ศธ.เพิ่มมาตรการป้องกันโควิดใน ร.ร. หลังพบเด็กติดเชื้อหลังเปิดเทอม

ตรีนุช เทียนทอง

ศธ.เพิ่มมาตรการป้องกันโควิดใน ร.ร. หลังพบเด็กติดเชื้อโควิด-19 หลังเปิดเทอม ย้ำถ้าพบเด็กติดเชื้อ ต้องหยุดสอนแบบ On-site ทันที พร้อมกับตั้งไตรภาคีทีมย่อย ลงสแกนสถานศึกษาในพื้นที่ หาช่องโหว่

วันที่ 23 มิถุนายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ สั่งเพิ่มความเข้มงวดเรื่องมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) ในสถานศึกษา โดยให้ปฏิบัติตามมาตรการคัดกรองของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อย่างเคร่งครัด หลังพบว่าเมื่อเข้าสู่สัปดาห์ที่ 2 ของการเปิดเรียนแบบเรียนที่สถานศึกษา (On-site) มีนักเรียนติดเชื้อ

รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า หลังจากเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายนที่ผ่านมา ตนได้ติดตามการจัดการเรียนการสอนของสถานศึกษาทั่วประเทศ และพบว่าเมื่อเข้าสู่สัปดาห์ที่ 2 การเปิดเรียนแบบ On-site จำเป็นต้องเพิ่มความเข้มงวดเรื่องมาตรการความปลอดภัย การปฏิบัติตามมาตรการคัดกรองของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เช่น เคร่งครัดให้เด็กสวมใส่หน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่าง ฯลฯ

“เพื่อเป็นการสกัดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ในสถานศึกษา ดิฉันจึงออกนโยบายเร่งด่วนให้หน่วยงานที่มีสถานศึกษาในสังกัด ทั้งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) และสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) เข้มข้นเรื่องการตรวจสอบมาตรการรักษาความปลอดภัยของสถานศึกษาทุกแห่งทั่วประเทศ ทั้งของรัฐและเอกชน ว่าได้ปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (ศบค.) และกระทรวงสาธารณสุขหรือไม่”

นอกจากนั้น ยังได้มอบหมายให้คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ทุกจังหวัด ตั้งคณะกรรมการไตรภาคี ซึ่งกรรมการประกอบด้วยผู้แทนจากกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข และผู้ปกครอง ขึ้นมาทำหน้าที่ตรวจสอบมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยของสถานศึกษา จัดให้มีการนิเทศตรวจติดตามทุกแห่งเป็นประจำ และจะมีการตั้งคณะกรรมการชุดย่อยจำนวนหลายคณะ ซึ่งเป็นตัวแทนของไตรภาคีในพื้นที่ ลงสแกนสถานศึกษาในพื้นที่ของตนเอง เพื่อตรวจสอบหาช่องโหว่ และปรับปรุงพัฒนาอุดรอยรั่วในส่วนนั้น รวมถึงเฝ้าระวังไม่ให้เกิดความหย่อนยานเรื่องมาตรการความปลอดภัย

“ดิฉันมั่นใจว่า การที่มีคณะกรรมการชุดย่อย ซึ่งเป็นคนในพื้นที่จำนวนหลายชุด จะทำให้สามารถสแกนสถานศึกษาทุกแห่งแล้วเสร็จโดยเร็ว และได้ข้อมูลจริง สามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด และรวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้มั่นใจว่าสถานศึกษาเป็นพื้นที่ปลอดภัยจากโควิด-19”

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวด้วยว่า หากสถานศึกษาแห่งใดไม่เป็นไปตามมาตรการ ให้เร่งปรับปรุงทันที และหากทำไม่ได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ต้องหยุดเรียนแบบ On-site แล้วเลือกใช้รูปแบบอื่นในการจัดการเรียนการสอนแทน เพื่อปรับปรุงในส่วนของสถานศึกษาให้ได้ตามมาตรฐานตัวชี้วัดที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ เพื่อความความปลอดภัยสูงสุดของนักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษา ตลอดจนผู้ปกครอง และประชาชนทุกคน

“ในกรณีที่มีนักเรียนในโรงเรียนนั้น ๆ ติดเชื้อเพียงคนเดียว หรือในชุมชนที่เป็นเขตบริการมีชาวบ้านติดเชื้อ ให้สถานศึกษาขอความเห็นชอบกรรมการโรคติดต่อจังหวัดปิดเรียนแบบ On-site เพื่อทำความสะอาด แล้วเลือกใช้การจัดการเรียนการสอนในรูปแบบอื่นในระหว่างที่ปิดสถานศึกษา เช่น การเรียนผ่านอินเทอร์เน็ต (Online) หรือการเรียนแบบจัดส่งหนังสือ แบบเรียน แบบฝึกหัด หรือใบงานให้นักเรียนทำที่บ้าน (On-hand) เป็นต้น”

ทั้งนี้ รมว.ศึกษาธิการ ได้มอบหมายให้ ดร.สุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และคณะผู้บริหาร ศธ.กำหนดรายละเอียดของโครงสร้าง องค์ประกอบ และอำนาจหน้าที่พร้อมแนวปฏิบัติที่ชัดเจนของคณะกรรมการไตรภาคี เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า นับตั้งแต่เปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 ไปเมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2564 มีโรงเรียนบางแห่งทยอยปิดสถานศึกษา และปรับเปลี่ยนจากการทำการเรียนการสอนที่โรงเรียนมาเป็นแบบ Online เนื่องจากยังไม่มั่นใจในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เริ่มขยายตัวเป็นวงกว้างและมีแนวโน้มสูงขึ้น เช่น

วันนี้ “โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย” ประกาศปิดการเรียนการสอนในสถานศึกษาตั้งแต่ 23 มิ.ย.-2 ก.ค. 2564 เป็นระยะเวลา 10 วัน ไปเป็นการเรียนการสอนเป็นรูปแบบออนไลน์

ขณะที่ “โรงเรียนนครสวรรค์” ประกาศไม่ให้นักเรียนมาเรียนที่โรงเรียน เพราะจากการสำรวจความคิดเห็นของนักเรียน ผู้ปกครอง ครู และบุคลากร ส่วนใหญ่ต้องการให้จัดการเรียนการสอน 2 แบบ คือ Online การเรียนการสอนแบบถ่ายทอดสด (live) ระหว่างครู-นักเรียน และ On-demand คือ แบบสื่อผสมในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ เช่น รับชมวิดีโอการสอนย้อนหลัง หรือศึกษาใบความรู้การจัดทำใบงานผ่าน Google Classroom หรือแอปพลิเคชั่นอื่น ๆ โดยจะใช้การเรียนการสอนทั้ง 2 รูปแบบ ต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 9 ก.ค. 2564 เพื่อความปลอดภัยของทุกคน

และจังหวัดเพชรบูรณ์ มีคำสั่งงดจัดการเรียนการสอนแบบ On-site ในสถานศึกษาทุกแห่ง ให้ใช้รูปแบบอื่นตามความเหมาะสม ตั้งแต่วันที่ 21-30 มิ.ย. 2564