หลักสูตรใหม่ “ฟินแลนด์” พัฒนา 7 ทักษะสร้างคนแห่งอนาคต

“เพราะโลกเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา คนจึงต้องวางแผนชีวิต เช่นเดียวกับการศึกษาของฟินแลนด์ แม้เราจะได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีคุณภาพการศึกษาระดับโลก แต่ไม่อาจหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับอนาคตที่ไม่แน่นอน ดังนั้น เราจึงคิดตลอดเวลาว่าจะเตรียมนักเรียนให้มีความพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงอย่างไร”

“ศ.ดร.อันเนเล นีเอมี” ผู้อำนวยการวิจัย คณะวิทยาการทางการศึกษา มหาวิทยาลัยเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ บอกเล่าถึงความตื่นตัวของการศึกษาประเทศฟินแลนด์ ภายในงานมหกรรมทางการศึกษาเพื่อพัฒนาวิชาชีพครู ครั้งที่ 10 หรือ Educa 2017 ซึ่งจากการตระหนักถึงสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงเร็วในโลกปัจจุบัน ทำให้ฟินแลนด์พัฒนาหลักสูตรใหม่อีกครั้งเมื่อปี 2012 โดยให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งอยู่ในทักษะแห่งศตวรรษที่ 21

แนวทางปฏิรูปหลักสูตรของประเทศนี้ เน้นให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามามีส่วนร่วม ทั้งครู และบุคลากรทางการศึกษา โดยหลังจากผ่านการระดมความคิดเห็นในปี 2014 จึงได้หลักสูตรหลักของชาติออกมา ก่อนที่ในปี 2016 ทุกโรงเรียนจะนำหลักสูตรใหม่ไปปฏิบัติใช้

“ด้วยความที่โรงเรียนต้องมีเวลาสำหรับวางแผนการสอน ทำให้เราใช้เวลานานในการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งหลักสูตรแกนกลางของฟินแลนด์จะระบุยุทธศาสตร์และแนวทางกว้าง ๆ สิ่งสำคัญคือเมือง และโรงเรียนแต่ละแห่งจัดทำหลักสูตรของตัวเองร่วมกัน ระหว่างครู ผู้ปกครอง นักเรียน เพื่อให้การเรียนรู้สอดคล้องกับบริบทของท้องถิ่น”

ทั้งนั้น ครูจะมีอำนาจการตัดสินใจเชิงวิชาชีพ คือมีอิสระในการวางแผนการสอน โดยไม่ต้องมีผู้ตรวจ หรือนิเทศก์ และมีระบบประกันคุณภาพระดับท้องถิ่นที่ให้การสนับสนุนมากกว่าการควบคุม ทำให้ครูมีอิสระในการใช้ความสามารถทางวิชาชีพของตัวเอง

อย่างไรก็ดี หลักสูตรใหม่ที่พัฒนาขึ้นต้องสอดรับกับรากฐานการศึกษาของฟินแลนด์ ซึ่งมี 4 ด้าน ได้แก่

1) ความเสมอภาค โรงเรียนทุกแห่งต้องเป็นโรงเรียนที่ดี ใส่ใจคนที่เรียนล้าหลัง และสนับสนุนคนที่เรียนรู้ตามปกติ ดังนั้น ครูต้องมีความสามารถในการตอบสนองต่อความสามารถของเด็กที่แตกต่างกัน 2) สนับสนุนการเงิน หรือไม่มีการเก็บค่าเล่าเรียน

3) ประเมินผลนักเรียน จะไม่มีการจัดอันดับครูหรือนักเรียน แต่เป็นการประเมินผลเพื่อเก็บข้อมูลไปใช้ในการพัฒนาศักยภาพทางการศึกษาเท่านั้น และ 4) หลักการเรียนรู้ตลอดชีวิต ผ่านการเรียนรู้แบบองค์รวม เพื่อให้ผู้เรียนสามารถนำองค์ความรู้ไปใช้ได้ตั้งแต่วัยเด็กถึงผู้ใหญ่

“เป้าหมายของเราคือ ต้องการสร้างโรงเรียนเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ และเน้นการสอนทักษะหลากหลายสาขา ซึ่งตามที่เคยมีข่าวออกมาว่า ฟินแลนด์ไม่มีการสอนเป็นวิชา แท้จริงแล้วเรายังสอนเป็นวิชาอยู่ในบางวิชาที่สำคัญ เพียงแต่แต่ละโรงเรียนต้องจัดทำบทเรียนที่ครอบคลุมหลายสาขาวิชา หรือนำหลายวิชามาสอนร่วมกัน”

