อาซาฮี ถอนทัพแดนมังกร ปล่อยหุ้นชิงเต่า…ขนเงินลุยยุโรป

คอลัมน์ MARKET MOVE

แม้จีนจะเปรียบเสมือนเค้กชิ้นโตสำหรับวงการเบียร์ด้วยสถานะตลาดเบียร์ใหญ่ที่สุดในโลก แต่สำหรับผู้ผลิตเบียร์สัญชาติญี่ปุ่นแล้ว ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างข้อพิพาทหมู่เกาะเซ็งกะกุ/เตียวหยู ได้ทำให้ตลาดที่แข่งขันสูงจากผู้เล่นทั้งในและนอกประเทศอยู่แล้วนี้ท้าทายยิ่งขึ้น

จนแม้แต่ผู้ผลิตเบียร์สัญชาติญี่ปุ่นรายใหญ่อย่าง “อาซาฮี” ซึ่งทุ่มทุนกว่า 600 ล้านเหรียญสหรัฐ ซื้อหุ้น 20% ของ “ชิงเต่า บริวเวอรี่” เมื่อปี 2552 หวังใช้เครือข่ายช่องทางขายของผู้ผลิตเบียร์อันดับ 2 ของจีนช่วยรุกตลาด หลังร่วมทุนกันตั้งโรงงานผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในจีนตั้งแต่ปี 2540 เพื่อผลิตทั้งเบียร์อาซาฮี ซูเปอร์ดราย และชิงเต่า ยังออกอาการซวนเซ จนต้องมองหาช่องทางถอนตัวออกจากตลาดเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา

ล่าสุดสำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า “อาซาฮี โฮลดิ้ง กรุ๊ป” ได้ประกาศขายหุ้นของ “ชิงเต่า บริวเวอรี่” ที่ถืออยู่ทั้งหมด 20% อย่างเป็นทางการแล้ว พร้อมให้เหตุผลว่าเป็นส่วนหนึ่งของการปรับพอร์ตโฟลิโอในจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หันเน้นความคุ้มค่าและศักยภาพในระยะยาวของแต่ละหน่วยธุรกิจ เพื่อรับมือกับการแข่งขันสูงและสภาพตลาดชะลอตัว

อย่างไรก็ตาม ในแถลงการณ์ยังไม่มีการระบุราคา ตัวผู้รับซื้อหุ้นจำนวนนี้และเงื่อนไขอื่น ๆ รวมถึงสถานะของโรงงาน 2 แห่งในเสิ่นเจิ้นและเยียนไถที่เกิดจากการร่วมทุนแต่อย่างใด

ด้านบรรดานักวิเคราะห์ที่มองว่าความเคลื่อนไหวนี้สะท้อนการเปลี่ยนกลยุทธ์หันเน้นตลาดยุโรปของอาซาฮี ซึ่งช่วง 2 ปีที่ผ่านมาหันไปเน้นลงทุนในตลาดยุโรปมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ตั้งแต่การทุ่มเม็ดเงินกว่า 1.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ไล่ซื้อกิจการเบียร์ในยุโรปทั้งภาคกลางและตะวันออกจากเอบีอินเบฟในปี 2558

จนปีที่แล้วสามารถชิงส่วนแบ่งตลาดเบียร์ยุโรปได้ถึง 9% แซงหน้าเอบีอินเบฟที่มีส่วนแบ่ง 8% และขึ้นเป็นอันดับ 3 ของตลาดตามหลังไฮเนเก้น และคาร์ลสเบิร์ก ซึ่งครองส่วนแบ่ง 20% และ 12% ตามลำดับ ในขณะที่เริ่มปล่อยขายธุรกิจในเอเชียอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นหุ้นในธุรกิจร่วมทุนในอินโดนีเซียเมื่อต้นเดือน และขายหุ้นทั้งหมดในบริษัทร่วมทุน “ติงยี-อาซาฮี เบฟเวอเรจ โฮลดิ้ง” (Tingyi-Asahi Beverages Holding) ให้ติงยีโฮลดิ้งผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรายใหญ่ของจีนไปในเดือน มิ.ย.

นอกจากนี้เมื่อเดือน ม.ค. “อาคิโยชิ โคจิ” ประธานของอาซาฮี เคยกล่าวถึงการถือหุ้นในชิงเต่าว่า การเป็นเจ้าของแต่ไม่มีอำนาจสั่งการนั้นไม่มีประโยชน์อะไร

ด้านตลาดญี่ปุ่นเองเริ่มมีปัญหาต้นทุนการกระจายสินค้าขยับสูงขึ้น เนื่องจากขาดแคลนรถบรรทุกและคนขับ จนต้องประกาศขึ้นราคาเบียร์แบบขวดและถังอีกประมาณ 10% โดยมีผลตั้งแต่ 1 มี.ค. 2561 นับเป็นการขึ้นราคาครั้งแรกในรอบ 10 ปี รวมถึงอาจขึ้นราคาเหล้าและโซชูแบบถังด้วยเช่นกันเพื่อชดเชยการขนส่งทั้งขาไปและกลับมารีไซเคิล ส่วนกระป๋องยังคงราคาเดิมเพราะบริษัทไม่ต้องขนกลับ

ด้านชิงเต่าได้แยกออกแถลงการณ์ของตนระบุเพียงว่า กำลังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และจะมีการเปิดเผยข้อมูลอื่น ๆ ในภายหลัง แต่ “เจเรมี เยา” นักวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์มิสุโฮะ กล่าวว่า เรื่องนี้อาจเป็นโอกาสของชิงเต่าที่จะปรับทิศทางธุรกิจหากผู้ซื้อเป็นบริษัทเบียร์รายใหญ่หรือนักลงทุนเชิงรุก

ต้องรอดูกันว่า ใครจะเป็นผู้ที่มารับหุ้นชิงเต่าต่อจากอาซาฮี และอาซาฮีจะนำเม็ดเงินที่ได้จากการขายหุ้นนี้ไปลงทุนด้านไหนต่อไป