นักเคมี มธ. ระบุ ‘พลุปีใหม่เป็นพิษ’ ก่อ PM 2.5 และอาจทำให้มึนศรีษะ

นักเคมีฯ ม.ธรรมศาสตร์ ชำแหละ ‘พลุ’ เต็มไปด้วยสารอันตราย ต้นเหตุ PM 2.5 ทำลายชั้นบรรยากาศ หากสูดควันเข้าไปอาจทำให้มึนศรีษะ ควรรีบออกจากพื้นที่ทันที

“รศ.ดร.จิรดา สิงขรรัตน์” อาจารย์ประจำสาขาเคมีประยุกต์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยว่า พลุที่เป็นที่นิยมในงานเฉลิมฉลองต่าง ๆ โดยเฉพาะพลุที่มีเสียงดัง มีความอันตรายมากกว่าควันบุหรี่ เนื่องจากมีทั้ง PM 2.5 (ฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน) และโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (Polycyclic Aromatic Hydrocarbons, PAHs) ซึ่งมีปริมาณแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ (CO₂) และก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) ค่อนข้างสูง

ฉะนั้นจำเป็นต้องจุดในบริเวณที่อากาศเปิดเพื่อให้มีการถ่ายเทได้สะดวก เพราะหากบริเวณที่จุดมีออกซิเจนไม่เพียงพอจะทำให้รู้สึกมึนหัว ซึ่งก็ควรออกจากพื้นที่ดังกล่าวโดยทันที

ผ่านมาเคยมีงานวิจัยเกี่ยวกับการจุดพลุในช่วงฉลองวันชาติของสหรัฐอเมริกา โดยเทียบเคียงในช่วงก่อนและหลังการจุด 24 ชั่วโมง พบว่าปริมาณฝุ่น PM 2.5 เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะถึง 42% ตัวเลขดังกล่าวยังไม่นับรวมขณะจุดที่มีปัจจัยอื่นในการกระจายตัวของฝุ่นละอองด้วย

อย่างไรก็ตามในประเทศไทยโชคดีที่ไม่ได้จุดพลุในปริมาณมหาศาล แต่ก็ยังมีการจุดตามเทศกาลบ้าง ข้อแนะนำคือควรจุดในบริเวณที่กว้าง โล่ง และไม่เข้าไปชิดบริเวณที่มีการจุดมากเกินไป การอยู่ในระยะที่ห่างถือว่าเป็นการป้องกันระดับหนึ่งแต่ไม่สามารถป้องกันมลพิษในท้องฟ้าได้

รศ.ดร.จิรดา สิงขรรัตน์ นักเคมี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
รศ.ดร.จิรดา สิงขรรัตน์

“รศ.ดร.จิรดา” อธิบายว่า ในพลุมีสารที่เรียกว่า Oxidizing Agent หรือ Oxidizer ได้แก่ ไนเทรต (Nitrate) ที่อยู่ในรูปของโพแทสเซียมไนเตรต (Potassium Nitrate) หรือดินประสิว ซึ่งเป็นสารก่อระเบิด ส่วนเชื้อเพลิงถ้าไม่ได้ใช้แก๊สก็จะใช้จำพวกคาร์บอน, กำมะถัน หรือดินปืนแทน ดังนั้นเมื่อเกิดการเผาไหม้จะพบสารมลพิษคาร์บอนไดออกไซด์ มีลักษณะเป็นละอองฝุ่นเมื่อเกิดการเผาไหม้ก็จะเกิดเป็นมลพิษ

นอกจากนี้ ในพลุยังมีแรงดันที่เรียกว่า Ballistic Effect คือเมื่อจุดแล้วแก๊สจะเกิดการขยายตัวเป็นแรงระเบิด (power of explosion) ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกับที่ใช้พัฒนาระเบิด ถ้าต้องการให้สูงมากเท่าไหร่ ก็จำเป็นต้องใช้พลังส่งตัวมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งบางประเทศมีข้อจำกัดของเสียงไม่ควรเกิน 125 เดซิเบลในช่วง 4 เมตร เพื่อไม่ให้มนุษย์ได้รับเสียงที่ดังเกินไป

“พลุมีเศษกระดาษที่บางส่วนอาจยังไม่ถูกเผาไหม้ ทำให้ละอองพวกนี้ยังอยู่และกลายเป็นมลพิษทางอากาศ เช่นเดียวกับประเทศจีนที่เจอซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) และก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) ที่เป็นหนึ่งในสารตั้งต้นของ PM2.5 ซึ่งเมื่อสารพวกนี้ถูกแดดก็จะกลายเป็นสารอนุมูลอิสระที่ทำลายชั้นโอโซน และท้ายที่สุดจะเป็นอันตรายต่อมนุษย์”

นอกจากพลุแล้ว ช่วงเทศกาลแห่งการเฉลิมฉลองมักมีการนำสเปรย์หิมะมาใช้ ซึ่งมีองค์ประกอบหลักคือ snow effect และสารแคลเซียมคาร์บอเนต หรือหินปูน ที่ทำให้เกิดการคงตัว โดยสเปรย์ต่าง ๆ มักมีการใช้สาร อะซิโตน, บิวทานอล, Methyl Acetate Acetic ซึ่งจัดเป็นกลุ่มอันตรายที่ขณะนี้หลายประเทศห้ามไม่ให้ใช้แล้ว ที่สำคัญคือภายในกระป๋องจะมีแรงดันสูง หากเกิดแรงกระแทกหรืออุณหภูมิสูงอาจก่อให้เกิดการระเบิดได้