณภาพอากาศในมหา’ลัย

จากการติดตั้งเครือข่ายเซ็นเซอร์เพื่อตรวจวัดหมอกฝุ่นควันในพื้นที่จังหวัดน่าน คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงต่อยอดนวัตกรรมสู่ระบบเซ็นเซอร์ ตรวจวัดคุณภาพอากาศภายในอาคาร นำร่องติดตั้งภายในห้องสมุดและห้องเรียนภายในมหาวิทยาลัย

“รศ.ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล” คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ล่าสุดคณะวิศวกรรมศาสตร์ได้ต่อยอดงานระบบเครือข่ายเซ็นเซอร์ตรวจวัดคุณภาพอากาศ หรือเครือข่ายเซ็นเซอร์เพื่อตรวจวัดหมอกฝุ่นควัน (haze) ในพื้นที่ จ.น่าน ประยุกต์เป็นระบบเซ็นเซอร์อย่างง่ายเพื่อตรวจวัดคุณภาพอากาศในอาคาร (system of indoor air quality sensor)

โดยบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ บริษัท กสท. โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)-CAT ในการดำเนินงานศูนย์นวัตกรรมเมืองอัจฉริยะ (IOT City Innovation Center) เพื่อพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมบนพื้นฐานเทคโนโลยี Internet of Things (IOT) ในการนำเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเข้ามาใช้สำหรับส่งข้อมูลจากการตรวจวัดคุณภาพทางอากาศได้แบบเรียลไทม์ ทั้งยังนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ประโยชน์ต่อไป

“สถานที่จะนำไปติดตั้งเป็นสถานที่ที่มีอาจารย์ บุคลากร และนิสิตใช้งานจำนวนมาก อาทิ ห้องสมุดคณะวิศวกรรมศาสตร์ อาคารเรียน โดยจะนำข้อมูลดังกล่าวมาวิเคราะห์คุณภาพทางอากาศ เพื่อให้ได้อากาศที่สะอาด อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ต้นแบบ จนนำไปสู่การใช้ประโยชน์ในอาคาร หรือกิจกรรมอื่นในอนาคตด้วย”

“รศ.ดร.ศิริมา ปัญญาเมธีกุล” อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า ในส่วนรายละเอียดเกี่ยวกับระบบเซ็นเซอร์ สามารถใช้ชุดเซ็นเซอร์ตรวจวัดอากาศขนาดเล็ก บูรณาการร่วมกับระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตในการส่งข้อมูลแบบเรียลไทม์สู่ระบบ Cloud และการพัฒนาแอปพลิเคชั่น สำหรับแสดงผลและแจ้งเตือนค่าคุณภาพอากาศที่ตรวจวัดได้ เพื่อวางแผนและปรับปรุงระบบในพื้นที่ต่อไป

โดยมีปัจจัยที่ใช้ในการตรวจสอบประกอบด้วยอุณหภูมิ, ความชื้น, ฝุ่นละออง และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งข้อมูลที่ได้จะใช้ในการเฝ้าระวัง ตลอดจนการจัดการสภาพแวดล้อมภายในอาคาร ทั้งด้านสุขภาพของผู้ที่ใช้งานในพื้นที่ รวมถึงการควบคุมการใช้พลังงานอย่างเหมาะสม

“ดร.ณัฏฐวิทย์ สุฤทธิกุล” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานสื่อสารไร้สาย บมจ. กสท โทรคมนาคม (CAT) กล่าวเสริมว่า CAT ได้รับใบอนุญาตการทดลองใช้ความถี่สำหรับ LoRaWAN จากสำนักงาน กสทช. และดำเนินการติดตั้งโครงข่าย LoRaWAN เพื่อให้อาจารย์ นักศึกษา และผู้สนใจใช้งานในการทดลองพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ

“โครงข่าย LoRaWAN เป็น Low Power Wide Area Network (LPWAN) รูปแบบหนึ่ง ซึ่งออกแบบมาให้ประหยัดพลังงาน และส่งข้อมูลที่ความเร็วต่ำ จึงเหมาะสำหรับเซ็นเซอร์ต่าง ๆ และอุปกรณ์ที่ทำงานโดยใช้แบตเตอรี่ อายุการใช้งาน 10 ปี Coverage ได้ไกลถึง 10-15 กิโลเมตรจาก Gateway อีกทั้งอุปกรณ์มีราคาถูกเมื่อเทียบกับเทคโนโลยีอื่น”

นอกจากนี้ CAT ยังทำการติดตั้งแพลตฟอร์มสำหรับการพัฒนาแอปพลิเคชั่น และบริการด้าน IOT เพื่อรองรับการทำงานร่วมกับโครงข่าย LoRaWAN และโครงข่ายอื่น ๆ เช่น 3G, 4G ซึ่งแพลตฟอร์มนี้จะช่วยให้ผู้ที่สนใจสามารถพัฒนา IOT Application สะดวกและรวดเร็ว โดย CAT จะร่วมมือกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ในการพัฒนาบริการ IOT ต่าง ๆ บนโครงข่ายและแพลตฟอร์มดังกล่าว เช่น ระบบแจ้งเตือนกรณีเด็กติดอยู่ในรถโรงเรียน

ซึ่งจะมีการพัฒนาอุปกรณ์เพื่อตรวจจับว่ามีเด็กติดอยู่ในรถหรือไม่ หลังจากที่เครื่องยนต์ดับ และหากตรวจพบจะทำการแจ้งเตือนผ่านโครงข่าย LoRaWAN (หรือโครงข่ายอื่น ๆ) ไปยังอาจารย์หรือผู้ที่กำหนดไว้ทันที เพื่อให้สามารถมาช่วยเด็กได้ทันเวลา

โดยความร่วมมือดังกล่าวจะร่วมสร้างสังคมไทยก้าวสู่สมาร์ทซิตี้ และเพิ่มคุณภาพชีวิตของคนไทยในอนาคต