ปัญหา-ความท้าทาย

“แพททริค โจนส์” ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส Chisholm Institute Australia สถาบันที่มีความเชี่ยวชาญด้านพัฒนาระบบอาชีวศึกษา และอบรมด้านเทคนิคและวิชาชีพ (TVET) จากประเทศออสเตรเลีย กล่าวว่า จากการศึกษาวิจัยเชิงลึกเกี่ยวกับปัญหา-ความท้าทายการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทย 4.0 สามารถสรุปผลเป็น 2 ส่วน คือ

หนึ่ง ด้านเทคโนโลยี ซึ่งผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทยร้อยละ 75 ยังคงใช้เทคโนโลยีในระดับต่ำกว่า 2.5 โดยเฉพาะการใช้กระบวนการผลิตเป็นจำนวนมาก ในขณะที่ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ของไทยที่ปรับตัวเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 มีการใช้เทคโนโลยีชั้นสูงในกระบวนการผลิต เพื่อลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ส่วนแรงงานที่มีทักษะขั้นสูงยังเป็นที่ต้องการของภาคอุตสาหกรรม เพื่อรองรับเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูง อีกทั้งข้อมูลจากสหพันธ์หุ่นยนต์นานาชาติระบุว่า ภาคอุตสาหกรรมของไทยยังใช้หุ่นยนต์ในกระบวนการผลิตน้อยกว่าผู้ผลิตอื่นในภูมิภาคเอเชีย

สอง ด้านทักษะแรงงาน หน่วยงานภาครัฐ-เอกชน ควรเตรียมความพร้อมบุคลากรในมิติต่าง ๆ ทั้งการรู้เท่าทันเทคโนโลยีในกระบวนการผลิต การมีทักษะด้านเมคาทรอนิกส์ ระบบออโตเมชั่นการควบคุมหุ่นยนต์ การประยุกต์ใช้เครื่องมือ เทคโนโลยี วัสดุใหม่ ๆ และที่สำคัญ การรับรู้บทบาท และทักษะพื้นฐานที่จำเป็นของช่างเทคนิค ทั้งทักษะด้านการสื่อสาร แก้ปัญหา การจัดการเวลา และทำงานเป็นทีม รวมถึงความสามารถในการวิเคราะห์และแปลงผลข้อมูลแบบดิจิทัล

สำหรับข้อเสนอแนะในการตอบโจทย์อุตสาหกรรม 4.0 เพื่อสอดรับกับนโยบาย Thailand 4.0 “แพททริค โจนส์” บอกว่า ควรประกอบด้วย 3 ปัจจัยสำคัญ คือการเตรียมความพร้อมให้แก่นักเรียน นักศึกษา และแรงงาน, การพัฒนาบุคลากรช่างเทคนิคที่มีคุณภาพเหมาะสมกับอุตสาหกรรม, การเตรียมความพร้อม และสนับสนุนการขับเคลื่อนประเทศไทยอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

ดังนั้น ข้อเสนอแนะในการพัฒนาจึงแบ่งออกเป็น 6 ข้อย่อย ประกอบด้วย

1.จัดหลักสูตรผลิตช่างเทคนิค โดยส่งเสริมหลักสูตรฝึกอบรม หรือพัฒนาแรงงานวิชาชีพให้มีทักษะพื้นฐานด้านสะเต็ม และเทคโนโลยี 2.จัดหาทรัพยากรสนับสนุน เพื่อเตรียมบุคลากรฝึกอบรม และการสอนแบบบูรณาการ และสมัยใหม่ 3.คัดเลือกสถานศึกษาเพื่อทดลองใช้หลักสูตร 4.พัฒนาศักยภาพผู้สอน และผู้ฝึกอบรม ด้วยการอบรมทักษะที่จำเป็นแก่ผู้สอน 5.สร้างเครือข่ายความร่วมมือพัฒนาทักษะด้านเทคนิค โดยเปิดโอกาสให้นักเรียนฝึกงาน หรือทำงานเพื่อสร้างทักษะพื้นฐาน

และ 6.การสร้างความตระหนักรู้ในอาชีพช่างเทคนิคสำหรับอุตสาหกรรมการผลิต ด้วยการสร้างภาพลักษณ์เชิงบวก และเน้นประโยชน์ที่จะได้รับจากการประกอบอาชีพในอุตสาหกรรม เช่น โอกาสเติบโตในหน้าที่การงาน