นอกจากนั้น เรายังต้องการให้นักเรียนมีส่วนร่วมมากขึ้นในการออกแบบบทเรียน ดังนั้น ทุกคนจะเป็น Active Learner และมีทักษะต่าง ๆ ในการจัดการเรียนรู้ ผลที่ตามมาคือ เกิดความร่วมมือระหว่างครูกับนักเรียน โดยครูจะคำนึงถึงความหลากหลาย และความแตกต่างของเด็กเป็นสำคัญ และสร้างให้เขาสามารถพัฒนาตัวเองได้ต่อไป หลังจากที่เรียนจบจากโรงเรียนแล้ว

“ศ.ดร.อันเนเล นีเอมี” ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า หลักสูตรใหม่จะปลูกฝังให้นักเรียนมีความสามารถใน 7 ด้าน ได้แก่ 1) Thinking and learningto learn มีทักษะในการคิดและการเรียนรู้ สร้างให้เด็กรู้จักการตั้งคำถาม ใช้วิธีการทดลองมากขึ้น และเน้นการมีส่วนร่วม ซึ่งทักษะนี้จะส่งเสริมให้เด็กได้เรียนรู้ไปพร้อมกับครู

2) Cultural competence, Interaction, and self-expression เพราะ 1 ใน 5 ของนักเรียนในโรงเรียนไม่ใช่คนฟินแลนด์ ดังนั้น ครูต้องคำนึงว่าเด็กจะเรียนร่วมกันอย่างไรในความหลากหลาย ขณะเดียวกัน นักเรียนจะได้ตระหนักถึงที่มาที่ไปในวัฒนธรรมของเขา ซึ่งครูต้องสอนนักเรียนว่า ความหลากหลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตที่พวกเขาสามารถเรียนรู้ และอยู่ด้วยกันเป็นกลุ่มได้

3) Taking care of oneself and others ; managing daily life ส่วนใหญ่แล้วมักมีคำถามจากนักเรียนว่า เขาจะไปโรงเรียนอย่างไร หรืถามถึงวิธีการเข้าห้องน้ำ ตลอดจนเรื่องอื่น ๆ ซึ่งอาจดูเหมือนเป็นคำถามธรรมดา แต่คำถามที่เกี่ยวกับชีวิตประจำวันเหล่านี้มีความสำคัญกับครู

“เพราะเรามองว่าความต้องการรู้ของเด็กในเรื่องต่าง ๆ เป็นสิ่งที่พวกเขาต้องนำมาใช้ในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว หากพวกเขามีข้อมูลที่ถูกต้องจะสามารถดูแลตัวเองและคนอื่นได้ นอกจากนี้ เราจะสอดแทรกวิชาต่าง ๆ ที่เป็นทักษะเข้าไปในการเรียน อย่างศิลปะ กีฬา หัตถกรรม เทคโนโลยี และคหกรรม”

4) Multiliteracy เน้นความสามารถในการอ่านและเขียนได้หลายภาษา ซึ่งทักษะนี้จะทำให้เด็กเข้าใจแหล่งข้อมูล และตีความข้อมูลเหล่านั้นได้ โดยครูจะช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าพวกเขามีข้อมูลสารสนเทศหลากหลายอยู่รอบตัว ดังนั้น จะต้องทำความเข้าใจต่อข้อมูลต่าง ๆ ว่าเป็นอย่างไร แล้วอะไรเป็นเรื่องสำคัญ

5) Competence in Information and Communication Technology (ICT) โรงเรียนจะบูรณาการไอซีทีเข้าไปในสาขาวิชาต่าง ๆ ยกตัวอย่างเรื่องจริยธรรมในการใช้ไอซีที การโต้ตอบ และการสร้างปฏิสัมพันธ์ โดยไอซีทียังเป็นเครื่องมือสำคัญในการเรียนรู้ของเด็กทั้งการเรียนเดี่ยวและการเรียนเป็นกลุ่ม

6) Working life competence and entrepreneurship นักเรียนได้เรียนรู้ว่าวิชาต่าง ๆ มีบทบาทอย่างไรในการทำงาน ทั้งยังมีการกำหนดให้นักเรียนบางระดับชั้นไปร่วมทำงานกับผู้ใหญ่ด้วย ซึ่งการให้ข้อมูล และการเปิดโอกาสให้เด็กสัมผัสกับประสบการณ์จริง จะทำให้เขารู้ว่าเส้นทางการทำงาน และทางเลือกของชีวิตจะเป็นอย่างไร

7) Participation, Involvement and building a sustainable future ครูจะส่งเสริมให้เด็กเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างความยั่งยืน ทั้งเรื่องที่เกี่ยวกับตนเอง และผู้อื่น รวมถึงการให้ความสำคัญกับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม

โดยทักษะและความสามารถทั้งหมดนี้ จะช่วยหล่อหลอมให้เด็กประเทศฟินแลนด์เติบโตเป็นผู้ที่เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคต